4 ต.ค. 2019 เวลา 01:47 • ข่าว
คดี Hopewell กับ อนุญาโตตุลาการ
.
..
ถ้ายังจำกันได้ เมื่อไม่นานมานี่ ศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้รัฐบาลไทย จ่ายค่าเสียหายให้กับ บริษัท Hopewell รวม 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี
ย้ำอีกครั้ง หมื่นล้านครับ!
สำหรับผม คดีนี้น่าสนใจในแง่ของความเข้าใจใน 'กระบวนการอนุญาโตตุลาการ' (Arbitration) ของสาธารณชนอย่างมาก เพราะแม้กระทั่งสื่อมวลชนเอง ก็เหมือนจะสร้างความสับสนให้ประชาชนไม่น้อยในการโยง Arbitration เข้ากับ ศาล
แต่ก่อนอื่นเรามาดูความเป็นมาเรื่องนี้แบบย่อๆ ก่อนครับ
.
1. บริษัท โฮปเวลล์ ประเทศไทย จำกัด ได้เข้าทำสัญญาสัมปทานกับรัฐบาลในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2533 เพื่อก่อสร้าง ‘โครงการระบบการขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับในเขตกรุงเทพมหานคร’ มีระยะทาง 60 กิโลเมตร ใช้งบในการก่อสร้างราว 8 หมื่นล้านบาท
2. ปัญหาเริ่มเกิดขึ้น เมื่อทางรัฐบาลไทยเวนคืนที่ดินก่อสร้างส่งมอบให้ Hopewell ล่าช้า ทำให้โครงการที่ควรจะเสร็จภายในปี 2541 แต่กลับมีความคืบหน้าเพียง 13.7% เท่านั้น เมื่อใกล้ถึงกำหนดเวลา
3. วันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2541 รัฐบาลไทยจึงบอกเลิกสัญญาสัมปทานกับ Hopewell
4. สัญญาสัมปทาน กำหนดให้รัฐบาลและ Hopewell ดำเนินการยุติข้อพิพาทด้วยวิธีการอนุญาโตตุลาการ Hopewell จึงยื่นฟ้องรัฐบาลต่อองค์คณะอนุญาโตตุลาการเพื่อเรียกค่าเสียหาย เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547
**อนุญาโตตุลาการ คือใคร?
คำนี้แปลง่ายๆ ว่า บุคคลที่ได้รับอนุญาตให้ทำหน้าที่ตุลาการ
ดังนั้น กระบวนการอนุญาโตตุลาการ จึงเป็นเรื่องคู่ความในสัญญา ตกลงกันไว้ก่อนล่วงหน้าว่า หากมีข้อพิพาทระหว่างกัน คู่สัญญาจะมอบอำนาจให้บุคคลกลุ่มหนึ่งทำหน้าที่ตัดสินข้อพิพาทและคู่สัญญาจะยอมรับตามนั้น โดยไม่ไปใช้กระบวนการของศาล
5. ต่อมา เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2551 คณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้รัฐบาลไทยชดใช้ค่าเสียหายให้ Hopewell เป็นเงิน 1.1 หมื่นล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยปีละ 7.5% จากการบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรม
6. รัฐบาลไทยจึงยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ให้ยกเลิกคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ด้วยเหตุผลทางกฎหมาย เพราะ Hopewell ยื่นฟ้องรัฐบาลต่อคณะอนุญาโตตุลาการ ช้ากว่าที่กฎหมายกำหนด คือ รัฐบาลไทยบอกเลิกสัญญา Hopewell วันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2541 Hopewell จึงต้องยื่นฟ้องรัฐบาลไทยต่อคณะอนุญาโตตุลาการภายใน 5 ปี หรือภายในวันที่ 30 มกราคม 2546
**ทำไมต้อง 5 ปี
เนื่องจากสัญญาสัมปทาน เป็น "สัญญาทางปกครอง" ซึ่งกฎหมายวิธีพิจารณาคดีปกครอง กำหนดว่าต้องยื่นฟ้องภายใน 5 ปี นับแต่รู้เหตุที่ควรฟ้อง
7. ศาลปกครองชั้นต้น เห็นด้วย จึงให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ และในวันนี้ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษากลับความเห็นของศาลชั้นต้นอีกที
**การบังคับของศาลตามคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการ
เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีความเข้าใจกันทั่วไปว่า หากคู่สัญญาฝ่ายใดไม่พอใจคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการ ก็สามารถไปขอให้ศาลตัดสินใหม่ได้ คล้ายๆ ว่าศาลเป็นชั้นอุทธรณ์ของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
อันที่จริง คำตัดสินของอนุญาโตตุลาการ ต้องถือว่าเป็นที่สุดและผูกพันคู่สัญญาแล้ว เพราะคู่สัญญาได้ตกลงกันแล้วว่าจะยอมรับกันตามที่อนุญาโตตุลาการจะตัดสิน
แต่การที่ศาลเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยนั้น เป็นไปตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 ซึ่งให้อำนาจศาลเพิกถอนคำตัดสินได้แบบจำกัดเฉพาะเรื่อง เช่น อนุญาโตตุลาการทำนอกเหนืออำนาจตนเอง หรือ คำตัดสินของอนุญาโตตุลาการขัดต่อความสงบเรียบร้อย เป็นต้น
ดังนั้น ศาลจะไม่ลงมาดูในเนื้อหาในคดีอีกแล้ว จะดูแค่กระบวนการเท่านั้น ว่าถูกกฎหมายหรือไม่
คำที่ควรใช้สื่อความให้ถูกต้อง คือ
อนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดให้ Hopewell ชนะคดี
ศาลปกครองชั้นต้นเห็นควรให้เพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ
ศาลปกครองสูงสุดเห็นควรให้บังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ
ในคดีนี้ก็เช่นกัน ศาลปกครองชั้นต้นให้เพิกถอนคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการที่ให้รัฐบาลไทยแพ้ Hopewell ด้วยเหตุผลว่า ไม่เป็นไปตามกฎหมาย คือ Hopewell ยื่นฟ้องรัฐบาลเกินระยะเวลา
แต่ศาลปกครองสูงสุดตัดสินกลับคือ ไม่ให้เพิกถอนคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการ เพราะเห็นว่ากระบวนการอนุญาโตตุลาการถูกกฎหมายแล้ว
ผู้ที่สนใจ ลองดูสรุปคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดข้างล่างนี้ได้ครับ :)
โฆษณา