14 ต.ค. 2019 เวลา 10:48 • ธุรกิจ
‘ภาษี’ อะไรคนพลาดเยอะที่สุด !!
ในโพสต์นี้ ขอเริ่มด้วยสมมุติฐานที่ว่า ‘ทุกคนอยากเสียภาษีให้ถูกต้อง’ นะครับ ถ้าหากมีเจตนาไม่สุจริตที่จะหลบเลี่ยง หลบหลีก แล้วผิดพลาด ก็ถือเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ครับ
ในกรณีที่เป็น ‘มนุษย์เงินเดือน’ อย่างเดียว เรื่องภาษีก็จะไม่ได้ซับซ้อน เพราะนายจ้างต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายนำส่ง ตั้งแต่จ่ายเงินเดือนเราทุกเดือนแล้ว สิ่งที่เราต้องทำก็คือ รวบรวมเอกสารทั้งหมด และมายื่นแบบ ภงด.91
แต่ถ้ามีเงินได้ประเภทอื่นๆด้วยแล้ว จะมีภาษีประเภทอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ‘ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ภาษีมูลค่าเพิ่ม/ภาษีธุรกิจเฉพาะ หรืออากรแสตมป์’ และนี่แหละ จุดเริ่มต้นของข้อผิดพลาด ที่นำไปสู่เบี้ยปรับและเงินเพิ่ม หรือ ที่ทุกคนมักเรียกกันว่า ‘ภาษีย้อนหลัง’
อันดับ 1 ของข้อผิดพลาดที่พบเจอมากที่สุด คือ ‘ภาษีหัก ณ ที่จ่าย’ - โดนหักไปแล้วคือจบ ไม่ต้องทำอะไรแล้ว
ถ้ามีความเข้าใจแบบนี้อยู่ เตรียม ’จบ...เห่’ ได้เลยครับ เพราะภาษีหัก ณ ที่จ่ายเป็นแค่การนำส่งภาษีล่วงหน้า โดยกฎหมายกำหนดให้ผู้จ่ายหักและนำส่งแทนก่อน ซึ่งผู้มีเงินไ้ด้ต้องนำเงินได้นั้นมาเสียภาษี ส่วนภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ถูกหักไป ให้นำมาเครดิตตอนยื่นแบบ
ข้อยกเว้น กรณีภาษีหัก ณ ที่จ่ายนี้ คือ ‘เงินปันผล’ กรณีได้รับเงินปันผลจากบริษัท จะถูกหักภาษีในอัตรา 10% ซึ่งผู้มีเงินได้เลือกได้ว่าจะ 1. หักแล้วจบเลย 2. นำเงินปันผลมารวมคำนวณภาษีปลายปี แล้วนำ ภาษีที่ถูกหักไว้ 10% มาเป็นเครดิตภาษี (กรณีนี้จะคุ้ม ไม่คุ้ม อยู่ที่ฐานภาษี)
อันดับ 2 ของข้อผิดพลาด คือ เคยจด VAT แล้ว แต่ไม่มีรายได้ในแต่ละเดือน จึงไม่นำส่ง ภ.พ.30 ทุกสิ้นเดือน - ผิดเคสแรก แค่สาหัส แต่ผิดเคสนี้ ถึงตาย !!
เมื่อจด VAT แล้ว มีหน้าที่2อย่างที่ต้องทำอย่างเลี่ยงไม่ได้ คือ 1. ออกใบกำกับภาษี เมื่อ Tax Point เกิด 2. นำส่ง ภ.พ.30 ทุกเดือน
แต่ถ้าเดือนนี้ไม่มียอดขายเลย ไม่ได้ออกใบกำกับภาษีสักใบ จะต้องทำอะไรไหม? ‘คำตอบ คือ ยังต้องยื่น ภ.พ.30 ทุกเดือน’ ไม่ได้มีข้อยกเว้นในกฎหมายกำหนดไว้ โดยให้ยื่นแสดงยอดขาย 0 บาท
เคสนี้ เคยมีคนทำผิดพลาด คือเป็นตัวแทนประกัน จึงจด VAT ไว้ ต่อมาเลิกขาย จึงไม่ได้ยื่นภาษีอะไรเลย ผล คือ โดนภาษีย้อนหลัง 5 ปี และไม่มีเงินชำระภาษีอากรค้าง ทำให้โดนอายัดทรัพย์สินทั้งหมด และโดนฟ้องศาลล้มละลาย
2 เคสนี้ เป็นตัวอย่างที่พบเจอบ่อยที่สุด เพจภาษีเจริญจึงไม่อยากให้เพื่อนๆทำผิดกันครับ สุดท้าย ถ้ามีคำถามหรือประเด็นเกี่ยวภาษี พิมพ์ไว้ใน Comment ได้เลยครับ
โฆษณา