Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
อาจวรงค์ จันทมาศ
•
ติดตาม
16 ต.ค. 2019 เวลา 03:33 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
อาณาจักรฟังไจ : ผู้ย่อยสลายสำคัญของโลกใบนี้
(เรียบเรียงโดย ดร.มิติ เจียรพันธุ์)
ถ้าวางขนมปังทิ้งไว้หลายๆวัน เราจะเห็นจุดสีดำๆและอาจมีเส้นฟูปุกปุยขึ้นบนขนมปังนั้น หรือถ้าเราหั่นผลไม้ใส่กล่องทิ้งไว้ บางครั้งก็อาจจะมีกลิ่นแอลกอฮอล์โชยออกมา
สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะสิ่งมีชีวิตเล็กๆในอาณาจักร ฟังไจ (Fungi) ซึ่งเป็นกลุ่มสิ่งมีชีวิตที่มีสมาชิกทั้งเห็ด รา และยีสต์
นักวิทยาศาสตร์จัดให้เห็ดที่เราทานกันเป็นกลุ่มเดียวกับเชื้อราบนอาหารหรือราที่ก่อโรคผิวหนัง และยังเป็นกลุ่มเดียวกับยีสต์ที่ใช้ทำขนมปังหรือหมักผลไม้จนได้แอลกอฮอล์ด้วย
พวกมันล้วนใช้สปอร์ในการสืบพันธุ์ โดยภายในสปอร์จะมีชิ้นส่วน DNA อยู่ เมื่อมันลอยไปตกที่บริเวณเหมาะสมก็งอกขึ้นมา
เซลล์ของฟังไจเป็นแบบยูคาริโอต (Eukaryote) ซึ่งเป็นเซลล์ที่มีเยื่อหุ้มนิวเคีลยสอีกทำให้ฟังไจคล้ายกับเซลล์สัตว์กับเซลล์พืชซึ่งเป็นยูคาริโอตเหมือนกัน มากกว่าเซลล์แบคทีเรียที่เป็นแบบโพรคาริโอต (Prokaryote)
แล้วฟังไจคล้ายพืชหรือสัตว์มากกว่ากันล่ะ?
ถ้าดูลักษณะภายนอก ฟังไจนั้นส่วนใหญ่เกาะอยู่กับที่และมีผนังเซลล์ จึงไม่แปลกหากจะตอบว่าฟังไจคล้ายพืชมากกว่า แต่ทั้งสัตว์ทั้งฟังไจต่างก็สร้างอาหารเองไม่ได้ ต้องอาศัยแหล่งอาหารจากภายนอก (เราเรียกสิ่งมีชีวิตที่สร้างอาหารเองไม่ได้ว่า Heterotroph) ผนังเซลล์ของฟังไจยังมีไคตินที่พบในสัตว์แต่ไม่พบในพืช ในแง่หนึ่งฟังไจจึงใกล้เคียงกับสัตว์มากกว่าพืช
ในเมื่อฟังไจสร้างอาหารเองไม่ได้ เคลื่อนที่ก็ไม่ได้ ฟังไจจึงต้องกินอาหารจากพื้นที่มันเกาะอยู่ สิ่งที่ฟังไจทำก็คือสร้างเอนไซม์แล้วปล่อยออกมาภายนอก จากนั้นดูดสารอาหารที่ได้กลับเข้าไป
เอนไซม์หรือน้ำย่อยของฟังไจมีความจำเพาะ ขึ้นอยู่กับชนิดของฟังไจว่าผลิตเอนไซม์แบบใด ซึ่งอาจเป็นเอนไซม์ที่ย่อยชิ้นส่วนของพืช อย่างเซลลูโลสกับลิกนิน หรือบางส่วนของสัตว์ เช่น ไคตินกับเคราติน
ลักษณะการการดำรงชีวิตของฟังไจทำให้มันมีหน้าที่สำคัญของระบบนิเวศ คือเป็น “ผู้ย่อยสลาย” ที่ช่วยย่อยซากสิ่งมีชีวิตที่ตายแล้ว และรีไซเคิลสารอาหารเหล่านั้นกลับสู่ระบบนิเวศอีกครั้ง มีพืชและสาหร่ายหลายชนิดอยู่ร่วมกับฟังไจแบบพึ่งพาอาศัยกัน โดยพืชจะสร้างอาหารให้ฟังไจ ส่วนฟังไจก็ช่วยให้พืชมีน้ำและแร่ธาตุใช้
ผู้ย่อยสลายมีความสำคัญกับระบบนิเวศมาก หากขาดผู้ย่อยสลาย ซากสิ่งมีชีวิตจะทับถมกันโดยไม่เน่าเปื่อย และแร่ธาตุในดินจะลดน้อยลงโดยที่ไม่มีการหมุนเวียนกลับลงไป ทำให้ดินขาดธาตุอาหารในที่สุด นอกจากนี้ฟังไจยังทำให้ดินยึดเกาะกันเป็นกลุ่มก้อนได้ด้วยเส้นใย ซึ่งอาจมีมากถึง 24% ของปริมาตรดินเลยทีเดียว
ความสำคัญที่อาจทำให้หลายคนแปลกใจก็คือ สปอร์ของฟังไจที่ลอยในอากาศนั้นมีส่วนช่วยให้ไอน้ำเกาะตัวกันจนเป็นเม็ดฝนได้ดีขึ้น! และเมื่อฝนตกมากระทบฟังไจที่มีสปอร์พร้อมใช้งาน สปอร์เหล่านั้นก็หลุดลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศเป็นวัฏจักรต่อไป
แม้ว่าสปอร์จะไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ช่วยให้ไอน้ำควบแน่นลงมาเป็นฝน ยังมีฝุ่น หรือแบคทีเรียในอากาศที่ทำหน้าที่นี้ได้ แต่สปอร์ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดฝน หากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปจนทำให้ฝนตกในป่าน้อยลง (ซึ่งในป่ามีฟังไจจำนวนมาก) สปอร์ที่ลอยกลับขึ้นไปก็น้อยลง ย่อมส่งผลต่อการตกของฝนได้
กล่าวได้ว่านอกจากจะเป็นเห็ดในหม้อต้มยำและในเกมมาริโอ้แล้ว นับว่าฟังไจมีความสำคัญต่อโลกของเราอย่างยิ่ง
อ้างอิง
The Fungi Amongi Are the Great Decomposers
https://science.howstuffworks.com/life/cellular-microscopic/fungi.htm
Fungi: Ecological Importance and Impact on Humans
https://onlinelibrary.wiley.com/doi/abs/10.1002/9780470015902.a0000369.pub2
Made by Rain, Mushrooms Also Make It
https://blogs.scientificamerican.com/artful-amoeba/made-by-rain-mushrooms-also-make-it/
11 บันทึก
69
4
6
11
69
4
6
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย