16 ต.ค. 2019 เวลา 14:30 • บันเทิง
อีกหนึ่งเรื่องก็อปปีเพลงดัง เมื่อเลดี กากา ถูกกล่าวหาว่าก็อปปีเพลงชาวบ้านมาปั้นเป็น “Shallow”
​กลายเป็นแฟชันไปแล้วในช่วงนี้ ยามนี้ กับการฟ้องร้องเหล่าศิลปินดังๆ เจ้าของเพลงฮิตมากมายว่า ทำการก็อปปีเพลงโน้น-นี้-นั้น มาแต่งเป็นเพลงของตัวเอง และศิลปินรายล่าสุดที่มีแววว่าจะได้ขึ้นโรงขึ้นศาลในเรื่องนี้ก็คือ เลดี กากา
​โดยนักร้อง- นักแต่งเพลงที่แทบไม่มีคนรู้จักอย่าง สตีฟ รอนสัน ออกมาขู่ศิลปินดังระดับซูเปอร์สตาร์ เลดี กากา ว่าจะฟ้องศาล โดยอ้างว่าเพลงฮิตระดับรางวัลของเธอ “Shallow” ที่อยู่ในหนัง A Star Is Born ฉบับล่าสุดที่กำกับโดยแบรดลีย์ คูเปอร์ ก็อปปีบางส่วนของเพลงที่เขาโพสท์ขึ้นบนเว็บซาวนด์คลาวด์เมื่อปี 2012 มา
​รอนสันอ้างว่า “Shallow” ที่แต่งโดยกากา กับมาร์ค รอนสัน (ที่ไม่ได้เป็นอะไรกันกับเขา), แอนดรูว์ วาแอ็ทท์ และแอนโธนี รอสโซแมนโด มีโครงสร้างทางดนตรีร่วมกันกับเพลง “Almost” ของเขา รอนสันเผยด้วยว่า เขากำลังตรวจสอบด้วยว่ากากาละเมิดผลงานของเขาได้ยังไง พร้อมเสริมอีกว่า เขาได้คุยกับผู้เชี่ยวชาญทางด้านดนตรีบางคนแล้ว ซึ่งหลายๆ คนก็เห็นพ้องกับการประเมินในเบื้องต้นของเขาว่า ทั้งสองเพลงมีความคล้ายคลึงกัน
​ไม่น่าแปลกใจที่งานนี้กากาจะออกมาปฏิเสธคำกล่าวหา และไม่ใช่แค่นั้น โอริน สไนเดอร์ ตัวแทนทางกฎหมายของเธอ นอกจากจะปฏิเสธเหมือนกันแล้ว ก็ยังออกมาบอกด้วยว่า ทางรอนสันพยายามหาประโยชน์จากความสำเร็จของ “Shallow” พร้อมทั้งบอกอีกว่า คำกล่าวหาของรอนสันมัน “น่าอายและไม่ถูกต้อง” โดยเขาแนะนำให้กากาต่อสู้เพื่อตัวเธอเองและบรรดาศิลปินที่ประสบความสำเร็จคนอื่นๆ ที่โดนปรักปรำอย่างผิดๆ ผ่านการเรียกร้องแบบฉวยโอกาส
​สไนเดอร์เสริมอีกว่า ถ้ารอนสันตัดสินใจฟ้องศาล พวกเขาจะไม่เพียงสู้คดีอย่างจริงจังเท่านั้น แต่จะต่อสู้จนถึงที่สุดอีกด้วย
​ก่อนที่จะไปถึงตรงนั้น โดยปกติแล้วทางทนายของทั้งสองฝ่ายก็ต้องมีการเจรจากันก่อน ซึ่งทางรอนสันเองก็ต้องชั่งน้ำหนักความเสี่ยงให้ดี หากนำคดีไปต่อสู้กันถึงในศาล
​แล้วไม่ใช่แค่เตรียมรับมือกับเรื่องราวที่อาจจะขยับขยายไปอีกไกล สไนเดอร์ยังจ้างผู้เชี่ยวชาญทางดนตรีมาทำการเปรียบเทียบทั้งสองเพลงด้วย ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมานั้น สไนเดอร์บอกว่า บรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างพบว่าทั้งสองเพลงไม่ได้มีความคล้ายคลึงกัน ในระดับที่ทำสามารถนำไปเป็นคดีความกันได้
​นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญกลุ่มเดียวกัน ยังยืนยันด้วยว่า โครงสร้างทางดนตรีของทั้งสองเพลง ต่างก็ใช้สิ่งที่อยู่ในการทำเพลงมานานแล้วทั้งคู่
​ยิ่งไปกว่านั้น สไนเดอร์ยังเสริมอีกว่า ผู้เชี่ยวชาญทางดนตรีของรอนสันเอง ก็ยอมรับเหมือนกันว่า โครงสร้างทางดนตรีในเพลงของรอนสันนั้น เป็นสิ่งที่มีมาก่อนหน้าที่เพลงของเขาจะถูกแต่งขึ้นด้วยซ้ำ
​ไม่น่าแปลกใจที่การกล่าวหาของรอนสัน เกิดขึ้นในช่วงไล่เลี่ยกับที่มีการพิจารณาคดีเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์ของแคตี เพอร์รีซูเปอร์สตาร์อีกคนของวงการเพลงพอดี โดยเมื่อต้นเดือนสิงหาคมทางคณะลูกขุนพบว่า เพอร์รีและผู้ร่วมแต่งเพลงฮิตของเธอเมื่อปี 2013 “Dark Horse” มีความผิดฐานก็อปปีเพลง “Joyful Noise” เพลงแร็ปของแฟลม - คริสเตียนแร็ปเปอร์ จากปี 2009 ทำให้นักร้องสาวต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับโจทก์เป็นจำนวนเงินราวๆ 2.78 ล้านเหรียญ ซึ่งน่าจะเป็นแรงกระตุ้นหนึ่งที่ทำให้รอนสันออกมาเดินหน้าเรื่องราวของตัวเอง
​งานนี้คงต้องดูกันว่าจะจบลงแบบเงียบๆ หรือไปกันต่อถึงศาล
โดย นพปฎล พลศิลป์ เรื่อง อีกหนึ่งเรื่องก็อปปีเพลงดัง เมื่อเลดี กากา ถูกกล่าวหาว่าก็อปปีเพลงชาวบ้านมาปั้นเป็น “Shallow” คอลัมน์ ดนตรีมีเหตุ หนังสือพิมพ์ ไทยโพสท์ วันที่ 15 สิงหาคม 2562
อ่านแล้วชอบ อย่าลืมกดติดตาม และยังมีเรื่องราวมากมายให้อ่านได้ที่ www.sadaos.com และทำความรู้จักกันได้มากกว่านี้ด้วยการกดไลค์เพจ www.facebook.com/Sadaos
เมื่อแคตี เพอร์รีถูกกล่าวหาว่าขโมยเพลงชาวบ้าน เรื่องราวเป็นยังไง อ่านได้ที่นี่ https://www.blockdit.com/articles/5da510a3f5f84f5ec1ce9dd3
โฆษณา