7 ต.ค. 2019 เวลา 11:46 • ความคิดเห็น
“สินสอด” เสียภาษีอย่างไร
Cr. https://www.khaosod.co.th/entertainment/news_2948455
จากข่าวใบเตย-อาร์สยาม แต่งงานกับดีเจแมน โดยมีสินสอดมูลค่า 45 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย แหวนเพชร 5 กะรัต ชุดเครื่องเพชร 2 เซตใหญ่ มูลค่า 8 หลัก ทองคำ เงินสด และรถยนต์ Porsche Macan ราคา 6.7 ล้านบาท เราจะมาดูกันว่ากรณีนี้ควรเสียภาษีอย่างไร
“ภาษีจากการให้” เริ่มบังคับใช้ในประเทศไทยเริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2558 เพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีด้วยวิธีการกระจายฐานภาษี โดยผู้รับโอนสังหาริมทรัพย์ (ผู้มีเงินได้) จะเสียภาษีในอัตรา 5% สำหรับส่วนมูลค่าที่เกิน 10 ล้านบาท กรณีให้จากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี หรือส่วนมูลค่าที่เกิน 20 ล้านบาท กรณีให้จากการอุปการะหรือจากการให้โดยเสน่หาจากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส (มาตรา 42 (27) และ (28) แห่งประมวลรัษฎากร)
จากหลักกฎหมายข้างต้น หากจะบอกว่าใบเตย-อาร์สยาม ต้องเสียภาษีในส่วนที่เกิน 10 หรือ 20 ล้านบาทเลยอาจจะเร็วเกินไป เพราะแท้จริงแล้ว ต้องพิจารณาในรายละเอียดว่าทรัพย์สินที่ให้ดังกล่าวเข้ากรณีใดในกฎหมาย ในส่วนแรก ต้องแยกกันพิจารณาระหว่าง “ของหมั้น” และ “สินสอด” โดย “ของหมั้น” คือ ทรัพย์สินที่ฝ่ายชายโอนให้แก่ฝ่ายหญิงและตกเป็นของฝ่ายหญิง นั่นคือ ตกเป็นทรัพย์สินของเจ้าสาว แต่ “สินสอด” คือ ทรัพย์สินที่ฝ่ายขายให้แก่บิดามารดาของฝ่ายหญิง เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส ดังนั้น ในมุมกฎหมายภาษีอากร จะเกิดความแตกต่าง คือ “ของหมั้น” เป็นจะเป็นเงินได้ของเจ้าสาว แต่ “สินสอด” เป็นเงินได้ของบิดามารดาเจ้าสาว (มาตรา 1437 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
กรณีนี้ จึงต้องแยกแยะว่าสิ่งใดคือ “ของหมั้น” สิ่งใดคือ “สินสอด” โดยคาดการณ์ว่า แหวนเพชร เครื่องเพชร และรถยนต์ (ดูกรรมสิทธิ์จากการจดทะเบียน) น่าจะเป็นของคุณใบเตย ซึ่งจะเสียภาษีในส่วนที่เกิน 10 ล้านบาท ในอัตรา 5% ส่วนทองคำและเงินสด หากยึดถือตามประมวลแพ่งฯ ผู้มีเงินได้คือบิดามารดา ซึ่งจะต้องภาษีในส่วนที่เกิน 10 ล้านบาทเช่นกัน
แต่ท้ายที่สุด ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงเป็นสำคัญว่าเจ้าบ่าว เจ้าสาวและครอบครัวตกลงกันอย่างไร รูปแบบการให้เป็นอย่างไร ภาระภาษีก็จะเป็นไปตามรูปแบบธุรกรรมที่เกิดขึ้นจริง
โฆษณา