3 ต.ค. 2019 เวลา 17:51 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เมื่อใดที่เรียกว่า 'ตาย'?
แพทย์ vs นักกฎหมาย
..
...
จากข่าวการเสียชีวิตของพริตตี้สาว 'ลัลลาเบล' ขณะนี้ทางตำรวจมีแนวโน้มจะตั้งข้อหาผู้ที่เกี่ยวข้อง 3 ข้อหาด้วยกัน คือ
- กักขังหน่วงเหนี่ยว (ป.อ.มาตรา 310)
- พาไปเพื่อกระทำการอนาจาร (ป.อ.มาตรา 278)
- กระทำการโดยประมาทจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย (ป.อ.มาตรา 291)
สำหรับข้อหาสุดท้ายนั้น ประเด็นสำคัญอยู่ที่การพิสูจน์ว่า 'ลัลลาเบล' เสียชีวิตเมื่อใด เพราะหากเสียชีวิตก่อนหน้าที่จะถูกพามาคอนโดที่เกิดเหตุ ทิศทางคดีนี้จะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
มีคนจำนวนมากบอกให้ลองตรวจสอบจาก Smart Watch ที่ 'ลัลลาเบล' สวมใส่อยู่ ว่าหัวใจหยุดเต้นเวลาใด
แต่ในทางการแพทย์และทางกฎหมาย การที่หัวใจหยุดเต้นเป็นเวลา 'ตาย' ของบุคคลนั้นจริงหรือไม่
วันนี้ผมจึงจะมาชวนคุยเรื่องการนิยาม 'ความตาย' กันครับ
...
....
ปกติเวลาเราดูหนัง หากหนังต้องการจะสื่อว่าบุคคลใด 'ตาย' ก็มักจะใช้เครื่องอ่านเส้นหัวใจเป็นตัวบอก -------- หรือไม่ก็เอามือแตะที่จมูก ถ้าไม่มีลมหายใจก็คือไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งก็เป็นความเข้าใจร่วมกันของปุถุชนทุกคนมาโดยตลอด
.
สำหรับในทางการแพทย์นั้น 'การตาย' คือ การที่ระบบประสาทส่วนกลาง (สมอง) ระบบการหายใจ (ปอด) ระบบการไหลเวียนของโลหิต (หัวใจ) หยุดทำงานอย่างถาวร ไม่มีทางฟื้นกลับมาได้อีก
.
แต่ด้วยความก้าวหน้าของวิทยาการทางการแพทย์ จะเห็นได้ว่าปัจจุบันแม้คนไข้หัวใจจะหยุดเต้นหรือหยุดหายใจแล้ว ก็ยังมีเครื่องช่วยหายใจ เครื่องกระตุ้นหัวใจ ทำให้คนไข้ยังมีชีวิตต่อไปได้
หลักวิชาทางการแพทย์จึงตัดสินใจใช้เกณฑ์ 'สมองตาย' (Brain Death) เป็นเกณฑ์ในการวินิจฉัยว่าคนไข้ 'ตาย' แล้ว เพราะหากสมองสิ้นสภาพอย่างถาวรแล้ว โอกาสที่หัวใจหรือระบบหายใจจะกลับมาทำงานได้อีก แทบเป็นไปไม่ได้
.
ในประเทศไทยเคยมีการประชุมร่วมกันระหว่างแพทย์กับนักกฎหมาย เรื่อง 'การตายทางการแพทย์และการตายทางกฎหมาย' เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ.2531 เพื่อหาทางออกร่วมกันในเรื่องนี้ เพราะหากแพทย์กับนักกฎหมายเข้าใจไม่ตรงกันแล้ว การปลูกถ่ายอวัยวะ หรือ การถอดเครื่องช่วยหายใจโดยแพทย์ อาจจะมีความผิดอาญาฐานฆ่าผู้อื่นได้
ที่ประชุมของนักกฎหมายและแพทย์จึงได้ข้อสรุปร่วมกันว่า
- บุคคลซึ่งได้รับการวินิจฉัยว่าสมองตายถือว่า บุคคลนั้น 'ตาย'
- แพทยสภาควรมีหน้าที่ในการกำหนดหลักเกณฑ์การวินิจฉัยสมองตาย (ปัจจุบันใช้ประกาศแพทยสภาฉบับที่ 7/2554)
.
ปัญหามีอยู่ว่า 'เกณฑ์การวินิจฉัยสมองตายโดยแพทย์' ไม่ได้ถูกรับรองออกมาเป็นกฎหมายแต่อย่างใด
หรือพูดอีกนัยหนึ่งว่า การวินิจฉัยว่าบุคคลใด 'ตาย'...
...นักกฎหมายเห็นว่าเป็นเรื่อง 'ข้อเท็จจริง' ที่ศาลจะรับฟังเป็นแนวทางในการพิจารณาคดีเท่านั้น
แต่ไม่ใช่ 'ข้อกฎหมาย' ที่จะต้องบัญญัติไว้ว่า สมองตาย = ตาย
ในขณะที่หลายประเทศ เช่น Canada Austria France Italy Norway Spain ฯลฯ มีการออกกฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่า สมองตาย = ตาย
.
เมื่อประเทศไทยไม่มีการระบุไว้ในกฎหมายชัดเจน แพทย์ผู้ทำการรักษาก็ยังมีความเสี่ยงในทางคดีอาญาอยู่
ดังจะเห็นได้จากคดีอาญาเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2548 ที่คณะแพทย์ของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งถูกพนักงานอัยการฟ้องในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น จากกรณีที่ได้นำอวัยวะของผู้ป่วยสมองตายออกจากร่างกายไปปลูกถ่ายให้แก่ผู้อื่น (คดีนี้ศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง โดยยอมรับเกณฑ์ 'สมองตาย' มาพิจารณา)
...
....
จากบทสรุปข้างต้น 'เกณฑ์การวินิจฉัยสมองตาย' คือ 'ตาย' เป็นเพียงแนวถือปฏิบัติร่วมกันระหว่างแพทย์กับนักกฎหมายเท่านั้น แต่ไม่มีข้อบังคับตามกฎหมายใดนิยามไว้อย่างแน่ชัด
แพทย์จึงยังคงมีความเสี่ยงตามกฎหมายที่ต้องไปสู้คดีในชั้นศาลอยู่
ในอนาคตก็คงต้องติดตามต่อไปว่าประเทศไทยจะยังคงถือแนวทางปฏิบัติร่วมกันแบบนี้ต่อไป หรือ จะออกมาเป็นกฎหมายให้ชัดเจนเลย ซึ่งก็ยังต้องไปอภิปรายกันต่ออีกมาก
เห็นไหมครับ เรื่อง 'ตาย' ที่บางครั้งเราเห็นว่าน่าจะง่ายๆ แต่บางทีก็ไม่ได้ง่ายเสมอไป 😉
โฆษณา