10 ต.ค. 2019 เวลา 11:01 • ประวัติศาสตร์
กำเนิดภาษาอังกฤษ ตอนที่ 1/2
ภาษา Old English
1. (เกาะโบราณของชาวสโตนเฮนจ์)
กาลครั้งหนึ่งนานประมาณสักห้าพันถึงหกพันปีมาแล้ว
มีเกาะแห่งหนึ่งตั้งอยู่สุดขอบทางด้านตะวันตกของทวีปยุโรป
เกาะแห่งนี้แต่เดิมชื่ออะไรเราไม่รู้ ชาวเกาะเมื่อ 5,000 ปีก่อนเรียกตัวเองว่าอะไรเราก็ไม่รู้
เรารู้แค่ว่าเกาะแห่งนี้มีผู้อาศัยอยู่เพราะก้อนหินที่พวกเขานำตั้งเรียงๆ กันเป็นวงกลมยังคงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้
โดยเฉพาะก้อนหินกลุ่มหนึ่งที่มีขนาดใหญ่มากที่เราเรียกกันว่า สโตนเฮนจ์ (Stonehenge)
ปัจจุบันเราเรียกเกาะที่มีคนอาศัยอยู่มานานหลายพันปีแห่งนี้ว่าเกาะอังกฤษ
Stonehenge
2. (กำเนิดเคลติก)
คราวนี้เราเดินทางออกจากเกาะนะครับ ข้ามน้ำข้ามทะเลมายืนบนแผ่นดินยุโรปกันบ้าง
ประมาณสัก 3,000 ปีมาแล้ว แถวๆ บริเวณที่เป็นเมืองฮอลสแตท (Hallstat) ประเทศออสเตรียในปัจจุบัน มีคนกลุ่มหนึ่งที่ใช้ภาษาเคลท์ (Celt) อาศัยอยู่
เนื่องจากพวกเขาใช้ภาษาเคลท์ เราจึงเรียกพวกเขาว่า ชาวเคลท์ (Celts)
ในเวลาต่อมาอาจจะเป็นเพราะการเดินทางย้ายถิ่นบวกกับการรบกลืนวัฒนธรรมของคนอื่นๆ ทำให้ภาษาและวัฒนธรรมของพวกเขากระจัดกระจายไปทั่วยุโรป
ตั้งแต่ดินแดนที่เป็นสเปนในปัจจุบัน ไล่ยาวผ่านฝรั่งเศส เยอรมนี ตอนเหนือของอิตาลี ตอนเหนือของคาบสมุทรบอลข่าน(Balkans) จนเข้าไปถึงส่วนที่เป็นประเทศตุรกีอีกเล็กน้อย คือเรียกว่ากระจัดกระจายกินบริเวณกว้างไปเกือบทั่วยุโรป
วัฒนธรรมเคลติกเริ่มต้นบริเวณ Hallstat ในปัจจุบันแล้วกระจายไปทั่วยุโรป
3. (เคลติกบุก)
เมื่อประมาณสัก 2,700 ปีที่แล้ว ชนเผ่าเคลท์กลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งก็นั่งเรือจากแผ่นดินยุโรปมายังเกาะซึ่งมีสโตนเฮนจ์ ตั้งอยู่
แรกๆ ชาวเคลท์แวะมาเพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนสิ่งของแล้วก็นั่งเรือกลับไปยังบ้านตัวเอง
มีบ้างเหมือนกันที่มาแล้วเกิดติดใจเกาะแห่งนี้จึงไม่ยอมกลับไปยุโรป เมื่อเวลาผ่านไปนานขึ้นชนเผ่าเคลท์ที่ย้ายมาตั้งรกรากก็มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ชาวพื้นเมืองที่สร้างสโตนเฮนจ์ ก็เริ่มไม่ชอบใจ จึงพยายามต่อสู้ขับไล่ แต่ชนเผ่าเคลท์มีเทคโนโลยีในการผลิตอาวุธที่ก้าวหน้ากว่า คือผลิตเหล็กได้ ขี่ม้าเป็นทำสงครามเก่ง
ส่วนกลุ่มคนที่สร้างสโตนเฮนจ์ ใช้แต่อาวุธที่ผลิตด้วยบรอนซ์ซึ่งไม่แข็งเท่าเหล็ก อาจจะไม่ได้ขี่ม้าหรือถ้าขี่ก็ไม่เก่งเท่าชาวเคลท์ ไม่นานชาวเคลท์จึงเข้ามายึดเกาะแทนผู้อยู่อาศัยเดิม
ต่อมาวัฒนธรรมและภาษาของชาวเคลท์ก็กลืนวัฒนธรรมและภาษาของชาวพื้นเมืองเดิมหายไปหมดจนทุกวันนี้เราไม่รู้ว่าพวกเขาคือใคร
4. (กรีกตั้งชื่อเกาะ)
ประมาณสัก 2,500 ปีที่แล้วอาณาจักรเปอร์เซียที่ยิ่งใหญ่มโหฬารพยายามบุกมาตีรัฐเล็กๆ หลายแห่งบนคาบสมุทร บอลข่าน(Balkan) แต่รัฐเล็กๆ เหล่านั้นนำโดยรัฐที่ชื่อเอเธนส์ของชาวกรีกก็รวมพลังกันต่อสู้จนเอาชนะเปอร์เซียที่ยิ่งใหญ่ได้ (ใครสนใจเรื่องราวตอนนี้ ไปดูต่อที่ผมเล่าไว้ใน youtube ตามลิงก์ที่จะให้ไว้ด้านล่างได้ครับ)
ทหาร hoplite ของสปาร์ตา เตรียมพร้อมรบกับทหารเปอร์เซีย
หลังจากนั้นอารยธรรมของกรีกก็เริ่มยิ่งใหญ่และมีอิทธิพลไปยังดินแดนอื่นๆ อย่างกว้างขวาง ชาวกรีกสมัยนั้นมีทั้งนักคิด นักปรัชญาและนักสำรวจมากมาย
แม้ว่าชาวกรีกจะอาศัยอยู่ไกลถึงคาบสมุทรบอลข่าน แต่ก็รู้ว่าสุดขอบทางทิศตะวันตกของแผ่นดินยุโรปออกไปมีเกาะใหญ่เกาะหนึ่งตั้งอยู่ ซึ่งชาวกรีกเรียกเกาะนั้นว่า พริททานิกี้ (Prettanike)
2
5. (โรมันเรียกเพี้ยน)
ประมาณสัก 2,400 ปีที่แล้วเมื่ออารยธกรรมกรีกเสื่อมอำนาจลงก็มีอาณาจักรใหม่เกิดขึ้นมาแทนที่นั่นคืออาณาจักรโรมัน (Roman)
แม้ว่าชาวโรมันจะรู้สึกว่ากรีกสู้โรมันไม่ได้แต่ก็แอบชื่นชมวัฒนธรรมของกรีกอยู่ไม่น้อยจึงแอบผนวกวัฒนธรรมรวมไปถึงภาษาของกรีกเข้ากับวัฒนธรรมตัวเอง หรืออาจพูดง่ายๆ ได้ว่าภายในอารยธรรมโรมันก็มีอารยธรรมกรีกแฝงตัวอยู่
ชาวโรมันเริ่มต้นสร้างเนื้อสร้างตัวมาจากเมืองเมืองเล็กๆ บนคาบสมุทรอิตาลีที่ชื่อว่า โรม ต่อมาชาวโรมันก็สร้างกองทัพที่แข็งแกร่ง แล้วก็ขยายอิทธิพลผนวกดินแดนอื่นเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรโรมันมากขึ้นเรื่อยๆ ลากยาวไปจนสุดขอบของแผ่นดินทางทิศตะวันตก
1
เมื่อมองข้ามทะเลไปชาวโรมันก็รู้ว่าถ้านั่งเรือออกไปนั้นจะมีเกาะใหญ่แห่งหนึ่งที่ชาวกรีกเรียกว่า Prettanike ชาวโรมันจึงเรียกชื่อตามกรีกแต่เพี้ยนนิดๆพองามว่า บริทาเนีย (Britannia) และชื่อนี้ในอีกพันกว่าปีต่อมากลายเป็นคำว่า Britain แบบที่เราคุ้นเคยกัน
6. (โรมันบุก)
อยู่มาวันหนึ่ง ประมาณสัก 2,000 ปีที่แล้ว แม่ทัพคนเก่งของโรมันคนหนึ่งชื่อว่า จูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar) ก็เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลบุกไปยังเกาะบริทาเนีย
แต่เมื่อไปถึงมองซ้ายมองขวาไม่เห็นอะไรน่าสนใจ จึงพูดว่า veni, vidi, vici (เวนี่ วิดิ วิคี่) หรือที่แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า I came, I saw, I conquered หรือแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า ฉันมา ฉันเห็น ฉันพิชิต แล้วฉันก็จะกลับแล้วนะเพราะที่นี่ไม่มีอะไรน่าสนใจ (กลับโรมไปลองเป็นจักรพรรดิ์ดีกว่า)
1
แล้วจูเลียส ซีซาร์ก็กลับกรุงโรมไปเฉยๆโดยไม่ได้สนใจทำอะไรกับเกาะบริทาเนียนี้สักเท่าไหร่
เป็นเวลาอีกหลายปีต่อมากว่าโรมันจะบุกมาอีกรอบ แล้วคราวนี้ไม่ได้แค่แวะมาเยี่ยมเฉยๆเหมือนที่จูเลียส ซีซาร์ทำ แต่มาแล้วยึดเกาะบริทาเนียเป็นจังหวัดหนึ่งของอาณาจักรโรมันไปเลย
1
หลังจากที่โรมันบุกมาบริทาเนียอีกครั้ง ชาวเกาะบริทาเนียส่วนหนึ่ง (ซึ่งตอนนั้นก็คือชนเผ่าเคลท์) ก็หนีขึ้นไปอาศัยอยู่ทางตอนเหนือของเกาะ (บริเวณที่เป็นสก็อตแลนด์ในปัจจุบัน) บางส่วนก็ปรับตัวและกลายเป็นชาวโรมันไป
ยุคสมัย Roman Britain
เมื่อโรมันเป็นใหญ่ ใครอยากก้าวหน้าในการงาน อยากค้าขายกับชาวโรมันก็ต้องพูดภาษาโรมัน ชาวเกาะบางคนที่เดิมพูดภาษาเคลท์ ก็เลยเปลี่ยนมาพูดภาษาละตินบ้าง
แต่ชาวบ้านร้านตลาดทั่วไปส่วนใหญ่ก็ยังใช้ภาษาเคลท์สนทนาในชีวิตประจำวันเช่นเดิม ชาวเกาะบริทาเนียจึงพูดละตินผสมปนๆ ไปกับภาษาเคลท์อยู่นานเช่นนี้กว่า 400 ปี
7.( Anglo-Saxon บุก)
แต่แล้ววันหนึ่งประมาณสัก 1,600 ปีที่แล้ว อาณาจักรโรมันที่เคยยิ่งใหญ่ก็ถึงคราวเสื่อมลงบ้าง
เริ่มต้นจากความที่โรมันใหญ่เกินกว่าที่ผู้นำจะดูแลไหว อาณาจักรโรมันจึงต้องแยกออกเป็นสองส่วนคือโรมันตะวันตกและโรมันตะวันออก
ต่อมาไม่นานโรมันตะวันตกก็ถูกคนเถื่อนชนเผ่าเยอรมัน (เถื่อนในสายตาของโรมันแต่จริงๆ ก็ไม่ได้เถื่อนอย่างที่โดนใส่ร้าย) จากทางทิศเหนือบุกเข้ามาทำลาย เมื่อโรมันยังเอาตัวเองไม่รอด กองทัพโรมันก็เลยต้องถอนทหารออกจากเกาะบริทาเนียแล้วปล่อยให้ชาวเกาะดูแลตัวเองกันไป
เมื่อชาวเกาะบริทาเนียไม่มีลูกพี่โรมันคอยคุ้มกันให้เช่นที่แล้วมา เกาะบริทาเนียจึงเริ่มมีคนกลุ่มใหม่เดินทางแวะมาเยี่ยมเยียนบ้าง คราวนี้เป็นทีของชนเผ่าที่ใช้วัฒนธรรมเจอรมานิก (Germanic) หรือเยอรมัน
ชนเผ่าเยอรมันที่เดินทางมาใหม่เหล่านี้มีหลายกลุ่ม มาจากหลายที่ บางพวกชื่อ แซกซอนส์ (Saxons) บางพวกชื่อ จูตส์ (Jutes) บางพวกชื่อ แองเกิลส์ (Angles)
Anglo-Saxon-Jutes บุก!
เมื่อมาแล้วก็ไม่ได้มาตัวเปล่าแต่เอาภาษา ตัวอักษร และวัฒนธรรมติดตัวมาด้วย พวกนี้แวะมาแล้วก็ไม่ค่อยจะยอมกลับ คือมาแล้วจับจองที่ดินตั้งรกรากทำไร่ทำนาเป็นล่ำเป็นสันกันเลยทีเดียว
1
แรกๆ ก็พออยู่ปนกันไปกับชาวเกาะได้ (ซึ่งตอนนี้มีทั้งชนเผ่าเคลท์และชาวโรมันบ้าง) แต่เมื่อชนเผ่าเยอรมันมาเยอะขึ้นเรื่อยๆ ก็มีต่อสู้แย่งที่ทำกินกันบ้าง
สุดท้ายชาวเกาะสู้พวกเยอรมันที่มาใหม่เหล่านี้ไม่ไหว กลุ่มคนที่ใช้ภาษาเคลท์จึงถูกไล่ที่ให้ต้องหนีไปอยู่อาศัยทางเหนือของเกาะ แถวๆ บริเวณซึ่งปัจจุบันคือสกอตแลนด์(Scotland) และ เวลส์ (Wales)
ส่วนพื้นที่ซึ่งชนเผ่าเยอรมัน แองเกิลส์ แซกซอนส์ และจูตส์ เข้ามาอาศัยอยู่ก็พูดภาษาของชนเผ่าเยอรมันที่มีชื่อเรียกว่า Anglo-Saxon (ออกเสียงว่า แองกโล-แซกซ่อน)
4
และด้วยเหตุนี้เองภาษา Anglo ของชาว Angles (ซึ่งย้ายมาจากดินแดนที่ชื่อ Engles) จึงกลายมาเป็นชื่อของภาษา อิงกลิส (Englisc) ก่อนจะกลายมาเป็น อิงลิช (English) ในปัจจุบัน
1
8.(ศาสนาคริสต์บุก)
ต่อมาอีกหน่อยคือประมาณสัก 1,400 ปีที่แล้ว ก็เริ่มมีนักบวชในศาสนาคริสต์เดินทางเข้ามาเผยแพร่ศาสนาบนเกาะบริทาเนีย นักบวชเหล่านี้ใช้ภาษาละติน (ของโรมัน) และเขียนด้วยตัวอักษรโรมัน
1
คนกลุ่มแรกๆ ที่หันมานับถือศาสนาคริสต์ก็คือ กษัตริย์ ราชวงศ์และขุนนาง ดังนั้น ภาษาละติน (ของชาวโรมัน) จึงกลายเป็นภาษาของชนชั้นปกครอง เป็นภาษาไฮโซ
ภาษาละตินซึ่งถูกลืมเลือนไปตั้งแต่ชาวโรมันถอนทัพออกไปจากเกาะ ก็กลับมามีความสำคัญอีกครั้งหนึ่ง
ส่วนชาวบ้านทั่วไปในระยะแรกๆยังไม่ยอมรับศาสนาคริสต์จึงใช้ภาษาอังกฤษแบบดั้งเดิมต่อไปอีกระยะหนึ่ง
ภาษาอังกฤษในยุคสมัยนั้นปัจจุบันเราเรียกว่าเป็นภาษาอังกฤษแบบ Old English ซึ่งก็เป็นส่วนผสมของ ภาษาเยอรมันโบราณที่ชื่อ Anglo-Saxon เป็นหลัก เติมด้วยคำศัพท์ละติน โดยเฉพาะคำที่ใช้ในทางศาสนาและคำศัพท์ของชนชั้นสูง และเหยาะด้วยภาษาเคลท์ที่เหลืออยู่เพียงเล็กน้อย (ส่วนใหญ่จะเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์และแม่น้ำลำคลอง)
แต่เรื่องราวยังไม่จบแค่นั้นครับ เพราะอีกไม่นานนัก คือประมาณ 1,100 ปีที่แล้ว ก็มีคนกลุ่มใหม่อีกกลุ่มแวะมาเยี่ยมเกาะบริทาเนียบ้าง (เยี่ยมแล้วไม่กลับเช่นกัน) คนกลุ่มนี้เดินทางมาจากดินแดนทางทิศเหนือ จึงเป็นที่รู้จักในชื่อ North-men หรือ Norsemen คนกลุ่มใหม่นี้เป็นชาวแดนิช (Danish) หรือชาวเดนส์ (Danes) แต่ชื่อที่คนทั่วไปน่าจะคุ้นเคยกว่าคือ ไวกิ้ง (Vikings)
9.(ไวกิ้งบุก)
พวกไวกิ้งนี้แรกๆ ก็มาแค่ปล้นสดมภ์ เผา ฆ่า แล้วก็กลับไป แต่ต่อมาเมื่อปล้นแล้วเกิดติดใจไม่ยอมกลับบ้านเมืองของตัวเอง
ไวกิ้งบุก! (แต่ไวกิ้งจริงๆไม่ได้ใส่หมวกมีเขานะครับ)
กษัตริย์ของอังกฤษ (ซึ่งเป็นชนเผ่าเยอรมัน Anglo-Saxon) เลยตัดสินใจยกที่ดินให้ทำกินเป็นเรื่องเป็นราว โดยหวังว่าเมื่อไวกิ้งปักหลักเพาะปลูกได้แล้วจะไม่มาปล้นสดมภ์กันอีก
ดินแดนที่ชาวเยอรมันยกให้ชาวเดนส์ จึงมีชื่อเรียกว่า เดนลอว์ (Danelaw คืออยู่ใต้กฎของชาวเดนส์)
Danelaw พื้นที่อยู่ใต้การปกครองของ Viking
เมื่ออยู่กันไปนานเข้าชาวอังกฤษกับชาวเดนส์ก็เริ่มรู้จักกันมากขึ้น แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันมากขึ้น ภาษาเยอรมันผสมละตินแบบ Old English จึงได้รับส่วนผสมจากภาษา Old Norse ของไวกิ้งมาผสมรวมเข้าไปอีก ถึงตอนนี้ Old English จึงมีส่วนผสมของทั้งเยอรมัน ละติน เคลติก(น้อยมากๆ) และ Old Norse ของไวกิ้ง
ยังครับ เรื่องราวยังไม่จบ เพราะเกาะบริทาเนียกำลังจะโดนบุกอีกครั้ง และครั้งนี้อาจจะถือได้ว่า เป็นการโดนบุกครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศอังกฤษ สำคัญขนาดที่ว่าเด็กนักเรียนชาวอังกฤษส่วนใหญ่ทุกวันนี้จำปี ค.ศ. 1066 หรือปีที่โดนบุกได้ขึ้นใจ
แต่ก่อนจะพูดถึงการบุกในปี ค.ศ. 1066 ผมอยากจะชวนแวะไปปารีสกันก่อนครับ
เพราะก่อนหน้านั้นประมาณ 800 ปี ไวกิ้งบุกไปยังเมืองปารีสครับ แล้วเป็นชาวไวกิ้งที่บุกปารีสนี้เอง ที่จะมาบุกเกาะบริทาเนีย…
(อ่านต่อ ตอนที่ 2 ในวันพรุ่งนี้ครับ)
(Ads)
ชอบเรื่องราวแบบนี้ อย่าลืมอ่านหนังสือ ทำไมเราเลี้ยง pig แต่กิน pork และ ทำไมแฮมเบอร์เกอร์จึงไม่มีแฮม
สามารถสั่งซื้อออนไลน์ได้จากลิงก์
น่าอ่านจังเลย !!
อ่านบทความประวัติศาสตร์อื่นๆเพิ่มเติมได้ที่
อ่านบทความวิทยาศาสตร์และการแพทย์ได้ที่
คลิปวีดีโอ เล่าสงครามกรีกและเปอร์เซีย
เพิ่งเริ่มทำนะครับ ช้านิดแต่จะมีคลิปใหม่ๆตามมาอีกแน่นอน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา