6 ต.ค. 2019 เวลา 09:49 • ความคิดเห็น
🇺🇸 ตลาดแรงงาน ยังคงเป็นจุดแข็งของสหรัฐฯ
ทุกครั้งที่มีการประชุมธนาคารกลางของสหรัฐฯ (Fed) เราจะได้ยิน นายเจอโรม พาวเวล พูดด้วยความภูมิใจว่า ตลาดแรงงานสหรัฐฯปัจจุบันยังแข็งแกร่งเป็นพระเอกหนุนการบริโภคภายในประเทศ ถึงแม้ว่าการค้าโลกจะชะลอตัวลงก็ตาม
ที่มา : Bloomberg
ซึ่งก็จริงอย่างที่เขาได้กล่าวไว้ เพราะตัวเลขอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ หรือ Unemployment Rate เดือน ก.ย. ประกาศเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ออกมาดีกว่าคาดมาก ปรับตัวลดลงเหลือ 3.5% จากเดือนก่อนที่ 3.7%
หมายความว่าการจ้างงานของสหรัฐฯยังอยู่ในระดับสูง ทำให้คนตกงานหรือว่างงานลดลงประเด็นก็คือ 3.5% ที่ประกาศออกมา ถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 50 ปีเลยทีเดียว นับตั้งแต่ปี 1969
หลังจากตัวเลขอัตราการว่างงานประกาศออกมา ตลาดที่เคยปรับตัวลงมาเมื่อต้นสัปดาห์ รีบาวด์กลับขึ้นมาที่เดิมทันที จนลืมไปเลยว่าดัชนีดาวโจนส์พึ่งร่วงติดต่อกัน 3 วัน ดัชนีลงไปร่วมๆ 1,100 จุด
ที่มา : Charliebilello
สาเหตุที่ตลาดดิ่งลงแรงเมื่อต้นสัปดาห์ก็มาจาก ISM Manufacturing PMI เดือน ก.ย. ที่ประกาศออกมาเหลือแค่ 47.8 จุด หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่สองติดต่อกัน
ยังไม่นับ Non Manufacturing PMI ที่หมายถึงภาคการบริการประกาศออกมาจาก 56.4 ในเดือน ส.ค. ไปเป็น 52.6 ในเดือน ก.ย.ต่ำกว่าคาดแบบเซอร์ไพรส์ ถึงแม้ว่ายังไม่ต่ำกว่าระดับ 50 (เกณฑ์หดตัว) ก็ตาม
กลับมาดูที่ความสัมพันธ์ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ S&P500 และ Unemployment Rate ...จากการศึกษาย้อนหลังไป 2 วิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2000 และ 2008 ผมพบจุดที่เหมือนกันคือ
ก่อนที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ หรือ เกิด Recession ตัวเลขอัตราการว่างงานมักจะทำระดับต่ำสุด แสดงถึงวงจรเศรษฐกิจเข้าสู่ช่วงที่เติบโตเต็มที่ หรือพีคสุดของรอบ
ที่มา : Bloomberg
พูดง่ายๆก็คือ เศรษฐกิจในประเทศอยู่ในช่วงการจ้างงานเติบโตเต็มที่ มีค่าจ้างอยู่ในระดับสูง จนไม่สามารถโตไปได้มากกว่านี้ และมีโอกาสที่จะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ก่อนที่จะเริ่มเข้าสู่ช่วงถดถอยในระยะถัดไป
และถ้าลองสังเกตดีๆจะพบว่า ทุกครั้งที่กำลังจะเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจ ตัวเลขอัตราการว่างงานมักจะเร่งตัวขึ้นสูงอย่างรวดเร็วจนเราตั้งตัวไม่ทัน รู้อีกทีคนก็ตกงานเป็นจำนวนมากแล้ว พร้อมกับข่าวตามสื่อต่างๆว่าเรากำลังเผชิญกับวิกฤตทางเศรษฐกิจ
ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่าอัตราการว่างงานเป็น Lagging indicator หรือ ดัชนีคล้อยตามเศรษฐกิจ คือผลของเศรษฐกิจเริ่มเกิดขึ้นแล้ว ตัวเลขนี้ถึงสะท้อนออกมา
ตัวอย่างง่ายๆ เช่น เวลาเราจะจ้างคนมาทำงานเพิ่ม เราต้องมั่นใจว่าเศรษฐกิจข้างหน้าจะต้องดี ธุรกิจมียอดขายเพิ่มขึ้น ถึงจะจ้างคนเพิ่ม ตรงกันข้ามเวลาเราจะปลดพนักงานหรือลดคนออก คงไม่มีใครลดคนออกทั้งๆที่ยอดขายและเศรษฐกิจยังไปได้ดีอยู่ แต่เราจะเลิกจ้างก็ต่อเมื่อเราเริ่มรู้แล้วว่ายอดขายเราตก และรับรู้จากสื่อต่างๆว่าเศรษฐกิจเริ่มอยู่ในช่วงขาลง
วงจรเศรษฐกิจ : corporate finance institute
ปัญหาก็คือ กว่าเราจะรู้ตัวและเริ่มปลดพนักงานออกเราก็อยู่ในวิกฤติเศรษฐกิจไปเรียบร้อยแล้ว เพียงแต่ก่อนหน้านั้นผลของวิกฤตมันยังไม่สะท้อนออกมาให้เราเห็นอย่างชัดเจน
จะไม่เหมือนอย่างตัวเลข PMI ภาคการผลิตและบริการ , Inverted yield curve ที่ตลาดชอบพูดถึงกันบ่อยๆ เพราะสามารถใช้ชี้นำภาวะเศรษฐกิจที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ เราเรียกพวกนี้ว่า Leading indicator
เขียนมาถึงตรงนี้ สรุปก็ยังไม่มีใครฟันธงได้ว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯจะเลือกขึ้นหรือลง เพราะตัวเลขอัตราการว่างงาน 3.5% ที่ออกมาดีมากนั้น มันขัดแย้งกันกับตัวเลข PMI ที่ออกมาแย่กว่าคาดอยู่ ผมจึงมองว่าสถานการณ์ตอนนี้อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ
คนที่มองในแง่ดีก็จะพูดถึงการประชุมเฟดครั้งหน้า ที่เราอาจจะได้เห็น QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯกลับมาใช้อีกครั้ง
ส่วนคนที่กลัวกับสถิติ PMI ภาคการผลิต ที่เป็นดัชนีชี้นำและค่อนข้างแม่น ก็ลุ้นต่อว่าจะต่ำกว่า 45 จุดหรือไม่ เพราะสถิติที่ผ่านมาพอต่ำกว่า 45 จุด เศรษฐกิจมักจะไปไม่รอดต้องยอมแพ้ยกธงขาว (ปัจจุบัน 47.8 จุด)
ที่มา : Investing
ในเมื่อบรรยากาศการลงทุนยังคลุมเครือแบบนี้ ไม่รู้จะออกหัวหรือก้อย ผมจึงคิดว่าตลาดแรงงานนี่แหละ จะเป็นสัญญาณตัวสุดท้ายที่จะคอนเฟิร์ม Recession ต่อจาก Leading indicator ตัวอื่นๆ
หลังจากนี้ไป ตัวเลขอัตราการว่างงาน หรือ Unemployment Rate จะถูกเฝ้ามองจากตลาดมากขึ้น เดือนต่อเดือน แบบห้ามกระพริบตา !!! เลยทีเดียว
ถ้าชอบ กด like & share  และอย่าลืม กดติดตามเพื่อไม่ให้พลาดสถานการณ์ลงทุน ตามแบบฉบับมืออาชีพครับ : )
โฆษณา