18 ต.ค. 2019 เวลา 12:09 • ธุรกิจ
หากความสำเร็จดีใจได้วันเดียว
แล้วความล้มเหลวเสียใจได้กี่วัน?
2
ต้องถือว่า คุณสุทธิชัย หยุ่น ยังไม่ทิ้งลาย ถามคุณธนินท์ในงานเปิดตัวหนังสือ เป็นคำถามปิดท้ายของงาน…
หลายๆ ท่านน่าจะทราบคำตอบแล้ว ว่าคุณธนินท์ตอบว่า “ความล้มเหลวเสียใจได้กี่วัน”
แต่เราลองไปย้อนดูความล้มเหลวที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเจ้าสัวธนินท์กันดีกว่า เหตุการณ์นั้นก็คือ “วิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540”
ในสมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ (พ.ศ.2531-2534) ในยุคทีญี่ปุ่นย้ายฐานการลงทุนมาไทย เศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจดาวรุ่ง คาดว่าจะเป็น “เสือตัวที่ 5 แห่งเอเชีย” สมัยนั้นรัฐบาลได้เปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนไทยร่วมลงทุนในโครงการ “ขยายโครงข่ายโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมาย” ในปี พ.ศ.2533
ทางคุณธนินท์พิจารณาไตร่ตรองข้อมูล โดยในตอนนั้น ไต้หวัน และเกาหลี มีโทรศัพท์ 1 เลขหมายต่อประชาชน 3 คน มาเลเซีย มีโทรศัพท์ 1 เลขหมายต่อประชาชน 10 คน ส่วนประเทศไทย มีเพียง 1 เลขหมายต่อประชาชน 33 คน อีกทั้งการจะได้เลขหมายโทรศัพท์ต้องรอกันเป็นปี และราคาแพงมาก คุณธนินท์จึงจัดตั้ง บริษัท เทเลคอมเอเซีย คอร์ปอเรชั่น (TA) และเข้าร่วมประมูล
ผลก็คือ บริษัทเทเลคอมเอเชีย ได้รับสัมปทานติดตั้งโทรศัพท์บ้าน 2 ล้านเลขหมาย ในเขตกรุงเทพฯ และต่อมา บริษัทได้จดทะเบียนระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในปี 2536 และเริ่มขยายการลงทุนไปยังเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงใต้น้ำอีกด้วย
1
แต่แล้วก็เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งเกิดขึ้น ซึ่งทางเครือซีพี ไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน การลดค่าเงินบาททำให้บริษัทเทเลคอมเอเชีย ขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนสูงถึง 15,480 ล้านบาท ยอดหนี้พุ่งไปที่ 63,110 ล้านบาท ทำให้ตอนนั้นเจ้าสัวธนินท์ ต้องตัดสินใจขายธุรกิจบางส่วนเพื่อเอาไปลดหนี้
2
แบกรับความกดดันไว้ที่ตัวเอง
ในช่วงที่เกิดวิกฤต สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ “ความสามัคคี” โดยเฉพาะในกรณีคุณธนินท์ก็คือ “คนในครอบครัว” โดยช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งสิ่งที่คุณธนินท์ บอกพี่ๆ ทั้งสามคน และคนในครอบครัวไว้ก็คือ คุณธนินท์จะไม่ขายธุรกิจที่ครอบครัวสร้างมา จะขายเฉพาะธุรกิจที่สร้างขึ้นใหม่เพื่อรักษาเครือให้รอด คือการ “ยอมตัดอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต”
นอกจากนี้คุณธนินท์ ยังเล่าว่าช่วงที่มีการลดค่าเงินบาท คืนนั้นเขาโทรหาพี่น้องในครอบครัวว่า เรื่องวุ่นวายต่างๆ ขอให้เขาเป็นคนรับความเครียดเองไว้เอง เขาจะตัดสินใจเพื่อสิ่งที่ดีที่สุดต่อบริษัท
ตอนนั้น ธุรกิจใหม่ของซีพีในไทย ก็มี โทรศัพท์ (TA), แม็คโคร, โลตัส, และ 7-eleven ทำให้เจ้าสัวต้องตัดใจ
ขายหุ้นแม็คโครไปทั้งหมด, ขายหุ้น 75% ของโลตัส ให้บริษัทเทสโก้จากประเทศอังกฤษ (ปัจจุบันคือห้างเทสโก้โลตัส), ขายหุ้น 7-eleven ไป 24% นอกจากนี้ยังขายหุ้นในจีนไปอีกหลายบริษัท
โดยในงานเปิดตัวหนังสือเจ้าสัวธนินท์กล่าวติดตลกว่า หากขายหุ้น TA ไป ป่านนี้ก็สบายไปแล้ว ไม่ต้องขายอย่างอื่น (แต่ก็ดีแล้วหล่ะครับ ไม่อยากคิดภาพเครือ ซีพี ถือหุ้นแม็คโคร, โลตัส, 7-eleven 100%)
โดยบริษัทเทเลคอมเอเชีย (TA) ที่ยังถืออยู่ ก็ได้แปลงร่างเป็น บริษัทมือถือ ทรู (True) ในปัจจุบันนั่นเอง และทางเจ้าสัวก็ซื้อหุ้นแม็คโครกลับมา ในปี 2556 โดยปัจจุบันทางเครือ ซีพี ใน มี 3 ธุรกิจหลัก คือ
1. ซีพีเอฟ รายได้ 567,581 ล้านบาท
2. ซีพีออลล์ รายได้ 527,860 ล้านบาท
(รวมแม็คโคร รายได้ 192,930 ล้านบาท)
3. และทรู รายได้ 177,529 ล้านบาท
(ข้อมูลจากรายงานตลาดหลักทรัพย์ปี 2561)
สำหรับเทสโก้โลตัส มียอดขายในปี 2561 ประมาณ 194,165 ล้านบาท
1
ทั้งนี้สำหรับธุรกิจครอบครัวอาจมีความขัดแย้งทางความคิดบ้าง แต่ทางคุณธนินท์ให้แนวคิดที่น่าสนใจมากๆ เอาไว้ว่า
“ผมไม่เคยคิดว่า ผมทำมาก 100 ผมควรจะได้สัก 70 และให้พี่น้องคนละ 10 ผมกลับคิดว่า ผมต้องทำให้ได้สัก 400 เพื่อผมจะแบ่งให้ได้คนละ 100 ผมก็ได้มากกว่า 70 แล้ว” จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ครอบครัวทำธุรกิจด้วยกันได้
2
Cr.หนังสือความสำเร็จดีใจได้วันเดียว
ส่งท้าย คำตอบของคุณธนินท์ สำหรับคำถาม “หากความสำเร็จดีใจได้วันเดียว แล้วความล้มเหลวเสียใจได้กี่วัน?” ก็คือ
หากล้มเหลว ก็ “เสียใจได้วันเดียว” เช่นเดียวกัน ที่สำคัญคือ เราต้องเรียนรู้สาเหตุที่ล้มเหลว และไม่ทำพลาดซ้ำอีก
และคุณเอี่ยม งามดำรงค์ รองประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ยังกล่าวสรุปประเด็นนี้ในหนังสือได้อย่างเฉียบคมว่า
“คำพูดของท่านประธานธนินท์ที่ผมยังจำได้ดีคือ ผมไม่กลัวคุณทำขาดทุน 10 ล้าน แต่ถ้าคุณทำขาดทุน 10 ล้านแล้วไม่รู้ว่า ขาดทุนเพราะอะไร ผมจะไม่ให้โอกาสคุณอีก”
1
เพื่อนๆหลายคนอาจกำลังท้อ เศรษฐกิจไม่ดี หรือกำลังคิดเสียใจที่ไม่ได้เริ่มทำอะไรซักที ก็ขอให้เสียใจ “เพียงวันเดียว” นะครับ
เรียนรู้กับมัน แล้วเดินหน้าต่อไปกับ “เพื่อนและครอบครัว" ของคุณ สักวันต้องเป็นวันของเรา…
ที่มา:
ความสำเร็จดีใจได้วันเดียว, ตลาดหลักทรัพย์ฯ, the Bangkok insight
💡ไม่อยากพลาดข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ และกลยุทธ์ทางธุรกิจ
ติดตาม "นำเข้าส่งออก สุดขอบฟ้า" ได้หลายช่องทาง
และสำหรับผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออก เชิญพูดคุยแลกเปลี่ยน ความรู้ได้ที่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา