12 ต.ค. 2019 เวลา 00:45 • ท่องเที่ยว
ลงแบบนิ่มๆ Soft Landing 🛫🛬
ฐานล้อ Boeing 777 แตะพื้น
การลงสนามแบบนิ่มๆ เป็นที่รู้กันดีว่าจะได้รับความนิยมชมชอบจากผู้โดยสาร บนเที่ยวบินบางเที่ยวผู้โดยสารที่น่ารักปรบมือแสดงความชอบใจที่นักบินแลนด์เครื่องบินอย่างกับลงบนปุยนุ่น 🐑
ผู้โดยสารบางท่านอาจจะยังหลับอยู่กับที่นั่ง ตื่นเมื่อมีแอร์มาปลุก
ตัวนักบินเองก็มีความปลื้มปริ่มลึกๆ เหมือนกับให้รางวัลตัวเอง😊
ในทางกลับกัน หากนักบินลงสนามโครม หรือบางครั้งแถมให้อีกโคร้มม ก็จะได้รับการชื่นชม(แซว)จากผู้โดยสารว่าวันนี้กัปตันใจดี บินหนึ่งไฟลท์ให้ได้สองแลนด์ ก็ว่ากันไป
ตามหลักแล้วการลงสนามที่ดีคือ แน่น “Firm Landing” โดยหนังสือคู่มือของแต่ละแบบเครื่องบิน และครูการบิน จะเน้นย้ำเรื่องนี้
ลองมาดูปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้การลงสนามนั้น “นิ่ม Soft” “แน่น Firm” หรือ “แรง Hard” กันนะครับ
ปัจจัยที่มีผลต่อการลงสนามได้แก่ ลม สภาพทางวิ่ง ความยาวรันเวย์
🌬“ลม” 💨
ตามปกติ เครื่องบินต้องลงสนามในทิศทางสวนลม (Headwind) เพื่อสมรรถนะ (Performance) ที่ดีที่สุด ดังนั้นลมมาตรงหน้า นิ่งๆ นักบินจะชอบมาก
ในการออกแบบรันเวย์ ไม่ว่ารันเวย์เล็กๆสำหรับเครื่องร่อนหรือสำหรับสนามบินนานาชาติยาวหลายกิโลเมตร ต้องคำนึงถึงลมเป็นหลัก
ยกตัวอย่างเช่น สนามบินสุวรรณภูมิ เกือบทั้งปีลมมาจากอ่าวไทยทางทิศใต้ มีไม่กี่เดือนที่ลมหนาวพัดมาจากทางเหนือ ดังนั้นที่เราบินกันอยู่จึงบินตามแนว Headwind
แล้วไม่ปกติล่ะ Tailwind หรือ Crosswind นั่นเอง
ในบางเวลาของบางสนามบินบางรันเวย์จำเป็นต้องวิ่งขึ้นหรือลงจอดแบบ Tailwind เพราะที่ตั้งสนามบินบังคับให้เป็นในทิศทางทางนั้น ตัวอย่างเช่น
สนามบินเวียงจันทน์ ต้องลงรันเวย์ 13 และในทางกลับกันก็วิ่งขึ้น 31 เนื่องมาจากอีกฟากเป็นเขตจังหวัดหนองคาย นอกเขตควมคุมของ ATC เวียงจันทน์นั่นเอง
อีกสนามคือ กระบี่ ในจำนวนการลงจอด 99.99% ที่กระบี่จะลงรันเวย์ 32 เพราะว่าทางทิศเหนือของสนามบินเป็นเขาสูง ยอดสูงสุดสูงถึง 4,520 ฟุตจากระดับน้ำทะเล ห่างจากรันเวย์เพียง 10 ไมล์ ไม่สามารถทางออกแบบเป็นเส้นทางร่อนลงได้
สนามบินกระบี่ ข้างหลังนั้นคือเขาสูง
บางสายการบินจะให้นักบินฝึกลงรันเวย์ 14 ในเครื่องจำลองการบินหรือซิมมูเลเตอร์ การฝึกแบบนี้ถือว่าปราบเซียนนะ จึงเป็นที่มาของคำว่าสนามบินกระบี่..ไร้เทียมทาน แฮ่!
นอกจากนี้ การวิ่งขึ้นหรือลงแบบ Tailwind นั้นมี Limit ไม่เกิน 10 ถึง 15 knots แล้วแต่แบบเครื่องบินครับ
การลงสนามแบบ Tailwind มีผลบ้างต่อความ”นิ่ม” โดย Crosswind จะมีผลให้การลงจอด ”ไม่นิ่ม” มากกว่า เพราะต้องใช้ศาสตร์และศิลป์ในการบังคับเครื่อง (Maneuver) ค่อนข้างสูง
Crosswind Landing นั้นมีการบรรจุในตำราการบิน, คู่มือการบินแบบต่างๆ อีกทั้งมีการฝึกอย่างเข้มข้นในซิม เป็นท่าบังคับของนักบินใหม่ ก่อนที่จะออกไปบินกับเครื่องจริง
สายการบินโดยทั่วไปกำหนด Crosswind Limit ไม่เกิน 30 knots
รายละเอียดของ Crosswind มีมาก ถ้ามีโอกาสจะมาว่าด้วยเรื่องนี้อย่างเดียวเลยครับ
🌧“สภาพทางวิ่ง”⛈🌨
เมื่อมีฝนตกหนักทำให้น้ำปกคลุมพื้นผิวทางวิ่ง การลงแบบ”นิ่ม”อันตรายมาก มีโอกาสลื่นไถล เสียการควบคุม นึกถึงเวลาเราขับรถเหยียบแอ่งน้ำตอนฝนตกหนักน่ะครับ
นักบินจำเป็นต้องลงแบบ Firm บนรันเวย์เปียก เมื่อฝนตกหนัก และหิมะตกก็เช่นกัน
✈️“ความยาวรันเวย์”
บางทางวิ่งที่จะลงจอด สั้น คำว่าสั้นนี้ ไม่ได้แปลว่าไม่พอ แต่หมายถึง ไม่มีระยะเผื่อแบบเหลือเฟือ
ตามสภาวะและ Performance ปกติ สำหรับเครื่องบินลำตัวกว้าง เช่น Airbus A330 ใช้ความยาวทางวิ่งสำหรับลงจอด 1,500 ถึง 2,000 เมตร
ที่สนามบินโตเกียวนาริตะ รันเวย์ 34L ยาวประมาณ 4 กิโลเมตร จึงทำให้ลงจอดนิ่มได้สบาย แต่รันเวย์ 34R ซึ่งยาวเพียง 2,500 เมตร นักบินที่ดีจะลงให้ Firm ครับ
Narita Airport Ground Chart
กล่าวโดยสรุป เมื่อข้อจำกัดด้าน สภาพอากาศ ความยาวรันเวย์ รวมถึงปัจจัยแวดล้อม หมดไป นักบินทุกคนปรารถนาที่จะลงแบบนิ่มๆ Soft Landing ด้วยความปลอดภัยแน่นอนครับ👨🏻‍✈️👩🏼‍✈️
โฆษณา