21 ก.ย. 2019 เวลา 11:21
5 ปีผ่านไป ตลาดหุ้นไทยไปไกลแค่ไหน
ถ้าเราลงทุนในตลาดหุ้นไทยมาตั้งแต่ปี 2014 มาถึงวันนี้ แทบไม่น่าเชื่อว่าเราจะได้ผลตอบแทนประมาณ 2.3% ในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา
26 กันยายน 2014 ดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดไปที่ 1,600 จุด
20 กันยายน 2019 ดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดไปที่ 1,636 จุด
ทำไมที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยแทบไม่ค่อยไปไหน เดี๋ยวเราลองมาหาคำตอบกัน
หนึ่งในเหตุผลหลักก็คือ แนวโน้มผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไทยที่อาจลดลงในอนาคต
ก่อนอื่นลองมาดูผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยในช่วงที่ผ่านมา
ปี 2016 รายได้ 10.2 ล้านล้านบาท กำไร 903,973 ล้านบาท
ปี 2017 รายได้ 11.2 ล้านล้านบาท กำไร 990,767 ล้านบาท
ปี 2018 รายได้ 11.9 ล้านล้านบาท กำไร 931,163 ล้านบาท
แม้ว่าปีล่าสุด รายได้รวมของบริษัทจดทะเบียนจะเพิ่มขึ้นประมาณ 6% แต่กำไรกลับลดลง 6% สวนทางกลับรายได้
ที่น่าสนใจคือ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2019 รายได้รวมของบริษัทจดทะเบียนเท่ากับ 5.5 ล้านล้านบาท ขณะที่กำไรเท่ากับ 373,000 ล้านบาท
หมายความว่าทั้งปี มีโอกาสที่ทั้งรายได้และกำไรจะลดลงจากปีที่แล้ว
ปัจจุบัน P/E ตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ 18.65 เท่า ขณะที่ค่าเฉลี่ย P/E ตั้งแต่มีการเก็บสถิติมาในปี 1988 อยู่ที่ 14.85 เท่า
และถ้ากำไรของบริษัทจดทะเบียนไทยมีแนวโน้มลดลง ก็จะทำให้ค่า P/E ในอนาคตเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ความน่าสนใจที่จะลงทุนในตลาดหุ้นไทยนั้นลดน้อยลงไปอีก
เหตุผลสำคัญคือ เศรษฐกิจของไทยที่ดูเหมือนจะเริ่มโตช้าลงในช่วงประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา
ปี 1990 – 2000 GDP ของประเทศเติบโตเฉลี่ยปีละ 5.2%
ปี 2001 – 2010 GDP ของประเทศเติบโตเฉลี่ยปีละ 4.6%
ปี 2011 – 2018 GDP ของประเทศเติบโตเฉลี่ยปีละ 3.3%
บางคนอาจบอกว่า เรื่องนี้เป็นผลมาจากเศรษฐกิจภายนอก ซึ่งส่งผลต่อการเติบโตต่อเศรษฐกิจของไทย นั่นอาจเป็นส่วนหนึ่ง
เพราะประเทศไทยค่อนข้างพึ่งพาการเติบโตของเศรษฐกิจโลกพอควร เนื่องจากไทยมีสัดส่วนการส่งออกประมาณ 50% ของ GDP
หมายความว่า ถ้าการส่งออกเราได้รับผลกระทบทั้งจากเงินบาทที่แข็งค่า และเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว เศรษฐกิจของไทยจะได้รับผลกระทบไปด้วย
อย่างไรก็ตาม เราต้องยอมรับว่า แม้จะมีผลจากปัจจัยภายนอกมากระทบ แต่เศรษฐกิจของบางประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านเราที่ GDP ยังสามารถเติบโตได้ในระดับ 6-7%
สิ่งที่น่าเป็นห่วงโดยเฉพาะในระยะยาวคือ สัดส่วนของจำนวนประชากรไทยที่เป็นผู้สูงอายุซึ่งกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ในปี 2005 ประเทศไทยมีจำนวนประชากรที่เป็นผู้สูงอายุประมาณ 6 ล้านคน คิดเป็น 10% ของจำนวนประชากรทั้งหมด
ขณะที่ในปี 2021 คาดกันว่า จำนวนผู้สูงอายุจะมี 20% ของประชากรทั้งหมด ทำให้ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์
ที่น่าสนใจคือ ในปี 2031 สัดส่วนจำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มถึง 28% ของประชากรทั้งหมด ทำให้ประเทศไทยจะเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด
ประเทศที่มีประชากรผู้สูงอายุเยอะ โอกาสที่เศรษฐกิจของประเทศจะเติบโตนั้นน้อย เนื่องจากการลงทุนและการบริโภคในประเทศที่ลดลง
เมื่อเป็นแบบนี้ ทำให้ในมุมมองของนักลงทุนอาจมองว่า ความน่าสนใจของตลาดหุ้นไทยในระยะยาวอาจลดลงไปด้วย
ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดี ที่บอกเราว่าเมื่อประชากรในประเทศเริ่มแก่ตัวลง จนทำให้สัดส่วนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้น เศรษฐกิจของญี่ปุ่นจึงเติบโตช้าลงอย่างต่อเนื่อง
ปี 1988 เป็นปีที่ GDP ของญี่ปุ่นเติบโตในระดับที่ 6.8% และนับแต่นั้น GDP ของญี่ปุ่นไม่เคยเติบโตในระดับนั้นอีกเลย
ล่าสุดในปี 2018 GDP ของญี่ปุ่นก็เติบโตเพียง 0.7% เท่านั้น
ที่น่าสนใจคือ ดัชนีตลาดหุ้นนิเคอิของญี่ปุ่นเคยขึ้นไปสูงสุดถึง 38,915 จุดในปี 1989 และนั่นคือจุดสูงสุดในรอบ 30 ปี นับแต่นั้นเป็นต้นมา
พูดง่ายๆ ว่าคนที่ลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นระยะยาวตั้งแต่ปี 1989 โดยเฉลี่ยยังขาดทุนอยู่นั่นเอง
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าคิดว่า แล้วในอนาคตตลาดหุ้นไทยจะเป็นแบบญี่ปุ่นหรือไม่ และถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริง เราในฐานะนักลงทุนจะทำอย่างไรต่อไป
>>> <<<
กดติดตามบทความที่น่าสนใจของเพจบล็อกเกอร์แมน พร้อมทั้งสามารถติดตามบทความย้อนหลังทั้งหมดได้ที่
>>> <<<
References
-World Bank:Thailand/GDP growth rate
โฆษณา