30 ก.ย. 2019 เวลา 07:35 • ปรัชญา
หากมีใครถามท่านว่า ท่านต้องการอะไรมากที่สุดในชีวิต?
ท่านจะตอบว่าอย่างไร
คาดได้ว่าคำตอบคงมีต่างๆกัน แต่แน่ใจว่า คำตอบส่วนใหญ่คือ ต้องการความสุข (แม้บางคนจะตอบว่า ต้องการความมั่นคั่ง ความสำเร็จ ความมีชื่อเสียง ฯลฯ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เพราะสิ่งเหล่านั้นนำมาซึ่งความสุขนั่นเอง)
การที่ความสุขนั้นเป็นสุดยอดแห่งความปรารถนาของมนุษย์นั้น เพราะชีวิตทั้งหลายเกิดมาย่อมมีความทุกข์ในรูปแบบต่างๆ แต่สรุปแล้วก็คือทุกข์ทางกาย และทางจิตใจ
ทุกข์ทางใจที่จะเกิดกับทุกคน ก็คือ การต้องพลัดพลากจากคนและสิ่งของอันเป็นที่รักที่พอใจ การประสบกับสิ่งที่ไม่รักไม่พอใจ ความผิดหวังจากการไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ ซึ่งทำให้เกิดความทุกข์ ความเศร้าเสียใจ ความคับแค้นใจ เป็นต้น
ส่วนความทุกข์ทางกาย ก็คือ ความหิวกระหาย ความเจ็บป่วย ความไม่สะดวกสบายต่างๆ จึงต้องแสวงหาปัจจัย4 มาสนองความต้องการทางกาย
ถ้าเพียงแต่ตอบสนองความต้องการหรือแก้ทุกข์ทางกายล้วนๆเท่านั้น ชีวิตก็จะไม่ยุ่งยากมากมายนัก
แต่เนื่องจากมนุษย์มีความต้องการทางจิตใจ ที่ซับซ้อนกว่าสัตว์ คือต้องการความมีหน้ามีตา ต้องการความยอมรับ ความอบอุ่นมั่นคงทางจิตใจ ต้องการความสุขความสำเร็จต่างๆ จึงต้องแสวงหาสิ่งต่างๆ มา สนอง บำรุงบำเรอจิตใจนอกเหนือจากความต้องการที่จำเป็นทางกาย
ทำให้เกิดความทุกข์ในการแสวงหา ที่ต้องใช้ความพยายามที่มีการแก่งแย่ง แข่งขัน ต้องมีการฝึกฝนตนเองเพื่อการเรียนรู้และทำงาน ยิ่งในปัจจุบันที่โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ยิ่งก่อให้เกิดความกังวลและเกิดปัญหาทั้งในการทำงานและการดำเนินชีวิตมากขึ้น
ความไม่มั่นใจในความมั่นคงของชีวิตในปัจจุบัน และความกังวลใจในอนาคตที่ไม่แน่นอนเหล่านี้ นับเป็นปัญหาใหญ่ที่กำลังเกิดมากขึ้น จะเห็นได้จากสถิติโรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายนับวันจะสูงยิ่งขึ้น พร้อมๆกับการเพิ่มขึ้นในการแสวงหาความสุขปลอมๆชั่วคราว จากการใช้สารเสพติด ความบันเทิงในรูปแบบต่างๆ และการบริโภคสิ่งต่างๆที่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย(ที่เน้นในรสชาติมากกว่าประโยชน์ที่คุ้มค่าอย่างที่ควร)
ด้วยเหตุที่เราไม่เข้าใจ ไม่รู้จักความสุขที่แท้จริงนี่เอง ทำให้เกิดการแสวงหาอย่างผิดๆ แทนที่จะมีความสุขกลับเกิดความทุกข์มากขึ้น (หรือแม้จะมีความสุขแต่ก็เป็นความสุขเพียงชั่วคราว)
ความสุขที่แท้จริงนั้น คือความสุขที่ไม่ก่อให้เกิดความทุกข์ตามมา
ซึ่งไม่มีความสุขใดยิ่งกว่านิพพาน
ดังพุทธพจน์ที่ว่า 'นิพพานัง ปรมัง สุขัง'
ในวันนี้จึงใคร่นำเรื่อง 'นิพพาน' อันเป็นเป้าหมายแห่งการปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนา มาเสนอเพื่อผู้สนใจในความสุขที่แท้ หรืออยากพันทุกข์อย่างเด็ดขาด ชนิดที่ไม่เวียนวนกับการ หาสุขแล้วมีทุกข์ตามมา เป็นผลผลอยเสีย คอยตามแก้ตามสนองไม่รู้จบ
แต่เนื่องจากเรื่องนิพพานนี้ ชาวพุทธเรามักจะถูกสั่งสอนให้เห็นเป็นของสูงไกลเกินเอื้อม ต้องบำเพ็ญบุญบารมีกันนานแสนนานจนเกิดความท้อใจและไม่สนใจ ที่จะปฏิบัติเพื่อให้ได้ผลในปัจจุบัน หากเราวิเคราะห์ตามคำนิยามว่า นิพพานคือการดับทุกข์ หรือความสุขสงบที่ไม่เจือด้วยกิเลส นิพพานก็ไม่ต้องไปแสวงหา แต่เป็นการขจัดกิเลสคือความอยาก ที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ต่างหาก
นิพพานคืออะไร อยู่ที่ไหนใครรู้บ้าง
นิพพานคือปลายทาง จุดมุ่งหมายประพฤติธรรม
นิพพานมิใช่เมือง หรือวิมานในความฝัน
นิพพานมิใช่สวรรค์ หรือถิ่นฐานสถานใด
นิพพานไปถึงได้ ไปด้วยใจไม่ใช่กาย
ไม่ต้องใช้เงินจ่าย ไม่ต้องใช้วัตถุใด
นิพพานคือสิ้นทุกข์ หยุดการเกิดการเวียนว่าย
ในวัฏฎสงสารอันยาวไกล พันโลกียวิสัยพ้นทุกข์เอย
การจะปฏิบัติตนเพื่อบรรลุนิพพาน คือความสุขสงบ ปราศจากความทุกข์เดือดร้อนทางจิตใจนั้น จะต้องเข้าใจในหลักธรรมของอริยสัจ4 คือ
1 เข้าใจและเห็นความทุกข์อย่างชัดเจน
2 รู้เหตุแห่งทุกข์คือตัณหาซึ่งต้องขจัดหรือลดละลงไป
3 เข้าใจสภาวะนิพพาน(นิโรธ)หรือการดับทุกข์ อันเป็นผลที่เกิดจาก
4 การปฏิบัติตามมรรค ๘ ดังแผนผังต่อไปนี้
หากต้องการความสุขแท้ จงอย่าแพ้กิเลสมาร
จงเดินข้ามพันผ่าน สะพานแห่งมรรคแปดเอย
#อาภาถนัดช่าง
โฆษณา