15 ต.ค. 2019 เวลา 03:17 • กีฬา
#แทคติคอลฟาล์ว
ในเกมกีฬาทั่วไปย่อมมีกติกาเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายแข่งขันกันอย่างยุติธรรม หากทำผิดกติกาหรือที่เรียกว่าฟาล์ว ก็ย่อมถูกลงโทษไปตามบทบัญญัติของกติกาของกีฬาแต่ละชนิด ฟุตบอลก็เช่นกัน การทำผิดกติกามีหลากหลายรูปแบบ มีทั้งทำผิดโดยที่ไม่ถูกเนื้อต้องตัวฝ่ายตรงข้ามก็มี เช่น ประตูครองบอลนานเกิน 6 วินาที การล้ำหน้า แฮนด์บอล ทุ่มผิด เป็นต้น การฟาล์วลักษณะนี้ไม่ค่อยร้ายแรงเท่าไรนัก ส่วนการฟาล์วที่เกิดจากการกระทบกระทั่งกันระหว่างนักเตะก็จะมีบทลงโทษแตกต่างกันไปตามความรุนแรงหรือผลกระทบที่ตามมา เช่น
#โปรเฟสชั่นนอลฟาล์ว (Professional foul) คือการทำฟาล์วผู้เล่นที่กำลังหลุดเดี่ยวไปดวลกับประตูตัวต่อตัว หากฟาล์วลักษณะนี้สมัยก่อนก็ใบแดงสถานเดียว แต่ปัจจุบันยกเว้นให้ว่าถ้าฟาล์วในเขตโทษต้องเสียจุดโทษด้วยก็จะได้แค่ใบเหลือง แต่ถ้าฟาล์วนอกเขตโทษก็ใบแดงแน่นอน
#ออปสตรั่กชั่นฟาล์ว (Obstruction foul) คือการเจตนาขวางผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม ไม่ว่าผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามจะมีบอลหรือไม่มีบอลก็ตาม สามารถถูกจับฟาล์วในลักษณะนี้ได้ทั้งนั้น เช่น ฝ่ายตรงข้ามกำลังทำชิ่ง 1-2 แล้วผู้เล่นอีกทีมหนึ่งเข้าไปขวางผู้เล่นที่กำลังวิ่งไปรับบอล หรือ ผู้เล่นอีกทีมถูกฝ่ายตรงข้ามแตะบอลหลบไปแล้วจึงเอาตัวขวางไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามวิ่งตามไปเล่นบอลได้ อย่างนี้เรียก obstruction foul
ส่วนที่เราจะพูดถึงกันในวันนี้คือ #แทคติคอลฟาล์ว (Tactical foul) แนวคิดของการฟาล์วในลักษณะนี้ก็คือการหยุดผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามอย่างรวดเร็วเมื่อทีมตนเองเสียบอลในขณะที่ทำเกมบุกอยู่ในแดนฝ่ายตรงข้าม เพื่อหยุดการโต้กลับอย่างฉับพลันหรือที่เรียกว่า counter-attack นั่นเอง เพราะผู้เล่นทีมบุกส่วนใหญ่จะอยู่ในแดนฝ่ายตรงข้ามกันหมดทำให้เสียเปรียบในการป้องกัน การฟาล์วแบบนี้จะเป็นการทำฟาล์วเบาๆ อาจจะเป็นการดึงหรือแซะเบาๆให้เสียจังหวะ แต่ไม่ใช่การเสียบสกัดอย่างรุนแรงเพื่อป้องกันการได้รับใบเหลืองหรือใบแดง และจะเป็นการทำฟาล์วในแดนฝ่ายตรงข้าม เพื่อให้ทีมกลับมาจัดระเบียบเกมรับกันใหม่
ประเด็นเริ่มต้นจากการที่มีรายการหนึ่ง มาถ่ายทำที่สโมสร #แมนเชสเตอร์ซิตี้ และไปได้ยิน มิเกล อาร์เตต้า ผู้ช่วยของเป๊ป กวาดิโอล่า บอกกับลูกทีมของเขาว่า “If there is a transition, make a foul” แปลเป็นไทยในภาษาฟุตบอลที่เข้าใจง่ายๆก็คือ “ถ้าเสียบอลก็ให้ทำฟาล์ว” เรื่องนี้จึงเป็นประเด็นกล่าวหาแมนฯซิตี้อย่างมากมายว่าเล่นแบบนี้มันเหมือนเป็นการเล่นสกปรก โดยใช้คำว่า “Dirty City” กันเลยทีเดียว ทำให้หลายฝ่ายต่างสนใจในประเด็นนี้ไปตามๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นผู้จัดการทีมด้วยกัน ผู้บรรยาย นำโดยแกรี่ เนวิลล์ และอดีตผู้จัดการทีมแมนฯยูฯอย่าง โฆเซ่ มูริลโญ่ หรือแม้แต่อดีตผู้ตัดสินพรีเมียร์ลีกอย่าง มาร์ค แคล็ตเทนเบิร์ก ก็ให้ความสนใจเช่นเดียวกัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มานูเอล เปเยกรินี่ ผู้จัดการทีมเวสต์แฮม คู่แข่งนัดเปิดสนามในฤดูกาลนี้ของแมนฯซิตี้ถึงกับออกมาโวยว่า การทำเกมบุกของลูกทีมของเขามักจะจบลงด้วยการถูกทำฟาล์วอย่างน่าเกลียด โดยในเกมนั้น ซิตี้ทำฟาล์วไปทั้งหมด 13 ครั้ง ซึ่งก็ดูปกติดี แต่ที่ไม่ปกติคือเป็นการทำฟาล์วในแดนของเวสต์แฮมถึง 7 ครั้ง คิดเป็น 53.85% เลยทีเดียว ซึ่งในนัดนั้นเวสต์แฮมก็แพ้ให้กับซิตี้ไปถึง 0-5
ส่วนเป๊ป กวาดิโอล่า ก็ได้ออกมาปฏิเสธไปหลายครั้งแล้วว่า ไม่เคยบอกให้ลูกทีมทำแทคติคอลฟาล์วใส่คู่แข่ง
#บ่นบ้าภาษาบอล จึงขอพาทุกท่านไปดูสถิติในฤดูกาลที่ผ่านมา เพื่อดูว่า แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เป็นอย่างที่ถูกกล่าวหากันจริงหรือไม่ โดยประเด็นที่จะพิจารณามีทั้งหมด 3 ประเด็น คือ (1) จำนวนการทำฟาล์ว (2) เปอร์เซ็นต์การทำฟาล์วในแดนฝ่ายตรงข้าม และ (3) ระยะเวลาในการทำฟาล์วหลังจากเสียการครองบอล
มาเริ่มจากการทำฟาล์วใส่คู่แข่งก่อนเป็นอันดับแรก ฤดูกาลที่แล้ว ซิตี้ทำฟาล์วไปทั้งหมด 328 ครั้ง เกือบจะเรียกได้ว่าน้อยที่สุดในพรีเมียร์ลีกเลยก็ว่าได้ เพราะมีเพียงลิเวอร์พูลทีมเดียวเท่านั้นที่ทำฟาล์วน้อยกว่าพวกเขาคือ 315 ครั้ง แต่เมื่อพิจารณาจากการทำฟาล์วเพียงอย่างเดียวอาจจะดูไม่สมเหตุสมผลสักเท่าไรนัก เพราะซิตี้เป็นทีมที่เน้นการครองบอลเหนือคู่แข่ง ซึ่งในฤดูกาลที่ผ่านมาซิตี้เป็นทีมที่มีเปอร์เซ็นต์การครองบอลสูงที่สุดในลีกที่ 64.0% ในเมื่อคู่แข่งครองบอลได้น้อย โอกาสในการทำฟาล์วของซิตี้จึงน้อยตามไปด้วย
ประเด็นที่สองเปอร์เซ็นต์การทำฟาล์วในแดนฝ่ายตรงข้าม ประเด็นนี้น่าจะบ่งบอกนัยสำคัญบางอย่าง เพราะตรงกับความหมายของ Tactical Foul ที่กล่าวไว้ข้างต้น จากสถิติพบว่า ในฤดูกาลที่แล้วซิตี้ทำฟาล์วในแดนคู่แข่ง 58.84% สูงเป็นอันดับที่ 3 ในลีก ส่วนทีมที่ฟาล์วในแดนคู่แข่งมากกว่าซิตี้คือ ลิเวอร์พูล 63.17% และเบิร์นลี่ย์ 60.28% ตามลำดับ
ถ้าอย่างนั้น ทั้งแมนฯซิตี้ และลิเวอร์พูล ทั้งสองทีมชอบใช้ Tactical Foul นะสิ คำตอบคือ อาจไม่แน่เสมอไปนัก เพราะทั้งสองทีมเล่นเพรสซิ่งสูง มีโอกาสที่จะทำฟาล์วฝ่ายตรงข้ามในแดนคู่แข่งได้ โดยไม่ได้คำนึงว่าทีมเพิ่งจะเสียการครองบอลไปหรือไม่
ดังนั้นเราจึงมาดูประเด็นสุดท้ายกันคือ ระยะเวลาในการทำฟาล์วหลังจากเสียการครองบอล พบว่า โดยเฉลี่ยแล้วแมนฯซิตี้ทำฟาล์วหลังจากเสียการครองบอลไป 8.3 วินาที เป็นอันดับสองของลีกเท่ากับเอฟเวอร์ตันและลิเวอร์พูล ส่วนทีมที่ทำฟาล์วเร็วที่สุดหลังจากเสียการครองบอลคือ อาร์เซน่อล ที่เวลา 8.2 วินาที ถัดจากนี้ไปก็มีเชลซีที่ 8.4 วินาที เซาแธมป์ตัน 8.5 วินาที และสเปอร์ส 8.6 วินาที ส่วนแมนฯยูฯอยู่ที่ 9.3 วินาที เป็นอันดับที่ 10 ในลีก
เมื่อนำเอาประเด็นที่ 2 และ 3 มาพิจารณาร่วมกัน และจะบอกว่าซิตี้เป็นทีมที่เชี่ยวชาญการทำ Tactical Foul ก็อาจจะพูดได้ แต่ก็คงไม่ยุติธรรมนักหากจะกล่าวหาแมนฯซิตี้เพียงทีมเดียว เพราะเมื่อดูจากสถิติแล้วลิเวอร์พูลก็ไม่แตกต่างจากซิตี้เท่าใดนัก
และหากจะกล่าวว่าทีมใดที่ทำ Tactical Foul เป็นทีมที่เล่นสกปรกอย่างที่ซิตี้โดนกล่าวหาว่า “Dirty City” นั้น อันนี้ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะการทำฟาล์วมันเป็นแทคติคหนึ่งของเกมฟุตบอล ถึงแม้ว่า Tactical Foul ดูเหมือนจะให้ผลประโยชน์กับทีมที่ทำฟาล์วมากกว่าทีมที่ถูกทำฟาล์วก็ตาม และถ้าพิจารณาอย่างมีใจเป็นกลางแล้ว ในความเป็นจริงไม่ว่าทีมใดๆ ในโลกใบนี้ ก็ล้วนแต่ต้องมีการตัดเกมคู่ต่อสู้กันทั้งนั้น เพื่อไม่ให้ทีมเสียเปรียบยามเป็นฝ่ายรุกและถูกโต้กลับ ถึงแม้ว่าโค้ชหรือผู้จัดการทีมจะไม่ได้บอกให้ทำ แต่โดยสัญชาตญาณแล้วบางทีก็จำเป็นต้องทำ บางครั้งก็ได้ใบเหลือง ดีกว่าให้กองหน้าทีมคู่แข่งหลุดไป 3 คนและเจอกับเซ็นเตอร์ฮาล์ฟทีมตนเองที่เหลือแค่ 2 คน ซึ่งบางครั้งผู้บรรยายเกมยังบอกเลยว่า ทำถูกแล้วที่ตัดเกมคู่ต่อสู้ไว้ก่อน
ยกตัวอย่างในนัดที่แมนฯซิตี้แพ้นอริช 2-3 ประตูนำ 2-0 ของนอริชมาจากการเจาะโซนเพรสซิ่งหลุดมาได้ หากจังหวะที่โรดรี้โดนกระดกบอลข้ามหัวจังหวะนั้นตัดสินใจดึงผู้เล่นนอริชไว้อาจจะไม่ต้องเสียประตูก็ได้ จากนั้นนอริชจ่ายบอลอีก 2 จังหวะให้ปุ๊กกี้หลุดไปจ่ายให้แคนท์เวลล์ยิงโล่งๆ เข้าไป
แต่ในทำนองกลับกัน การจะไปกล่าวหาว่าทีมที่เล่นจอดรถบัสแล้วรอสวนกลับเป็นพวกขี้ขลาดก็คงไม่ถูกต้องนัก ในเมื่อคุณภาพนักเตะสู้ไม่ได้ การเปิดหน้าแลกก็คงเป็นเหมือนกับการฆ่าตัวตาย ของพวกนี้มันเป็นทั้งกลยุทธ์และแทคติค เหมือนอย่างที่วูล์ฟบุกไปเอาชนะแมนฯซิตี้ได้นั่นแหละ
อย่างที่กล่าวไป Tactical Foul มักจะเกิดกับทีมที่เล่นเกมรุกเป็นหลัก ส่วนทีมใดที่เล่นเกมรับให้แน่นไว้ก่อนแล้วรอโต้กลับ ทีมนั้นก็คงไม่ต้องใช้ Tactical Foul และหากทุกทีมขยันแต่เล่นเกมรับไว้ก่อน แล้วฟุตบอลจะไปสนุกอะไร ในเมื่อทีมที่เน้นแทคติคเกมรับมีรสบัสและเคาน์เตอร์แอทแท็ค (counter-attack) ทีมที่เล่นเกมรุกก็น่าจะใช้ Tactical Foul ได้ ไม่น่ามีปัญหาอะไร
ตราบใดที่ฟีฟ่ายังใช้กฎกติกาแบบปัจจุบันนี้ เราก็ยังต้องเห็น Tactical Foul เป็นส่วนหนึ่งของเกมฟุตบอลต่อไปอย่างแน่นอน
หากฟีฟ่าออกกฎการฟาล์วใหม่ โดยมีบทลงโทษที่หนักขึ้น เพื่อลดการทำฟาล์วในเกมฟุตบอลก็คงจะดีไม่น้อย ลองคิดดูครับเวลานั่งดูฟุตบอลที่ฟาล์วกันทั้งเกม ทำให้เกมหยุดบ่อย ขาดความต่อเนื่อง มันน่าเบื่อขนาดไหน
หากมาลองเทียบการทำฟาล์วของเกมฟุตบอลเทียบกับกีฬาชนิดอื่นๆ แล้ว นับว่า การฟาล์วแบบเบาๆ ของฟุตบอลแทบไม่มีผลอะไรต่อตัวบุคคลหรือทีมเลยก็ว่าได้ ยกเว้นการฟาล์วรุนแรงจนได้รับใบเหลืองหรือใบแดง
ในเกมบาสเกตบอล การฟาล์วไม่ว่าจะเบาหรือรุนแรงจะถูกนับเป็นฟาล์วบุคคลและฟาล์วทีม บุคคลฟาล์วได้ 5 ครั้ง ครั้งที่ 6 ต้องออกจากการแข่งขัน ฟาล์วทีมรวม 8 ครั้งต่อควอเตอร์ ครั้งต่อไปจะโดนชู๊ตลูกโทษ 2 ลูก หรือฟาล์วขณะชู๊ตจะโดนชู๊ตลูกโทษทันที 2 หรือ 3 ลูกขึ้นอยูกับตำแหน่งที่ฟาล์วว่าเป็นเขต 2 หรือ 3 คะแนน เรียกว่า Shooting Foul
ในเกมวอลเล่ย์บอล เทนนิส เทเบิลเทนนิส หากมีการฟาล์วจะเสียแต้มทันที แต่กีฬาประเภทนี้มีการทำแต้มกันเยอะ เสียแค่แต้มเดียวอาจจะส่งผลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ถ้าฟาล์วบ่อยๆก็มีผลเหมือนกัน อย่างเทนนิสหากเสริฟดับเบิ้ลฟอลท์สัก 4 ครั้ง ก็เท่ากับว่ายกเกมเสริฟให้กับคู่แข่งไป 1 เกมเลยทีเดียว
หรืออย่างเกมฮ็อกกี้น้ำแข็ง ถ้ามีการทำฟาล์วผู้เล่นจะถูกลงโทษให้ออกจากการแข่งขันเป็นเวลา 2 หรือ 5 นาทีตามความรุนแรงของการฟาล์ว ทีมที่ถูกทำโทษจะมีผู้เล่นน้อยกว่าฝั่งตรงข้ามตามระยะเวลาที่ถูกทำโทษ แต่หากช่วงที่ถูกทำโทษทีมที่มีผู้เล่นมากกว่าทำประตูได้ ผู้เล่นที่ถูกทำโทษจะได้กลับเข้าสู่สนามทันที อันนี้คล้ายๆกับใบแดงของเกมฟุตซอล
เรื่องกฏกติกานี่ก็ต้องแล้วแต่ฟีฟ่าล่ะครับ
สรุปตามความคิดเห็นของผมแล้ว Tactical Foul มันคือการฟาล์วของทีมที่เล่นเกมรุกเป็นหลัก และเป็นเรื่องปกติของเกมฟุตบอล ถามว่าแมนฯซิตี้ ทำ Tactical Foul บ่อยหรือไม่ ก็คงตอบว่าบ่อย เพราะซิตี้เล่นเกมรุกเป็นหลัก สมควรถูกกล่าวหาว่าเล่นสกปรกรึเปล่า ไม่สมควรหรอกครับ เพราะมันเป็นแทคติคที่ใช้คู่กับการเล่นเกมรุก ทีมอื่นๆ ที่เล่นเกมรุกเป็นหลักก็ทำกันแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็น ลิเวอร์พูล อาร์เซน่อล หรือเชลซี เมื่อดูจากสถิติที่ปรากฏแล้วก็ไม่ต่างกันเท่าไรนัก แต่ที่เป๊ปออกมาปฏิเสธก็เพื่อลดกระแสการโจมตีทีมเสียมากกว่า ทีมแชมป์ก็อย่างนี้แหละครับ ต้องโดนการโจมตีจากทั้งในและนอกสนาม ไม่แน่ว่า หากฤดูกาลนี้ลิเวอร์พูลได้แชมป์ (ซึ่งยังเหลืออีกหลายนัด) กระแสโจมตีอาจตกมาสู่ทีมหงส์แดงก็เป็นได้
หากผู้อ่านมีความคิดเห็นอย่างไร คอมเม้นต์มาคุยกันได้ครับ
#แทคติคอลฟาล์ว #แมนเชสเตอร์ซิตี้
Cr.ภาพ : mancity.com
Cr.เนื้อหา : bbc.com , optasports.com , whoscored.com
………………………………………………………………………………………………..
นอกจากช่องทาง Facebook แล้ว https://www.facebook.com/bonbapasaball/ สามารถติดตามเพจบ่นบ้าภาษาบอลได้จากแอพพลิเคชั่น Blockdit อีกหนึ่งช่องทาง https://www.blockdit.com/bonbapasaball และหากท่านใดไม่มีเวลาอ่านสามารถติดตามฟังได้ที่ “บ่น บ้า ภาษาบอล podcast” ทางแอพพลิเคชั่น Anchor , Spotify , Apple Podcasts , Google Podcasts , Breaker , Pocket Casts และ RadioPublic ขอบคุณครับ
โฆษณา