16 ต.ค. 2019 เวลา 10:01 • การศึกษา
"ภาษาไทย" ไม่ใช่เรื่องยาก ตอนที่ 1 กำเนิดอักษรไทย
เมื่อปี พ.ศ. 2376 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะยังทรงผนวชได้เสด็จประพาสนมัสการเจดีย์สถานต่างๆ ทางเมืองเหนือ
ทรงพบศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงพร้อมแท่นมนังคศิลา ที่เนินปราสาทเก่าเมืองสุโขทัย มีลักษณะเป็นแท่นศิลารูปสี่เหลี่ยม มียอดแหลมมน สูง 1 เมตร 11 เซนติเมตร มีจารึกทั้ง 4 ด้าน สูง 59 เซนติเมตร กว้าง 35 เซนติเมตร ด้านที่ 1 และด้านที่ 2 มี 35บรรทัด ด้านที่ 3 และ 4 มี 27 บรรทัด
ศิลาจารึกนี้นับเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ที่ใช้อ้างอิงได้ว่า รูปอักษรไทยได้ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 1826
จากข้อความจารึกตอนหนึ่ง บนด้านที่ 4 บรรทัดที่ 8-11 ความว่า “เมื่อก่อนลายสือไทยนี้บ่มี ๑๒๐๕ ศก ปีมะแม พ่อขุนรามคำแหงหาใคร่ใจในใจ แลใส่ลายสือไทยนี้ ลายสือไทยนี้จึ่งมีเพื่อขุนผู้นั้นใส่ไว้....”
จากข้อความดังกล่าวบ่งชัดว่าก่อนปีพ.ศ. 1826 ไม่เคยมีรูปอักษรไทยมาก่อน พ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้ทรงคิดประดิษฐ์รูปอักษรไทยขึ้นนับแต่พุทธศักราชนั้น ซึ่งพระองค์ทรงกำหนดให้รูปอักษรแตกต่างไปจากรูปอักษรโบราณอื่นๆ ที่มีใช้มาก่อน และเรียกตัวอักษรไทยนั้นว่า“ลายสือไทย” พระองค์ทรงกำหนดให้อักษรแต่ละตัวแยกกันเป็นอิสระ วางรูปสระไว้หน้าพยัญชนะอยู่ในแนวเดียวกัน พร้อมกับมีวรรณยุกต์กำกับการออกเสียงตามคำศัพท์ภาษาไทย มีพยัญชนะ 39 รูป สระ 20 รูป วรรณยุกต์ 2 รูป รวมทั้งหมด61 รูป
เปรียบเทียบอักษรไทยปัจจุบัน กับ สมัยสุโขทัย
นับจากอดีตถึงปัจจุบัน มีเพียงหลักศิลาจารึกเพียงหลักเดียวเท่านั้นที่ค้นพบว่ามีรูปอักษรไทยแบบที่พ่อขุนรามคำแหงทรงประดิษฐ์ขึ้นในปีพ.ศ. 1826 ส่วนจารึกหลักอื่นๆ ที่จารึกขึ้นในสมัยสุโขทัย จะมีระยะเวลาห่างออกไปประมาณ 60-70 ปี ซึ่งรูปแบบอักษรได้เปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่บางตัวยังคงรูปเดิม นอกจากนี้การจารึกรูปอักษรต่างๆ มิได้คงไว้แต่บนหลักศิลาแต่ยังมีการจารึกบนแผ่นหินรูปอื่นๆ เช่น จารึกวัดสรศักดิ์ พ.ศ. 1960 บนแผ่นหินรูปใบเสมา
ตลอดช่วงพุทธศตวรรษที่ 20-21 การแพร่ขยายอารยธรรมของอาณาจักรสุโขทัยไปสู่อาณาจักรล้านนา ทำให้รูปอักษรได้เปลี่ยนแปลงและวิวัฒนาการไปเป็นรูปอักษรอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า อักษรไทยล้านนา ส่วนอาณาจักรศรีอยุธยาก็ได้รับอิทธิพลรูปอักษรที่วิวัฒนาการมาเป็นรูปอักษรไทยปัจจุบัน ซึ่งประกอบด้วยพยัญชนะ 44 รูป สระ 26 รูป วรรณยุกต์ 4 รูป (5 เสียง) รวมทั้งหมด 74 รูป ซึ่งสระและวรรณยุกต์ไม่ได้อยู่ในแนวเดียวกับพยัญชนะอีก มีทั้งที่อยู่หน้า หลัง ด้านบน และด้านล่างของพยัญชนะ
ขอขอบคุณเนื้อเรื่องและภาพถ่ายจาก
องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) สำนักงานพื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย - ศรีสัชนาลัย - กำแพงเพชร (อพท.๔)
โฆษณา