19 ต.ค. 2019 เวลา 01:20
Taptic Engine นวัตกรรมของ Apple ที่ถูกลืม..
“Taptic Engine” ชื่อนี้หลายคนคงไม่ค่อยคุ้นหูนัก โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์ของแอปเปิ้ลอยู่ คงสงสัยว่ามันคืออะไร
ถ้าให้อธิบายง่ายๆ มันก็คือ “ระบบสั่นในแบบฉบับของแอปเปิ้ล”
บางคนก็เริ่มสงสัย ว่ามันพิเศษอย่างไร ทำไมถึงเรียกว่านวัตกรรม?
จริงๆ แล้ว จะเรียกว่าระบบสั่นอย่างเดียว ก็คงจะไม่ถูกต้องนัก
น่าจะต้องเพิ่มคำว่า ระบบที่ถูกลืม ต่อท้ายเข้าไปด้วยอีกสักหน่อย..
แล้ว Taptic Engine ถูกลืมได้ยังไงกัน วันนี้บันทึกของฉันจะพาไปดู
จุดเริ่มต้นของเทคโนโลยี Taptic Engine เริ่มมาจากคำๆ หนึ่งในภาษาอังกฤษ คือคำว่า “Haptic feedback”
Haptic แปลว่า เกี่ยวกับการสัมผัส ส่วน feedback แปลว่า การตอบสนอง
เมื่อนำมารวมกัน ก็จะหมายความว่า “การตอบสนองที่เกี่ยวข้องกับการสัมผัส”
Haptic feedback นั้นเริ่มมีใช้กันตั้งแต่ในช่วงหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว โดยนิยมใช้บนเครื่องบินขนาดใหญ่ ที่การควบคุมปีก หรือแพนหาง ต้องมีระบบไฟฟ้าเข้ามาช่วย
ซึ่งในบางจังหวะที่เครื่องบินเริ่มอยู่ในทิศทางที่จะทำให้สูญเสียแรงยก เช่น การเชิดหัวขึ้นชันเกิน ในกรณีนี้ บางครั้งนักบินก็ไม่สามารถประเมินได้ทัน ว่ามันจะทำให้สูญเสียการควบคุมเครื่องไป
ถึงแม้จะรู้ตัว และพยายามดันคันบังคับกลับคืน มันก็อาจจะสายเกินไปแล้วก็ได้
นั่นจึงทำให้มีการคิดค้นระบบ feedback ที่ทำให้นักบินรู้ตัวเมื่อกำลังพาเครื่องเข้าสู่ทิศทางที่อันตราย
โดยตัวคันโยกจะสั่นอย่างแรง เพื่อให้รู้ว่ามุมนี้เริ่มไม่ปลอดภัย และช่วยเตือนสตินักบินได้ดีทีเดียว
ระบบสั่นคันโยกในเครื่องบิน จึงถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของ Haptic feedback ในเวลาต่อมานั่นเอง
อีก 60 กว่าปีให้หลัง ในปี 2014 แอปเปิ้ลได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ชิ้นแรก ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยี Haptic feedback นั่นคือ Apple Watch
ซึ่งมันจะเปลี่ยนประสบการณ์การใช้งานของผู้ใช้ไปโดยสิ้นเชิง..
ระบบ Haptic feedback ที่แอปเปิ้ลทำมาให้ใช้กันนั้น มีชื่อเรียกว่า 3D touch ใน iPhone และ Force touch ใน Macbook
โดยเทคโนโลยีทั้งสองแบบมีหลักการคล้ายกัน ประกอบไปด้วยสองส่วนหลักๆ
ส่วนแรกคือ ส่วนรับรู้แรงกด หรือตัว 3D touch เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่น่าสนใจ เพราะเป็นการเพิ่มมิติที่ 3 ให้กับโทรศัพท์ธรรมดาๆ
จากเดิมที่มีแค่การเลื่อนนิ้วในทิศทางแนวราบ กลายเป็นการเพิ่มชั้นจอเข้ามา ทำให้สามารถแยกแยะน้ำหนักของนิ้วที่กดลงไปในแนวดิ่งได้
ถึงขนาดมีคนทำแอพสำหรับชั่งน้ำหนักจากหน้าจอไอโฟนไว้ให้ใช้กันด้วย..
แต่ลำพังเพียงแค่ตัว 3D touch อย่างเดียวมันไม่เพียงพอ เพราะในขณะที่เราออกแรงกดลงไป กลับไม่มีสิ่งที่จะมาบอกเราว่า “เรากำลังกดมันแรงแค่ไหน”
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ต้องมีส่วนประกอบส่วนที่สอง นั่นคือ ส่วนให้ feedback พระเอกของเรานั่นเอง
โดยแอปเปิ้ลตั้งชื่อให้มันว่า Taptic Engine นั่นก็เพราะว่ามันไม่ใช่แค่ระบบสั่นธรรมดาๆ แต่มันคือระบบสั่นแบบใหม่ที่ไม่มีใครเคยใช้ในมือถือมาก่อน เรียกว่า Linear resonant actuator (LRA)
ก่อนอื่นต้องท้าวความก่อนว่า ระบบสั่นในมือถือตั้งแต่ยุคแรกจนถึงปัจจุบัน นิยมใช้ระบบสั่นแบบ Eccentric rotating mass actuator (ERM)
ซึ่งใช้มวลแบบไม่สมดุลถ่วงไว้ที่ปลายมอเตอร์ เวลาหมุนจึงทำให้มีการสั่นเกิดขึ้น (ดังภาพ)
ถ้านึกภาพไม่ออก ลองนึกถึงเครื่องซักผ้า ที่ตอนซัก ผ้าดันไปกองรวมกันอยู่ด้านเดียวในถังซัก พอถังเริ่มหมุน เครื่องก็จะสั่นเป็นเจ้าเข้าเลยใช่มั้ยล่ะครับ
แต่ระบบที่แอปเปิ้ลใช้นั้น เป็นระบบที่ใช้การสั่นในทิศทางไปกลับในแนวเดียว (linear) โดยใช้สนามแม่เหล็ก ทำให้สามารถใช้คลื่นกำหนดการสั่นได้ ซึ่งทำให้การควบคุมการสั่นทำได้หลากหลายรูปแบบกว่าเดิมมาก
ลองนึกถึงภาพที่เจาะถนนดูครับ การเคลื่อนที่ในแนวขึ้นลงของเข็มเจาะจะทำให้ได้ความรู้สึกที่แข็งแรงกว่า
ในภาพ สนามแม่เหล็กจะทำให้ก้อนตรงกลางสั่นไปมา โดยมีสปริงบน-ล่าง ทั้งสองข้างคอยยึดไว้
แล้ว Taptic Engine มันดียังไง?
สิ่งแรกที่สามารถรู้สึกได้ง่ายๆ เลยก็คือ รูปแบบการสั่น เช่น ใน iPhone 7 ขึ้นไป ปุ่มโฮมจะไม่สามารถกดได้จริง แต่จะให้ความรู้สึกประมาณ “ตุบ” สั้นๆ ซึ่งทำให้เรารู้สึกเหมือนว่าได้กดปุ่มลงไปจริงๆ
1
โดยความรู้สึกที่ได้รับจาก Taptic Engine นั้นหนักแน่นมากกว่า และมีเสียงรบกวนเบากว่าระบบสั่นแบบมอเตอร์เป็นอย่างมาก
ซึ่งเป็นข้อดีจากการออกแบบให้มวลสั่นในแนวไปกลับ ทำให้สามารถสั่นแล้วหยุดอย่างรวดเร็วได้ภายในเวลาแค่ 10 มิลลิวินาที ในขณะที่การใช้มอเตอร์ มีแรงเฉื่อยจากการหมุนคอยถ่วงเวลาเอาไว้
ทั้งยังมีรูปแบบการสั่นอีกหลายแบบ ที่ผู้ใช้ไม่เคยสัมผัสมาก่อน เช่น การสั่นแบบสามจังหวะเมื่อเลื่อนปุ่มปิดเสียงของ iPhone ไปมา ซึ่งมอเตอร์หมุน ไม่สามารถทำเลียนแบบได้
ข้อดีอย่างหนึ่งของการใช้แม่เหล็กไฟฟ้าแทนมอเตอร์หมุน คือเรื่องพลังงาน
โดยผลการทดลองจาก Texas Instrument แสดงให้เห็นถึงการใช้พลังงานที่น้อยกว่าถึง 3 เท่า
1
แต่ถึงแม้จะมีข้อดีมากมาย การใช้ Taptic engine ยังมีข้อเสียในเรื่องของขนาดอยู่ โดยจากภาพด้านล่าง จะเห็นว่าตัว Taptic engine กินพื้นที่เยอะกว่ามอเตอร์แบบเก่าที่ใช้ใน iPhone 5s มาก แม้ว่า Apple จะพัฒนาให้เล็กลงเรื่อยๆ แล้วก็ตาม
จากที่อ่านมาทั้งหมด บางคนคงอยากตั้งคำถามว่า
“ที่ทำมาทั้งหมดนี้ แค่เพื่อสร้างความรู้สึกสั่น แค่นั้นหรือ?”
คำตอบคือ “ใช่แล้วครับ”
สิ่งที่ทำให้ Apple เป็น Apple ในทุกวันนี้ คือความใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นการสร้างสิ่งที่จะทำให้ผู้ใช้ประทับใจมากที่สุด
ถึงแม้ว่ามันจะเป็นเบื้องหลัง ที่คอยทำงานอยู่เงียบๆ และถูกลืมเลือนไปแล้วก็ตาม
แต่ประสบการณ์การใช้งาน เป็นสิ่งที่แอปเปิ้ลให้ความสำคัญมากๆ (ในยุคนั้น) สัมผัสได้จากคำพูดช่วงหนึ่งของ Steve Job ที่เคยพูดไว้กับ Jony Ive..
1
“ หนึ่งในแรงกระตุ้นเมื่อเราต้องการทำอะไรสักอย่างก็คือ “ความรักและความใส่ใจ” แม้ว่าเราไม่เคยเจอกับคนที่ใช้ผลิตภัณฑ์ของเรา ไม่เคยจับมือพวกเขา การที่เราสร้างอะไรด้วยความใส่ใจนั้น เป็นการแสดงออกถึงการเคารพ ต่อความเป็นมนุษย์.. ”
2
ห่างหายกันไปนาน แต่ยังไม่ได้หายไปไหน ยังอยู่ดีครับ55
บางคอมเม้นไม่ได้ตอบบ้าง ก็จะพยายามตอบให้หมดนะ
เจอกันเรื่องหน้าครับ
โฆษณา