18 ต.ค. 2019 เวลา 03:19
🇯🇵 “จิโจะ-เคียวโจะ-โคโจะ” ⛑
3 หัวใจ เบื้องหลังการรับมือภัยพิบัติญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นตั้งอยู่ในจุดที่เผชิญภัยพิบัติทางธรรมชาติอยู่เสมอๆ ทั้งแผ่นดินไหวและพายุจากมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้เกิดความคิดเกี่ยวกับการป้องกันภัยในชุมชนขึ้น ครั้งแรกในสมัยนารา หรือประมาณ 1,300 ปีก่อน และพัฒนาจนครบถ้วนขึ้นได้สำเร็จในปลายสมัยเอโดะ หรือประมาณ 400 ปีก่อน
แม้ระหว่างทางแนวคิดนี้จะลดบทบาทลง ไปเน้นพึ่งพาความช่วยเหลือจากรัฐ แต่หลังเกิดภัยพิบัติ “ฮันชินอาวะจิ” แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ขนาด 7.2 ริกเตอร์ที่เมืองโกเบ ในปี 1995 (24 ปีก่อน) คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 6,000 คน เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้สังคมหันมาให้ความสนใจการจัดการภัยพิบัติใหม่อีกครั้ง
โดยพบว่าครั้งนั้น ประชาชนร้อยละ 67 รอดชีวิตได้จากการช่วยเหลือตัวเอง ร้อยละ 31 รอดชีวิตได้จากการช่วยเหลือของเพื่อนบ้าน (ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน) และมีเพียงร้อยละ 2 ที่รอดชีวิตจากการช่วยเหลือของภาครัฐ ทำให้แนวคิด “จิโจะ-เคียวโจะ-โคโจะ” กลายเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ชุมชนอยู่รอดเมื่อเกิดภัยพิบัติ มาดูกันว่า 3 หัวใจสำคัญนี้คืออะไร?
🔹จิโจะ (自助) #การช่วยเหลือตนเอง”
ประชาชนต้องติดตามประเมินสถานการณ์และเตรียมพร้อมรับมือเองด้วย
▪️เตรียมถุงยังชีพอย่างน้อย 3 วัน
▪️ร่วมซ้อมรับมือภัยพิบัติอย่างเคร่งครัด
▪️ ติดตั้งอุปกรณ์ในบ้านให้เหมาะสม โดยพบว่าร้อยละ 80 ของผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวเมืองโกเบ เกิดจากผนังและเครื่องเรือนล้มทับร่าง
🔹 เคียวโจะ (共助) #การช่วยเหลือกันและกัน
เมื่อเกิดภัยพิบัติ เส้นทางจราจรมักถูกตัดขาดทำให้ภาครัฐไม่สามารถเข้าช่วยเหลือได้ทันที การช่วยเหลือกันเองระหว่างเพื่อนบ้านและชุมชนจึงทำได้เร็วกว่า จึงมีการส่งเสริมสัมพันธภาพในชุมชนเสมอ จัดกิจกรรมทำร่วมกัน ให้มีความรักสามัคคีกันมากขึ้น อย่างปัจจุบันมีการจัดวันร่วมกันเก็บขยะ จัดวันรณรงค์เฝ้าระวังอัคคีภัยในชุมชน ผลัดเวรกันไปช่วยเหลือเด็กนักเรียน ผู้ชรา ผู้พิการข้ามถนน เป็นต้น
🔹โคโจะ (公助) #การช่วยเหลือจากภาครัฐ
การช่วยเหลือจากภาครัฐนั้นเป็นส่วนที่เข้าถึงช้าที่สุด เพราะช่วงแรกรัฐต้องให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่เร่งด่วนร้ายแรงถึงชีวิตก่อน หลังจากนั้นการช่วยเหลือเต็มรูปแบบในส่วนอื่นๆจะตามมาเฉลี่ย 3 วันหลังเกิดภัยพิบัติ บทบาทการเตรียมตัวของรัฐ เช่น
▪️วางแผนรับมือและป้องกันอย่างต่อเนื่อง
▪️พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ขุดลอกคูคลอง เสริมแนวกั้นน้ำ
▪️กำหนดศูนย์ช่วยเหลืออพยพ แนวทางและอุปกรณ์ช่วยเหลืออย่างชัดเจน
▪️ให้ความรู้ภัยพิบัติกับประชาชนผ่านสื่อต่างๆอย่างต่อเนื่อง
▪️บังคับองค์กรปกครองท้องถิ่นจัดทำแผนที่เสี่ยงภัยและแนวทางการหนีภัยเผยแพร่สู่ประชาชน
นอกจาก 3 หัวใจสำคัญนี้ การบริหารจัดการภัยพิบัติญี่ปุ่นยังครอบคลุมทั้ง ป้องกัน-ตอบโต้-ฟื้นฟู พัฒนากฎหมายสม่ำเสมอ วางแผนจัดการนโยบายรับมือโดยกระจายหน้าที่ไปตามองค์กรทั้งส่วนกลาง ท้องถิ่น เอกชน มีวิจัยและพัฒนาต่อเนื่อง ฝึกซ้อมรับมือภัยพิบัติ และส่งเสริมการมีจิตร่วมสาธารณะ
จะเห็นได้ว่าการรับมือภัยพิบัติญี่ปุ่นถูกวางรากฐานมายาวนานและอยู่ในทุกอนูของโครงสร้างสังคม ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยผู้ใหญ่ จึงสำเร็จได้ด้วยความร่วมมือของทุกฝ่าย และหากไทยเราต้องการประสบความสำเร็จบ้าง ต้องมีความตั้งใจและจริงใจในการแก้ปัญหามากกว่านี้
1
บ้านเราแม้ไม่หนักเท่าญี่ปุ่น แต่ก็ผ่านภัยพิบัติมาไม่น้อย ทั้งพายุ น้ำท่วม ภัยแล้ง pm2.5 เรามีโอกาสได้เรียนรู้กันมามากพอแล้ว แต่ไม่เคยปรับวิกฤตไปเป็นนโยบายแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ทุกครั้งแก้ปัญหาแบบเอาตัวรอดไปที มาครั้งใหม่ค่อยว่ากัน ปัดปัญหารอคาไว้ที่อนาคต
คือ... ถึงคุณจะใช้งบประมาณมาก ไม่มีใครเค้าว่าหรอกครับ ถ้ามันแก้ปัญหาและได้ประโยชน์ถึงประชาชนจริงๆ ภาษีคนญี่ปุ่นเค้าแพง เค้าโดนเก็บกันเยอะแยะ แต่ไม่มีใครบ่น เพราะสิ่งที่ได้กลับมามันเป็นชิ้นเป็นอันครัว
ฟังข่าวรัฐมนตรีคลังบ้านเค้าใช้เวลาแค่ 1 วัน ประกาศอนุมัติงบประมาณช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันที 5 แสนล้านเยนหรือ 1 แสนสี่หมื่นล้านบาท ไม่พอขอเพิ่มได้
‼️ย้ำ อนุมัติ “ทันที”‼️1 แสนสี่หมื่นล้านบาท ‼️
‼️ย้ำ “ไม่พอขอเพิ่มได้” ‼️
* ขอบคุณข้อมูลจากสำนักข่าว THE STANDARD
📌ฝากดไลค์กดติดตามให้ด้วยน้า❤️🙏🏻🇹🇭🇯🇵
#มิสเตอร์แมท
โฆษณา