11 ต.ค. 2019 เวลา 10:51 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เมื่อเดือนมิถุนายน 2561 ยานฮะยะบุซะ 2 ขององค์การอวกาศญี่ปุ่นหรือแจ็กซา (JAXA) ได้เดินทางไปถึงดาวเคราะห์น้อยริวกิว ยานลำนี้มีภารกิจหลักคือเก็บตัวอย่างหินจากดาวเคราะห์น้อยกลับมายังโลก
นอกจากนี้ยังมีการปล่อยยานลูกลงไปสำรวจถึงพื้นผิวสี่ลำ ภารกิจนี้ได้เลือกริวกิวเป็นวัตถุเป้าหมาย เนื่องจากดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มีองค์ประกอบเป็นคาร์บอน นักดาราศาสตร์คาดว่าดาวเคราะห์น้อยประเภทนี้เป็นตัวแทนของสสารดั้งเดิมที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่การกำเนิดระบบสุริยะ ภารกิจการปล่อยยานลูกและเก็บตัวอย่างจากริวกิวของยานฮะยะบุซะ 2 ได้ผ่านพ้นไปแล้ว เหลือเพียงการเดินทางกลับมายังโลก ซึ่งมีกำหนดจะกลับมาถึงโลกในเดือนธันวาคม 2563
ขณะนี้นักดาราศาสตร์จึงต่างตั้งตารอคอยให้ถึงวันที่จะได้สัมผัสกับตัวอย่างหินจากริวกิวและนำไปศึกษาวิเคราะห์ในห้องทดลอง ซึ่งคาดว่าจะช่วยไขความเร้นลับเกี่ยวกับดาวเคราะห์น้อยดวงนี้และของระบบสุริยะด้วย อย่างไรก็ตาม
แม้ตัวอย่างหินจากริวกิวจะยังไม่กลับมาถึงโลก ข้อมูลเบื้องต้นจากฮะยะบุซะ 2 ที่ส่งกลับมาจนถึงขณะนี้ก็ทำให้นักดาราศาสตร์ต้องตะลึงแล้ว หนึ่งในยานลูกที่ยานฮะยะบุซะ 2 ปล่อยลงไปบนริวกิวคือ มัสคอต (MASCOT--Mobile Asteroid Surface Scout)
ซึ่งพัฒนาโดยศูนย์การบินและอวกาศเยอรมัน ร่วมกับองค์การอวกาศฝรั่งเศส มัสคอตเป็นยานรูปสี่เหลี่ยมขนาดเท่ากล่องรองเท้า ไม่มีล้อหรือขา เคลื่อนที่โดยการกระดอนและพลิกตัวเองโดยอาศัยล้อตุนกำลังที่อยู่ภายใน ภารกิจของมัสคอตที่สั้นเพียง 17 ชั่วโมงคือ สำรวจโครงสร้าง การกระจาย และลักษณะพื้นผิวของหินในระดับพิสัยเล็ก
โฆษณา