3 ต.ค. 2019 เวลา 14:18 • บันเทิง
BRIEF: ไม่ได้อยากถาม แต่แค่อยากรู้..
ชวนไปรู้จักประวัติศาสตร์และที่เป็นมาของ ‘ไซเรน’
ไซเรน เสียงสัญญาณเตือนที่ถูกพูดถึงกันในช่วงนี้ ทั้งจากเพลงฮิตติดชาร์ตอย่าง รักติดไซเรน หรือซีรีย์ชื่อดัง รักฉุดใจนายฉุกเฉิน (My Ambulance) เราเลยอยากจะชวนทุกคนมาย้อนดูที่มาที่ไปของ ไซเรน สัญญาณเตือนภัยยอดฮิตกันดีกว่า
แม้ไซเรนที่เราพูดถึงในปัจจุบันจะหมายถึง เสียงสัญญาณเตือนภัย หรือขอทาง แต่ถ้าว่ากันตามตำนานกรีกแล้ว ไซเรน คือ หญิงสาวครึ่งปลา คล้ายนางเงือก บางตำราก็ว่าหัวเป็นนก ตัวเป็นคน แต่สิ่งที่ไม่ว่าตำนานฉบับไหนก็ร่ำลือเหมือนกันก็คือ เสียงของไซเรนที่เพราะพริ้ง จนล่อลวงนักเดินเรือทั้งหลายให้เข้าไปหา และถูกจับกิน
แต่ไซเรนที่เป็นสัญญาณเตือน มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ยุคกลาง ที่ผู้คนจะใช้การลั่นระฆัง เพื่อเตือนถึงภัยพิบัติ การจราจล หรือการบุกรุกของศัตรู และในช่วงศตวรรษที่ 18 มีการพยายามสร้างไซเรนหลายรูปแบบ เช่น การทำไซเรนของ จอห์น โรบินสัน นักประดิษฐ์ชาวสกอตแลนด์ที่นำมาใช้ในเครื่องดนตรีประกอบ หรือการทำสัญญาณเตือนไฟไหม้แบบคราฟต์ๆ ด้วยวิธีแขวนของหนักๆ ไว้บนเชือก เมื่อไฟไหม้ไปถึงเชือก ของที่แขวนอยู่ก็จะตกลงมากระทบกับกระดิ่งเตือนภัย
จนเมื่อศตวรรษที่ 20 ไซเรนก็พัฒนารุดหน้าอย่างรวดเร็ว เพราะสงครามโลกทั้งสองครั้ง จากไซเรนแบบคราฟต์ กลายมาเป็นไซเรนแบบกลไฟฟ้า และพัฒนาต่อมาเป็นไซเรนแบบไฟฟ้าที่ถูกใช้กันอย่างแพร่หลาย ทั้งเป็นสัญญาณเตือนภัยตามอาคาร หรือสัญญาณเตือนภัยเคลื่อนที่ที่ติดไปกับรถฉุกเฉิน
ตามพระราชบัญญัติการจราจรทางบกมาตรา 75 ระบุว่า ผู้ขับขี่รถฉุกเฉิน มีสิทธิจอดหรือหยุดรถในที่ห้ามจอด หรือ ขับรถเกินอัตรากำหนดได้ ไซเรนมักมาพร้อมกับไฟวับแวบหลายสี ทั้งสีแดง ที่ใช้ในราชการทหาร ตำรวจ รถดับเพลิงและรถในราชการอื่นๆ
ส่วนสีแดงและสีน้ำเงิน ใช้ในรถบริการการแพทย์ฉุกเฉินที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากกระทรวงสาธารณสุข สีน้ำเงิน คือรถพยาบาลอื่นๆ นอกจากรถบริการการแพทย์ฉุกเฉิน และสีเหลือง ใช้สำหรับรถอื่นๆ ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้เท่านั้น แต่ไม่ว่าจะสีไหนๆ ก็หมายถึงการขอทาง ความฉุกเฉิน และเร่งด่วนกันทั้งนั้น
ขอบคุณข้อมูลจาก
เพจ: TheMATTER
ภาพ:อินเตอร์เน็ต
โฆษณา