24 ก.ย. 2019 เวลา 03:30 • ประวัติศาสตร์
อาณาจักรสหพัฒนพิบูล ตอนที่ 3
เรียนรู้ เร็ว-ช้า-หนัก- เบา
ในช่วงปี 2470 เป็นต้นมา เศรษฐกิจของโลกประสบวิกฤตอย่างร้ายแรง จากนั้นค่อยๆส่งผลกระทบลุกลามมาประเทศไทยหนักมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ
แม้กระทั่งในสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศใหญ่ มีความเจริญและความมั่งคั่ง รัฐบาลของเขาต้องตัดสินใจนำสินค้าที่ล้นตลาดเพราะประชาชนขาดกำลังซื้อไปเผาไฟและทิ้งทะเล เพื่อช่วยเหลือชาวไร่ชาวนา
ในสมัยรัชกาลที่ 7 รัฐบาลประสบปัญหาทางการคลังจนถึงกับต้องตัดงบประมาณ และให้ข้าราชการออกเป็นจำนวนมากดังที่เรียกกันในสมัยนั้นว่า “ถูกดุล”
ในปี 2474 คุณเทียมอายุ 15 ปี เป็นช่วงวิกฤตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยเขาต้องออกจากโรงเรียนมาช่วยคุณพ่อค้าขายในภาวะที่ตลาดซบเซา ต้องทำงานทุกอย่าง ตั้งแต่เป็นกุลี เป็นจับกัง เป็นพนักงานขาย
คุณเทียมกล่าวว่า “เราเป็นคนมีความรู้น้อย เราต้องไม่เกี่ยงงานในทุกหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย”
“เราไม่มีพื้นฐาน เราจะต้องไม่ย่อท้อ”
เขาทำงานไม่เคยมีวันหยุด มุมานะทำงานหนัก ตรากตรำอยู่กับงาน และครุ่นคิดเสมือนเป็นการเตือนใจของตนว่า
“วันนี้ทำงานเต็มที่หรือยัง ถ้ายังก็จะต้องทำเพิ่มเติม”
วันเวลาที่ผ่านไปประสบการณ์ของชีวิต งานอันหนักหน่วงกลับกลายเป็นบำเหน็จรางวัลสำหรับเขา เป็นสมบัติที่มิอาจมีใครสามารถแย่งชิงเอาไปได้อย่างเด็ดขาด
มีครั้งหนึ่งคุณเทียมเคยขอเงินคุณพ่อเพื่อจะซื้ออุปกรณ์เขียนรูป
5
"จะเขียนรูปไปทำไม การจะเขียนรูปไม่สามารถทำให้ท้องอิ่มได้”
เป็นบทสรุปอันรวบรัดของคุณพ่อของเขา
ทุกครั้งที่เพื่อนๆ ชวนไปเล่นกีฬา วิ่งเล่น เมื่อเขาไปขออนุญาตคุณพ่อ คำตอบที่ได้รับคือ
1
“ถ้าอยากออกกำลังกายในโกดังของเรามีนมกระป๋องและแป้งหมี่อยู่เป็นจำนวนมาก ไปออกแรงขนนมและแป้งหมี่จะดีกว่า ได้ออกกำลังกายแล้วยังไม่ต้องเสียเงินเสียทองด้วย”
“คนเราถ้ามีร่างกายแข็งแรงก็ไม่กลัวอดตาย ดูสิ คนแข็งแรงอย่างลูกถึงยังไงก็สามารถทำงานเป็นกุลีได้ ได้เงินค่าจ้างถึง 22 บาทต่อเดือนนะ”
ไขว่คว้าหาความรู้
ในช่วงเวลากลางวันเขาทำงานช่วยคุณพ่อที่ร้านเสร็จ กลางคืนไปเรียนหนังสือ เป็นการเรียนแบบกวดวิชาที่โรงเรียนอึ้งฮุน ในหลักสูตรวิชาชีพครู ซึ่งถือว่าเป็นการศึกษาสูงสุดของโรงเรียนจีนในสมัยนั้น โดยมีเพื่อนคนหนึ่งเรียนอยู่ชั้นเดียวกัน ชื่อ ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ หรือที่ใครๆเรียกกันว่า โค้วตงหมง
คุณครูได้สอนหลักการสำคัญในการทำงาน และในการดำเนินชีวิต ถือว่าเป็นบทเรียนที่มีคุณค่าอย่างสูงในระยะต่อมาของชีวิต
ท่านสอนว่า ในการทำงานแต่ละอย่าง ไม่ว่างานนั้นๆ จะมีความสำคัญมากน้อยเพียงใด ก่อนลงมือทำจะต้องคิดพิจารณาและคำนึงถึงหลัก 4 ประการ
1.งานนั้นจะสามารถทำให้สำเร็จลุล่วงไปภายในเวลาอันรวด เร็ว ได้หรือไม่ งานบางอย่างเป็นงาน ที่รอช้าไม่ได้ ต้องรีบทำ เหมือนกับสุภาษิตที่ว่า “น้ำขึ้นให้รีบตัก” ต้องตัดสินใจเร็ว แก้ไขเร็ว ทำให้จบเร็ว ไม่เช่นนั้นปัญหาที่มีอยู่อาจลุกลามไปใหญ่โตกว้างขวางหรือโอกาสที่มีอยู่อาจสูญเสียไป
2.งานนั้นถ้าทำแล้วจะเสร็จ ช้า นานเวลาใด งานบางอย่างเป็นงานที่ผลีผลามใจร้อนไม่ได้ก็ไม่ควรจะรีบร้อน ต้องใช้เวลาในการแก้ไข พิจารณาอย่างรอบคอบ ค่อยเป็นค่อยไป จะได้ไม่ผิดพลาดบกพร่อง
3.งานนั้นเป็นงานที่ หนัก หรือไม่ งานบางอย่างถ้าจะทำแล้วต้องโหมหนักเอาจริงเอาจังเพราะมีการแข่งขันสูง อาจจำเป็นต้องต่อสู้อย่างรุนแรง นี่คือสิ่งที่ต้องทำอย่างหนักหน่วง
4.งานนั้นเป็นงานที่ เบาหรือไม่ งานบางอย่างบางเวลาจะโหมเลยทันทีก็ไม่ได้ ที่เคยทำหนักอาจต้องผ่อนลงมา เพราะถ้าทุ่มเทเกินไปก็เสียเวลาและไม่ได้ประโยชน์ งานอย่างนี้ก็ต้องทุ่มเทแต่พอควร
ฝากติดตาม อาณาจักรสหพัฒนพิบูล ตอนที่ 4
โฆษณา