12 ต.ค. 2019 เวลา 15:32
พิธีกวนข้าวทิพย์เนื่องในวันออกพรรษา
กวนข้าวทิพย์
ช่วงนี้วัดหลายแห่งในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์กำลังเตรียมวัตถุดิบสิ่งของเพื่อจะทำข้าวทิพย์ หลัก ๆ ก็คือ มะพร้าวเพื่อเอามาทำน้ำมันมะพร้าวซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักเลย ข้าวตอก ข้าวเม่า น้ำตาล นม เนย น้ำผึ้ง และวัตถุดิบอื่น ๆ รวมแล้วตามตำรานี้ต้องมีถึง ๑๐๘ ชนิด ซึ่งก็ต้องเตรียมให้พร้อมเพื่อรอเวลาในการกวนข้าวทิพย์ในวันออกพรรษา เนื่องจากชาวอีสานมีประเพณีอันเนื่องด้วยพระพุทธศาสนาอีกอย่างหนึ่ง ที่ผนวกเข้าเป็นประเพณีอันเดียวกันกับประเพณีออกพรรษา (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11) คือ กวนข้าวทิพย์ ซึ่งถือปฏิบัติต่อเนื่องกันมาช้านาน
จากความเชื่อในครั้งพุทธกาล ที่นางสุชาดาปรุงข้าวมธุปายาสถวายพระพุทธองค์ ก่อนจะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถือกันว่าข้ามธุปายาสเป็นของทิพย์ของวิเศษ เมื่อทำขึ้นจึงเรียกว่า ข้าวทิพย์ ชาวบ้านจะพร้อมใจกันทำในเทศกาลออกพรรษา ถวายพระสงฆ์เพื่อเป็นการสักการบูชา ถ้าใครได้รับประทานจะเป็นสิริมงคลกับตนเอง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ แม้กระทั่งน้ำมันที่ได้จากการการกวนข้าวทิพย์ ก็ใช้ทารักษาบาดแผล แก้ปวดเมื่อย เคล็ดขัดยอกได้
การกวนข้าวทิพย์ต้องอาศัยแรงศรัทธา แรงใจ ความสามัคคีพร้อมเพรียงกันจากชาวบ้าน จึงจะสำเร็จลงได้ มูลเหตุที่ทำในวันออกพรรษา เพื่อถวายเป็นเครื่องสักการบูชาและรับเสด็จพระพุทธองค์ที่เสด็จจากจำพรรษาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ใช้ในการกวนข้าวทิพย์ได้แก่ น้ำนมข้าวและข้าวเม่า
น้ำนมข้าว ได้จากข้าวที่ตกรวงใหม่ๆ ภายในเมล็ดพอเป็นน้ำสีขาวขุ่นคล้ายน้ำนม นำข้าวนั้นมาตำ กรองเอาน้ำ จะได้เป็นน้ำนมกลิ่นหอมอ่อนๆ
ข้าวเม่า ได้จากข้าวที่เมล็ดแก่กว่าข้าวน้ำนมเล็กน้อย นำมาคั่วทั้งเปลือก ตำฝัดเอาเปลือกออก ได้ข้าวเม่าสีเขียวอ่อน กลิ่นหอม เทศกาลออกพรรษาเป็นช่วงระยะพอดีกับข้าวตกรวงที่จะได้ทั้งน้ำนมข้าวและข้าวเม่า
การเตรียมการ
การกวนข้าวทิพย์ต้องกวนในวัด วัดที่กวนต้องเตรียมการหลายอย่าง ดังนี้
1. สถานที่ บริเวณที่จะกวนข้าวทิพย์อาจจะทำเป็นปะรำพิธี โดยโยงด้ายสายสิญจน์จากพระประธานมายังปะรำพิธี ซึ่งวงด้ายสายสิญจน์เป็นสี่เหลี่ยม มุมทั้งสี่ตั้งฉัตร 7 ชั้น ขันหมากเบ็ง เป็นเครื่องสักการบูชา
2. อุปกรณ์การกวนข้าวทิพย์ ได้แก่ เตา ฟืน กระทะ ใบบัว ไม้พาย
3. เด็กหญิงพรหมจารีนุ่งขาว ห่มขาว กระทะละ 2 คน แล้วแต่จะกวนกี่กระทะ
ส่วนประกอบ
น้ำนมข้าว ข้าวเม่า มะพร้าว น้ำอ้อย น้ำตาล แป้ง ข้าวเจ้า แป้งข้าวเหนียว แป้งสาลี ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ถั่วเขียว เผือก งา มันเทศ มันสาคู น้ำผึ้ง ฟักทอง ข้าวตอก นมสด นมข้น เนย กล้วย ข้าวโพด ใบเตย น้ำลอยดอกมะลิ (พืชหรือผลิตผลจากพืชทุกชนิดที่ใช้ทำขนมได้ นำมากวนรวมกันเป็นข้าวทิพย์ได้ บางแห่งเรียกว่า ข้าวสำปิ สำปิ หรือ สำมะปิ หมายถึง การนำของหลายอย่างมารวมกันจนแยกไม่ออกว่าอะไรเป็นอะไร)
วิธีทำ
เตรียมของทุกอย่างให้พร้อมที่จะกวน เช่น มะพร้าวก็คั้นเอากะทิ ถั่วต่างๆ คั่วแล้วบดให้ละเอียด เผือก มัน ฟักทอง นึ่งให้สุกบดเตรียมไว้ ใบเตยโขลกให้ละเอียด กรองเอาน้ำนำของทุกอย่างผสมกัน ส่วนน้ำตาล น้ำอ้อยจะใส่ทีหลัง อัตราส่วนนั้นจะมีผู้ชำนาญการคอยดูแลว่าจะใส่อะไรมากน้อยเพียงใด เพราะแต่ละวัดจะกวนจำนวนมากหลายกระทะนอกจากทำถวายพระสงฆ์แล้ว ยังต้องให้พอแจกจ่ายกันทุกครัวเรือนในหมู่บ้าน เพื่อความเป็นสิริมงคล แม้กระนั้นบางวัดยังมีเหลือเก็บไว้ได้อีกเป็นเดือน ข้าวทิพย์ที่กวนได้ที่ จะเก็บไว้ได้นานไม่ขึ้นรา ไม่เหม็นหืน
การประกอบพิธี
พิธีจะเริ่มประมาณ 4 โมงเย็นของวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 เริ่มด้วยพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ เด็กหญิงพรหมจารีรับศีล 8 เมื่อพระเจริญพระพุทธมนต์ถึงบทอิติปิโส เด็กหญิงจะลุกไปยังบริเวณพิธีกับผู้ชำนาญการ ส่วนคนอื่นจะเข้าไปไม่ได้ เด็กหญิงจะเป็นผู้เริ่มทำทุกอย่าง ตั้งแต่ก่อไฟ ยกกระทะขึ้นตั้งเตาไฟ แล้วเริ่มกวน กวนไปประมาณ 10 นาที ก็เป็นการเสร็จพิธีการ หลังจากนั้นชาวบ้านจะช่วยกันกวนโดยผลัดกันตลอดคืน บางวัดเสร็จตี 3 ตี 4 จึงเป็นวันที่สนุกสนานของหนุ่มสาวอีกวันหนึ่ง เพราะจะช่วยกันมากวนข้าวทิพย์ มีการกระเซ้าเย้าแหย่กันเพื่อไม่ให้ง่วงนอน นับเป็นกำลังสำคัญในการกวน ส่วนคนแก่คนเฒ่าส่วนมากจะนอนค้างที่วัด วันรุ่งขึ้นเป็นวันพระมีการทำบุญตักบาตรเป็นการเอิกเกริกถวายข้าวทิพย์แด่พระภิกษุสงฆ์ และแจกจ่ายแบ่งปันกัน หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส อิ่มบุญกันทั่วหน้า เป็นอันเสร็จพิธี
Cr : Theerapon Sajjanon
by:ชุมชนคนสุรินทร์
โฆษณา