16 ต.ค. 2019 เวลา 13:00 • ธุรกิจ
ก่อนซื้อหุ้นต้องรู้งบการเงิน ep.4
ในบทความ ตอนที่แล้ว ได้กล่าวถือ งบดุลในฝั่งด้านสินทรัพย์กันไปแล้ว เรามาทบทวนกันอีกหน่อยเพื่อจะได้จดจำได้ว่าหน้าตาเป็นอย่างไรบ้าง
งบดุลด้านหนี้สินและส่วนของผู้ถือหุ้น
ถ้าจำกันได้ว่า เราจะบันทึกในบัญชี สินทรัพย์ เริ่มจาก สินทรัพย์ที่สามารถแปลงเป็นเงินสดได้เร็วจะอยู่ด้านบนสุด แล้วไล่ลงมาจะมีรูปร่างหน้าตาเป็นแบบนี้
งบดุล/สินทรัพย์
หน่วย:ล้านบาท
1.เงินสดและเงินลงทุนระยะสั้น ฿4,208
2.สินค้าคงคลัง 2,220
3.ลูกหนี้การค้า-สุทธิ 3,317
4.ค่าใช้จ่ายล่วงหน้า 2,260
5.สินทรัพย์หมุนเวียนอื่นๆ 0
6.รวม สินทรัพย์หมุนเวียน 12,005
7.ที่ดิน/โรงงาน/เครื่องจักร 8,493
8.ค่าความนิยม-สุทธิ 4,246
9.สินทรัพย์ไม่มีตัวตน-สุทธิ 7,863
10.การลงทุนระยะยาว 7,777
11.สินทรัพย์ไม่หมุนเวียนอื่นๆ 2,675
12.สินทรัพย์อื่นๆ 0
13.รวม สินทรัพย์ ฿43,069
หน้าตาของด้านสินทรัพย์ จะมีหน้าตาโดยรวมเป็นลักษณะแบบนี้ แต่ขึ้นชื่อว่า งบดุล จะต้องมีส่วนของด้านหนี้สินและส่วนของผู้ถือหุ้นมาดุลให้เท่ากันกับสินทรัพย์ จะได้สมการดังนี้
สินทรัพย์ = หนี้สิน+ส่วนของผู้ถือหุ้น
เราจะมาดูส่วนประกอบกันของด้านหนี้สินและส่วนของผู้ถือหุ้นว่าบันทึกรายการอย่างไร และสามารถนำมาตีความในการอ่านงบการเงินในแต่ละบริษัทให้ดีขึ้นได้อย่างไร
ถ้าเรารู้ส่วนประกอบทั้งหมด เราก็พอที่จะรู้ว่าบริษัทต่างๆมีืbusiness model ในการทำธุรกิจอย่างไร หลังจากนั้นเราก็ลองแกะธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ว่า ส่วนใหญ่การเงินเป็นอย่างไร
มาดูในส่วนรายละเอียดของ หนี้สินและส่วนของผู้ถือหุ้นกันต่อเลยครับ
งบดุล / หนี้สิน
หน่วย:ล้านบาท
เจ้าหนี้การค้า ฿1,380
ค่าใช้จ่ายค้างจ่าย 5,535
หนี้ระยะสั้น 5,919
หนี้ระยะยาวที่จะครบกำหนด 133
หนี้สินหมุนเวียนอื่นๆ 258
รวมหนี้สินหมุนเวียน ฿13,225
หนี้ระยะยาว 3,277
ภาษีเงินได้รอตัดบัญชี 1,890
ส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อย 0
หนี้อื่นๆ 3,133
รวมหนี้สิน ฿21,525
ทั้งหมดนี้เป็นส่วนของการบันทึกบัญชีของด้านหนี้สิน เราจะมาตีความแต่รายการว่าเอามาใช้ประโยชน์อะไรได้บ้างครับ
🔜เจ้าหนี้การค้า คือเงินที่บริษัทเป็นหนี้คู่ค้าซึ่งขายสินค้าหรือบริการให้แก่บริษัทด้วยเงินเชื่อ
เช่น เราสั่งซื้อเสื้อผ้า 100 ชุด แล้วผู้ขายส่งสินค้ามาพร้อมบิล/ใบแจ้งหนี้สำหรับเสื้อผ้า 100 ชุด เราเรียกว่า เจ้าหนี้การค้า
🔜ค่าใช้จ่ายค้างจ่าย คือหนี้สินที่บริษัทก่อขึ้นแต่ยังไม่ได้รับใบแจ้งหนี้ ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ รวมถึง ภาษีขายค้างจ่าย เงินเดือนค้างจ่าย และค่าเช่าค้างจ่าย
🔜หนี้อื่นๆ คือหนี้ระยะสั้นเบ็ดเตล็ดที่ไม่อาจจัดเข้าในหนี้หมวดใดหมวดหนึ่งด้านบน
🔜หนี้ระยะสั้น คือเงินที่บริษัทติดหนี้และจะครบกำหนดชำระภายใน 1 ปี
🔜หนี้ระยะยาวที่จะครบกำหนด จะต้องชำระคืนภายในปีนั้น
กฎคือ บริษัทที่มีการแข่งขันอย่างยั่งยืน จะต้องไม่มีหนี้ระยะยาวครบกำหนด เพราะจะนำไปสู่ปัญหากระแสเงินสดในอนาคตได้
เมื่อรวมทั้งหมดแล้วจะได้หนี้สินหมุนเวียนซึ่งเราสามารถนำเอาสินทรัพย์หมุนเวียนมาหารหนี้สินหมุนเวียน เพื่อดูสภาพคล่องในการหมุนเงินได้นั้นเอง
🔜หนี้ระยะยาว คือหนี้ที่ครบกำหนดหลังจาก 1 ปีขึ้นไป
วอร์เรน บัฟเฟตต์ ค้นพบว่าบริษัทที่ยอดเยี่ยมนั้นส่วนใหญ่ แล้วจะหนี้ระยะยาวน้อยหรือไม่มีเลย เนื่องจากธุรกิจสามารถหารายได้มากจนไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินนั้นเองครับ
เราสามารถเอา กำไรสุทธิ มาเทียบดูกับหนี้ระยะยาว ถ้าสามารถชำระได้ไม่เกิน 4 ปี แสดงว่ากำไรสุทธิของบริษัทมีความได้เปรียบในเชิงการแข่งขันครับ
🔜ภาษีเงินได้รอตัดบัญชี คือภาษีที่ต้องชำระแต่บริษัทยังไม่ได้ชำระ ตัวเลขนี้บอกอะไรไม่ได้มากนักสำหรับความได้เปรียบของบริษัทที่มีการแข่งขันอย่างยั่งยืน
🔜ส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อย
เป็นส่วนที่พิจารณาน้อยเราจะข้ามไป
🔜หนี้อื่นๆ เป็นเบ็ดเตล็ด ก็เช่นกันที่พิจารณาน้อยเราก็ข้ามไป
🔜หนี้สินรวม คือหนี้สินทั้งหมดของบริษัืท ซึ่งเป็นตัวเลขสำคัญที่นำมาคำนวณ
อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น =ยอดรวมหนี้สิน / ส่วนผู้ถือหุ้น
บริษัทที่มีความได้เปรียบเชิงแข่งขันอย่างยั่งยืน จะมีอัตราส่สนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ไม่เกิน .80
ต่อไปเราจะมาดูส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นว่ามีรายการอะไรที่จะบันทึกบัญชีและสามารถตีความได้อย่างไร
งบดุล/ส่วนของผู้ถือหุ้น
หน่วย:ล้านบาท
รวมหนี้สิน ฿31,525
หุ้นบุริมสิทธิ์ 0
หุ้นสามัญ 880
ส่วนเกินมูลค่าหุ้น 7,378
กำไรที่ยังได้จัดสรร 36,235
หุ้นซื้อคืน-หุ้นสามัญ -23,375
ทุนอื่นๆ 626
รวมส่วนของผู้ถือหุ้น 21,744
รวมหนี้สินและส่วนผู้ถือหุ้น ฿43,269
โดยปกติหากบริษัท ที่ระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้บริษัท จะต้องชำระคืนในเวลาใดเวลาหนึ่งในอนาคต แต่ถ้าบริษัทระดมเงินด้วยการจำหน่ายหุ้นบุริมสิทธิ์หรือหุ้นสามัญ บริษัทจะไม่ต้องจ่ายคืน
หุ้นสามัญเป็นตัวแทนของความเป็นเจ้าของ มีสิทธิ์ได้รับเงินปันผล
🔜หุ้นบุริมสิทธิ์ เป็นหุ้นที่ไม่สามารถออกเสียงได้เหมือนหุ้นสามัญ แต่มีสิทธิ์ได้รับเงินปันผลคงที่ ก่อนหุ้นสามัญ และในกรณี บริษัทจะล้มละลาย หุ้นบุริมสิทธิ์ จะได้รับการเงินก่อนหุ้นสามัญครับ
ส่วนเกินมูลค่าหุ้น
หากบริษัทมีราคาที่ตราไว้ ที่ 1 บาทต่อหุ้น และขายให้สาธารณชนที่ ราคา 10 บาทต่อหุ้น ราคาที่บันทึกในงบดุล จะบันทึก หุ้นสามัญ 1 บาทต่อหุ้น และ บันทึก 9 บาท ในส่วนเกินมูลค่าหุ้นครับ
🔜🔜เมื่อบริษัทมีกำไรอาจจะมีนำมาจ่ายเงินปันผล หรือซื้อหุ้นคืน หรือสะสมเงินเพื่อขยายกิจการต่อไป หากกำไรถูกเก็บไว้ในธุรกิจ จะถูกบันทึกไว้ในบัญชี ที่เรียกว่า "กำไรที่ยังไม่ได้จัดสรร"
กำไรที่ยังไม่ได้จัดสรรเป็นตัวเลขสะสม ซึ่งหมายความว่ากำไรที่ยังไม่ได้จัดสรรใหม่ของแต่ละปีิื จะถูกนำไปรวมเข้าในกำไรที่ยังไม่ได้จัดสรรที่มาจากปีก่อนหน้าทั้งหมด
แต่ขณะเดียวกัน หากบริษัทขาดทุน จำนวนที่ขาดทุนก็จะถูกนำไปหักออกจากยอดสะสมในอดีตด้วย หากบริษัืทขาดทุนมากกว่าที่สะสมไว้ บัญชีกำไรที่ยังไม่ได้จัดสรรก็จะแสดงค่าติดลบครับ
กำไรที่ยังไม่ได้จัดสรร ถือเป็นตัวเลขที่บ่งบอกการเจริญเติบโต ของกำไร ยิ่งอัตราการเติบโตขึ้นทุกปี แสดงว่า ธุรกิจสามารถเอาผลกำไรไปต่อยอดธุรกิจได้ดีด้วยครับ
-หุ้นซื้อคืน เป็นที่บริษัทได้ซื้อหุ้นคืน ถือเป็นเคล็ดลับที่บัฟเฟตต์ ใช้ในการสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้น ยิ่งบริษัทซื้อหุ้นคืน จะทำให้สัดส่วนหุ้นลดลง และทำให้ผู้ถือหุ้นได้รับผลตอบแทนมากขึ้นครับ
บริษัทที่มีการแข่งขันอย่างยั่งยืนมักสร้างผลกำไรจำนวนมาก และมักเอาเงินมาซื้อหุ้นคืน
ก็จะรวมออกมาเป็นส่วนของผู้ถือหุ้น เราจะนำมาใช้ในการคำนวณตัวเลขที่บัฟเฟตต์ใช้บ่อยมากนั้นก็คือ roe อัตราผลตอบแทนของผู้ถือหุ้น
มีสมการดังนี้
roe = กำไรสุทธิ/ ส่วนของผู้ถือหุ้น
ยิ่งถ้าตัวเลขนี้มีอัตราสูงสม่ำเสมอ ในช่วง 5-10 ปี บริษัทน่าจะมีความได้เปรียบอะไรบางอย่างครับ
ก็เป็นงบดุลที่อยู่ในฝั่งของด้านหนี้สินและส่วนของผู้ถือหุ้น ว่ามีองค์ประกอบอะไรบ้าง สามารถตีความการนำไปใช้อย่างไร ซึ่งทั้งหมดนี้ เราจะต้องเอาหลักการเหล่านี้ไปลองตีความในบริษัทต่างๆเพื่ิอให้เกิดความชำนาญ และพยายามเชื่อมโยงตัวเลขในงบกำไรขาดทุนและงบดุลครับ
ในบทความต่อไปเราจะมาพูดในส่วนของงบกระแสเงินสด เพื่อเป็นปิด ซีรีส์ การตีความงบการเงิน กันครับ
หวังว่าซีรีส์ ก่อนซื้อหุ้นต้องรู้งบการการเงิน จะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย ถ้าชอบกด like ถ้าใช่กด share ฝากติดตามด้วยนะครับ เป็นกำลังใจให้แอดด้วยเด้อ ^^
reference
-www.set.or.th
-วอร์เรน บัฟเฟตต์ กับการตีความงบการเงิน
ช่องทางการติดตาม:twintrade เล่าหุ้นให้มันง่าย

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา