Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
The Alternative Opinion
•
ติดตาม
18 ต.ค. 2019 เวลา 16:42 • ปรัชญา
จริยธรรมว่าด้วยเรื่องการฆ่าสัตว์
และเหตุผลที่แท้จริงว่าทำไมเราจึงต้องอนุรักษ์สัตว์
ในสังคมไทยของเรา เราถูกปลูกฝังกันตั้งแต่เด็ก ๆ ให้ละเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ชาวพุทธทั้งหลายคงจะรู้กันดีว่า “ข้อหนึ่งห้ามฆ่าสัตว์ ถ้ายุงกัดเราไม่ตบ” แต่ถึงแม้ว่าคุณจะไม่ได้ศีลห้าของพระพุทธศาสนาเป็นที่ตั้ง คุณก็คงอาจจะมีรู้สึกใจหายบ้างเวลาที่เห็นสัตว์ทั้งหลายถูกทรมาน ไม่ว่าจะเป็น วัวที่ถูกขังไว้หลังรถที่กำลังมุ่งหน้าไปยังโรงฆ่าสัตว์ คลิปในโซเชียลมีเดียเมื่อมีคนทำร้ายสัตว์ หรือแม้แต่ตอนที่คุณไปเที่ยวสวนสัตว์กับครอบครัวของคุณและมองไปในกรงของสัตว์ป่าที่อยู่อย่างโดดเดี่ยวและคุณก็คิดว่าในผืนป่าอันกว้างใหญ่ไกลแสนไกล มันอาจจะมีครอบครัวของมันที่กำลังรอคอยมันกลับบ้านอยู่ก็ได้...
ก่อนจะว่ากันต่อ ผมขอชี้แจงไว้ตรงนี้ว่าผมสนับสนุนการอนุรักษ์สัตว์ แต่บทความนี้จะพูดถึงอีกแง่มุมหนึ่งของการอนุรักษ์สัตว์ที่ไม่ได้ตั้งไว้บนความสงสารและจริยธรรมทางศาสนาว่าด้วยการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต...เผื่อว่าคุณจะสบายใจขึ้นเวลาตบยุงหรือฆ่าแมลงสาบ
สิ่งมีชีวิตโลกของเราถูกแบ่งออกเป็นห้าอาณาจักร: อาณาจักรโมเนรา อาณาจักรโพรติสตา อาณาจักรฟังไจ อาณาจักรพืช และ อาณาจักรสัตว์ มนุษย์อยู่ในอาณาจักรสัตว์ มนุษย์ —ตามทฤษฎีวิวัฒนาการ— มีบรรพบุรุษร่วมกับลิงชิมแปนซีโดยบรรพบุรุษร่วมของเราเมื่อหกล้านปีก่อนให้กำเนิดลิงที่จะวิวัฒนาการเป็นมนุษย์ สี่ล้านปีต่อมามนุษย์เริ่มเริ่มวิวัฒนาการเป็นสปีชี่ส์ต่าง ๆ และเริ่มกระจายออกไปนอกทวีปแอฟริกา แต่สปีชี่ส์ของเราได้มีการวิวัฒนาการขึ้นเมื่อราวสองแสนปีก่อนในทวีปแอฟริกาตะวันออก สปีชี่ส์ของเราชื่อว่า “ซาเปียนส์” ซาเปียนส์ใช้ชีวิตโดยการเก็บของป่าล่าสัตว์ แต่ซาเปียนส์ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็เหมือนจะนำหายนะไปให้กับสปีชี่ส์อื่น ๆ อยู่เสมอ เมื่อซาเปียนส์ไปเหยียบทวีปออสเตรเลียเมื่อราว 45,000 ปีก่อน สัตว์ใหญ่ (ไม่ใช่โคกระบือนะครับ) อย่าง Megafauna ในทวีปออสเตรเลียก็สูญพันธุ์ลง และ Megafauna ในอเมริกาเมื่อ 16,000 ปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกับที่มนุษย์ไปถึงทวีปอเมริกา และสปีชี่ส์มนุษย์พี่น้องของเราก็ค่อย ๆ หายไปจนหมดหลังจากที่สปีชี่ส์ของเราได้เข้าไปร่วมอยู่อาศัยด้วย มนุษย์เราเลิกใช้ชีวิตด้วยการเก็บของป่าล่าสัตว์เพียงแค่ 12,000 ปีที่แล้วตอนที่เราเริ่มปลูกพืชเป็นและในตอนนั้นเองที่สังคมและวัฒนธรรมของเราเกิดขึ้นมา หากคุณต้องการศึกษาประวัติศาสตร์ของมนุษย์ คุณสามารถอ่านได้จากหนังสือ Sapiens - A Brief History of Humankind ของ Yuval Noah Harari แต่ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น ผมต้องการให้คุณมองว่า ธรรมชาติของสปีชี่ส์เรามีการฆ่าและใช้งานสัตว์อื่น ๆ เพื่อประโยชน์ของตนโดยธรรมชาติจากการวิวัฒนาการ เพื่ออาหาร เครื่องนุ่งห่ม และ ยานพาหนะ อีกทั้งยังมีนิสัยชอบทำลายล้างอยู่ในสายเลือด...
ว่าด้วยจริยธรรมเรื่องการฆ่าสัตว์
หากยึดตามหลักของพระพุทธศาสนาการฆ่าสัตว์เป็นการกระทำที่เข้าข่ายผิด แต่ถ้าเราวิเคราะห์จากการกระทำ “การฆ่า” หรือ “การตัดชีวิต” (ของสัตว์) สัตว์กินเนื้อทุกชนิดก็ล้วนแล้วแต่ต้องฆ่าสิ่งมีชีวิตอื่นเพื่อความอยู่รอดทั้งนั้น แล้วทำไมศาสนาบางศาสนาจึงสอนให้เราพยายามละเว้นจากการฆ่าสัตว์ตั้งแต่แรก?
มนุษย์เราเป็นสัตว์ที่มีพิชาน (consciousness) หรือการรับรู้อารมณ์และสิ่งเร้า พิชานมีการวิวัฒนาการมาเรื่อย ๆ และซับซ้อนขึ้นตามกาลเวลา สัตว์ต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่มีพิชานเหมือนมนุษย์ ตัวอย่างหนึ่งของวิธีการทดสอบพิชานในสิ่งมีชีวิตคือถ้าเราเอานิ้วไปจิ้มสิ่งมีชีวิตแล้วมันตอบสนองโดยด้วยวิธีต่าง ๆ เช่นการขยับ การส่งเสียง หรือ การพยายามทำร้ายเรากลับ —ด้วยปณิธาน (will) ของมันเอง— แสดงว่ามันมีพิชานรับรู้ว่ามีอะไรมาถูกตัวมันและมีการตอบกลับต่อสิ่งเร้า แต่ถ้าสิ่งนั้นมีการตอบโต้แต่ไม่ได้เป็นไปตามปณิธานของตัวมัน เช่นการที่หนังยางถูกดีดเข้าใบหน้าเรา หนังยางถูกดีดตามปณิธานของผู้กระทำ หนังยางยืดตัวและดีดกลับเข้าใบหน้าของเรา แต่หนังยังไม่ได้มีปณิธานในตัวมันเองที่จะทำร้ายเรา แต่เป็นปณิธานของผู้ที่กระทำที่ทำให้หนังยางดีดใส่หน้าเราและเพียงเพราะหนังยางเป็นวัตถุที่ยืดหยุ่นได้ มันจึงเป็นไปตามหลักการทางธรรมชาติ แต่ถึงแม้ว่าสัตว์จะมีพิชาน แล้วมันต่างอะไรกับหนังยางเส้นนั้น? เพราะมันมีสิ่งเร้า มันจึงปฏิบัติตนเพื่อตอบสนองต่อสิ่งนั้นเหมือนหนังยางที่ถูกยืดออกมา แต่สิ่งมีชีวิตอย่างสัตว์มีปณิธานทางกายภาพ กล่าวคือปณิธานที่จะหาอาหารและสืบพันธุ์ที่เป็นเหตุที่สัตว์ต้องตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่เป็นภัยคุกคามต่อสองสิ่งนี้ แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่มีใครรู้จริง ๆ ว่าทำไมในโลกนี้ถึงมีชีวิตเกิดขึ้นมาและความหมายของการมีชีวิตคืออะไร... (ถ้าไม่อิงตามหลักสาสนาใด ๆ)
การที่สัตว์มีพิชานไม่ได้ทำให้ชีวิตของมันมีคุณค่าเท่าชีวิตมนุษย์เพราะพิชานคือแค่การรับรู้ถึงสิ่งเร้า และถึงแม้ว่าความทรงจำของสัตว์จะเป็นส่วนหนึ่งของพิชาน มันแค่เป็นองค์ประกอบที่ช่วยในการดำรงชีวิต เช่น การที่แมวของคุณจำได้ว่าคุณคือเจ้าของ แมวของคุณรู้ว่าคุณดูแลและให้อาหารมัน แมวของคุณอาจจะรับรู้ถึงอารมณ์ของคุณและเข้ามาคลอเคลียคุณเวลาที่คุณเศร้า แต่มันก็ไม่ได้แปลว่ามันจะเข้าใจและรู้ว่าความเศร้าคืออะไร มันทำตัวตอบสนองตามสิ่งที่มันรู้สึกว่ามันต้องทำ ทั้งนี้พันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ย่อมส่งผลที่แตกต่างกัน สายเลือดของสัตว์ในตัวเมืองอาจมีข้อมูลทางพันธุกรรมที่ถูกส่งต่อไปรุ่นต่อรุ่นเช่นการหลบรถ หรือกระแสไฟฟ้าตามสายไฟ แต่ถ้าคุณจับสัตว์ชนิดเดียวกันจากป่ามันก็จะไม่รู้จักสิ่งแวดล้อมในดินแดนมนุษย์และอาจจะโดนรถชนหรือไฟดูดก็ได้
แล้วอะไรที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์พวกนี้? มนุษย์มีพิชานและปณิธานเหมือนสัตว์ก็จริง แต่สปีชี่ส์ของเรามี “อัตพิชาน (self-consciousness)” อัตพิชานคือคุณสมบัติของพิชานที่ไม่ได้เพียงรับรู้ถึงสิ่งเร้ารอบตัวแต่รับรู้ถึงการตั้งอยู่ของตนเองด้วย การทดสอบอัตพิชานในสัตว์สามารถทำได้โดยใช้กระจก ถ้าเราทำตำหนิไว้บนตัวสัตว์และปล่อยให้มันอยู่หน้ากระจก สัตว์ที่มีอัตพิชานจะรู้ว่ามีอะไรผิดปกติบนตัวมัน (สัตว์อื่น ๆ นอกจากมนุษย์ที่มีอัตพิชานคือ ลิงชิมแปนซี ลิงชิมแปนซีแคระ ลิงอุรังอุตัง ลิงกอริลล่า โลมาปากขวด วาฬเพชฌฆาต และนกสาลิกา) สัตว์ที่ไม่มีอัตพิชานอย่างหมาและแมวจะกระโจนเข้าใส่เงาในกระจกหรือตอบสนองกับเงาของตนประหนึ่งว่าเป็นสัตว์อีกตัวหนึ่ง เพราะฉนั้นแล้วสัตว์ที่ไม่มีอัตพิชานไม่สามารถรับรู้ถึงตัวตนของมันเองด้วยซ้ำ การที่เราบอกว่าคุณค่าของชีวิตสัตว์เหล่านี้เท่ากับมนุษย์เป็นเรื่องที่ไร้สาระโดยสิ้นเชิง เหมือนสุภาษิตไทยที่กล่าวว่า “วานรได้แก้ว”
เหตุผลที่มนุษย์มีความเวทนาต่อสัตว์โลกอาจเป็นเพราะว่ามนุษย์ซึ่งมีอัตพิชาน คิดว่าสัตว์ล้วนมีอัตพิชานโดยใช้การรับรู้ถึงตัวตนของตนเองเป็นที่ตั้งว่าทุกสิ่งล้วนมีคุณสมบัติเหมือนมนุษย์
สุดท้ายแล้วการตัดชีวิตสัตว์ที่ไม่มีอัตพิชานนั้นเหมือนกับการที่เราฆ่าคนคนหนึ่งหรือไม่? ถ้าสัตว์ไม่ได้รับรู้ถึงตัวตนของตนเองและไม่มีความสามารถที่จะรับรู้ถึงคุณค่าของชีวิตตั้งแต่แรก การฆ่าสัตว์เหล่านี้ก้ไม่สามารถจะเทียบกับการฆ่าคนที่มีอัตพิชานได้ สรุปแล้ว สัตว์แสดงความเจ็บปวดและอาการต่าง ๆ เมื่อมันถูกทำร้ายเพราะมันมีพิชานและมันปฏิบัติตนตามธรรมชาติของมันที่ตอบสนองตามปณิธานทางกายภาพและสัญชาตญาณ ถ้าคนกับสัตว์สลับตำแหน่งของเหยื่อและผู้ล่ากัน สัตว์เหล่านี้ก็ต้องจ้องที่จะกินเราหรือทำร้ายเราตามธรรมชาติของมันที่เป็นผู้ล่า เพราะฉนั้นจงสบายใจเถิดเมื่อคุณตบยุงหรือฆ่าแมลงสาบ แต่ทั้งนี้ผมแค่ต้องการให้คุณได้รู้ว่าทำไมคุณค่าของชีวิตสัตว์ไม่สามารถเทียบกับชีวิตของคนได้และเข้าใจธรรมชาติของสัตว์มากขึ้น แต่ก็ไม่ได้แปลว่าผมต้องการให้คุณฆ่าสัตว์โดยไม่คิดอะไรเลยเพราะสุดท้ายแล้วสัตว์ทุกชนิดมีความสำคัญต่อโลกของเราและที่สำคัญไปกว่านั้น ถ้าเราไม่มีสัตว์และไม่ช่วยกันอนุรักษ์สัตว์ เราเองก็จะอยู่ไม่ได้
ว่าด้วยเรื่องการอนุรักษ์สัตว์
ถึงแม้มนุษย์เราจะวิวัฒนาการมาไกลจาก “คนเก็บของป่าล่าสัตว์” แล้วก็ตาม เราก็ยังฆ่าสัตว์เพื่ออาหารและหนังของมันอยู่ดี แต่ปัญหาของการฆ่าสัตว์นั้นมันไม่ใช่เพียงแค่ขัดกับหลักจริยะรรมของบางคนหรือบางศาสนาเท่านั้น การฆ่าสัตว์โดยเฉพาะการฆ่าสัตว์ในขนาดอุตสาหกรรมเป็นส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์ การที่เรามีเนื้อสัตว์บนจานข้าวของเราได้นั้น เราไม่ได้ได้มาด้วยชีวิตของสัตว์ที่เรารับประทานอย่างเดียว สัตว์ต่าง ๆ ไม่ได้ถูกเลี้ยงในฟาร์มบ้าน ๆ เหมือนในหนังที่เราดูกัน สัตว์เหล่านี้ถูกเลี้ยงในคอกในโรงเลี้ยงสัตว์ใหญ่ ๆ ก่อนนำไปแปรรูปเป็นเนื้อให้เราได้รับประทาน ในการเลี้ยงสัตว์เหล่านี้จำเป็นต้องใช้พลังงานมหาศาลเลยทีเดียว World Resources Institute ได้ทำการวิจัยในปี 2009 เรื่องการใช้ทรัพยากรที่ปล่อยก๊าสเรือนกระจก พบว่าอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์มีส่วนในการปล่อยก๊าสเรือนกระจกร้อยละ 13-18 โดยวัวและแกะเป็นสัตว์ที่ปล่อยก๊าสเรือนกระจกมากที่สุดในโลก โดยข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลจากสิบปีที่แล้วเมื่อโลกของเรามีประชากรหกพันแปดร้อยล้านคน แต่ ณ ปัจจุบันที่ผมเขียนกระทู้นี้ มีประชากรโลกทั้งหมดเจ็ดพันห้าร้อยล้านคนและประชากรโลกกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทุก ๆ วินาทีและแน่นอนว่ามีเพียงส่วนน้อยของประชากรของเราที่เป็นมังสวิรัติ
1
ภาพการเลี้ยงสัตว์ในฟาร์มอุตสาห
ผมเชื่อว่าทุกวันนี้หลายคนกินเนื้อสัตว์และใช้ผลิตภัณฑ์จากสัตว์กันแบบไม่คิดอะไรมาก อย่างดีก็มีความสงสารเป็นที่ตั้งในการละเว้นจากการรับประทานหรือใช้สินค้าจากสัตว์ แต่แรงจูงใจที่เกิดจากความสงสารหรือหลักจริยธรรมอาจจะไม่เพียงพอสำหรับคนเราในยุคแห่งเหตุผลที่กำลังหันหลังให้ศาสนาในการเห็นคุณค่าของการอนุรักษ์สัตว์ ถ้าเราเริ่มตระหนักถึงปัญหาและภัยที่อาจจะเกิดกับเราหรือลูกหลานของเราจากการใช้ทรัพยากรจากสัตว์แบบฟุ่มเฟือย เราจะเริ่มสนใจการกระทำของเรามากขึ้นโดยไม่ต้องเอาผลของการกระทำเราไปผูกกับ “ชาติหน้า” หรือ “การตกนรก” ของเราเลยและผมเชื่อว่าเราจะสามารถปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์สัตว์ได้อย่างยั่งยืนกว่า
ผมขอเชิญชวนพี่น้องผู้อ่านบทความนี้ทุกคนให้ช่วยกันลดปริมาณเนื้อสัตว์ที่เรารับประทาน แค่วันหยุดสุดสัปดาห์หรือสัปดาห์ละหนึ่งวัน และหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คุณก็สามารถร่วมกันช่วยโลกได้แล้ว
ถึงแม้ว่าชีวิตของสัตว์จะไม่ได้มีคุณค่าถ้าวัดจากแค่ธรรมชาติของพิชานของมัน แต่สัตว์ทุกตัวล้วนมีคุณค่าในฐานะองค์ประกอบและทรัพยากรของโลก
ถึงแม้ว่ามนุษย์จะเป็นเจ้าแห่งโลกนี้แต่ก็อย่าลืมว่าเจ้าที่ไม่ดูแลทรัพย์สมบัติและบริวารของตนก็อยู่ไม่ได้ เราต้องเห็นคุณค่าของการอนุรักษ์ด้วยการตระหนักถึงชีวิตของเราที่ต้องพึ่งพาอาศัยโลกและทรัพยากรของมันในการอยู่รอด อย่างน้อยก็จนกว่าเราจะย้ายไปอยู่ดาวดวงใหม่และทำลายมัน...
3 บันทึก
28
13
6
3
28
13
6
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย