Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
A3
•
ติดตาม
19 ต.ค. 2019 เวลา 05:18 • การศึกษา
การเขียนเรื่องตามหลัก 起承転結 (เปิด, แปร, พลิก, ผูก)
การเขียนเรื่องตามหลัก 起 承 転 結 (เปิด, แปร, พลิก, ผูก)
นั่งนึกๆ ไปนึกๆ มา เกี่ยวกับเรื่องของหลักการ จังหวะ ทฤษฎี ข้อกำหนดต่างๆ ในการเขียน
อย่างตัวข้าพเจ้าเอง ที่เคยเขียนอะไรต่ออะไร ก็เขียนไปเรื่อยเปื่อย (ครั้งก่อนหน้า ครั้งนี้ และครั้งต่อๆ ไปก็คงเช่นกัน)
แต่มาวันนี้ก็อยากอ่านอะไรที่มันจะเป็นหลักการเอาไว้ให้ได้รู้ได้อ้างอิงสักหน่อย แม้ว่ารู้ไปก็เท่านั้น คงจะเอาไปปรับไปทำให้เป็นนิสัยขึ้นมาไม่ได้ในทันทีหรือตลอดไปก็ตาม
อย่างน้อยก็ได้ชำเลืองดูว่าใกล้ๆ ตัวเรามีวิธีการเขียนแบบไหนอยู่บ้าง หรือเผื่อจะพอเป็นประโยชน์กับท่านที่ผ่านเข้ามาเจอ และอยากนำไปใช้เป็นหลักเบื้องต้นในการเขียนอย่างเป็นกิจจะลักษณะมากขึ้น
ซึ่งวิธีการเขียนแบบหนึ่งที่อยากนำมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้ก็คือ
วิธีการเขียนเรื่องโดยอิงหลัก 起承転結 คิ โช เท็ง เค็ทสึ (เปิด, แปร, พลิก, ผูก)
เดิมทีการแบ่งส่วนเรื่องราวแบบนี้เป็นการแบ่งส่วนในการแต่งบทกวีญี่ปุ่นโบราณ ซึ่งแต่ละบทจะมี 4 บรรทัด และแบ่งแต่ละบรรทัดตามลำดับ คิ โช เท็ง เค็ทสึ นี้เลย แต่หลังๆ มาก็มีผู้นำมาใช้เป็นหลักในการสร้างเรื่องราวต่างๆ ทั้งสั้น ยาว หรือแม้แต่การ์ตูน 4 ช่องแบบญี่ปุ่น (4-koma) ก็เช่นกัน
ว่าแล้วก็มาดูกันทีละส่วน ว่าเขามีวิธีการกแบ่งส่วนต่างๆ ออกมาอย่างไรบ้าง
起 - คิ(เปิด) อธิบายบริบทของเรื่อง สถานการณ์ สภาพแวดล้อม ข้อจำกัดต่างๆ จะจำว่า เปิด(เรื่อง) ก็ได้
承 - โช (แปร) เริ่มต้นเรื่องราวภายใต้บริบทที่บรรยาย(กำหนด)ไว้ใน คิ และเดินเรื่องไปโดยตัวละคร หรือเนื้อเรื่องที่เราเขียน มีเป้าหมายหรือแนวทางที่จะดำเนินไปอย่างชัดเจน และค่อยๆ มุ่งไปสู่เป้าหมายนั้น ซึ่งอาจมีโจทย์ ปม ปัญหา ประเด็นขัดแย้งในเรื่องเกิดขึ้นระหว่างนั้นให้ตัวละครในเรื่องต้องฝ่าฟัน หรือผู้เขียนต้องคลี่คลายต่อไป ด้วยความที่เรื่องราวมีการดำเนินไปในส่วนนี้ ผมก็จะเรียกส่วนนี้ว่า แปร
転 - เท็ง (พลิก) ในระหว่างการมุ่งสู่การคลี่ปมหรือไปยังจุดมุ่งหมายใน โช ดำเนินมาถึงจุดหนึ่ง ก็มีเรื่องราวที่เกิดการพลิกผันไปอย่างกะทันหัน ส่งผลกับเรื่องราวทั้งหมด หรือในวงกว้าง อาจเร่งเร้าในทางเดิม กลับตาลปัตรสู่ทางใหม่ ก่อนจะนำไปสู่จุดจบของเรื่อง ซึ่งผมขอเรียกส่วนนี้เพียงสั้นๆ ว่า พลิก
結 - เค็ทสึ (ผูก) เรื่องราวที่เกิดขึ้นใน โช และ เท็ง สุดท้ายดำเนินมาถึงจุดสุดท้ายอย่างไร จะถูกบรรยายปิดฉากลง ณ ตรงนี้ การสรุปเรื่องราวทั้งหมดยังต้องย้อนคำนึงไปถึงบริบทที่เราเตรียมไว้ใน คิ ด้วยเช่นกัน ว่าบริบทที่เริ่มต้นนั้นเป็นอย่างไร เกิดอะไรขึ้น และสุดท้ายทั้งหมดได้บทสรุปอย่างไร เป็นหน้าที่ของส่วนที่สี่ที่จะต้องผูกเรื่องราวทั้งหมดเข้าด้วยกันอย่างหมดจด รัดกุม ผมขอเรียกส่วนสุดท้ายนี้ว่า ผูก
ทีนี้เราลองมาดูกันว่า เรื่องที่แต่งตามหลัก คิ โช เท็ง เค็ทสึ นี้จะออกมาเป็นแบบไหน (แปล+ปรับจากลิงก์ต้นทางด้านล่างบทความครับ)
เรื่องที่ 1 หนีตายเกาะซอมบี้
คิ – พระเอกดันมาโผล่ที่เกาะซอมบี้ซึ่งเป็นอมตะฆ่าไม่ตาย
โช – ถูกซอมบี้ไล่ล่าจนต้องหนีหัวซุกหัวซุน
เท็ง – ค้นพบจุดอ่อนของซอมบี้ และเริ่มการไล่อัดเพื่อเอาคืนบ้าง
เค็ทสึ – หลังจากปราบซอมบี้ได้สำเร็จก็พบว่าเกาะนี้ถูกทิ้งร้างไว้ ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องอยู่คนเดียวตลอดไปอยู่ดี ไม่มีทางไปไหนได้ตลอดกาล
เรื่องที่ 2 โมโมทาโร่
คิ - โมโมทาโร่เกิดออกมาจากลูกท้อ (โมโมะ)
โช – มียักษ์อาละวาดบนเกาะยักษ์ โมโมทาโร่จึงรวบรวมสมัครพรรคพวก
เท็ง - เดินทางไปเกาะ และขับไล่ยักษ์ออกไปได้สำเร็จ
เค็ทสึ - หรอยเอาสมบัติยักษ์กลับมาและกลับมาอยู่ที่หมู่บ้านอย่างมีความสุข
อย่างนี้เป็นต้น...
บางบทความกล่าวว่า จากหนึ่ง 100 ส่วน สัดส่วนของ คิ โช เท็ง เค็ทสึ นี้จะอยู่ที่ราวๆ 10:40:40:10 ซึ่งอาจจะนำไปใช้กำหนดให้เหมาะสมกับเรื่องที่เราดูก็ได้ครับ หรือจริงๆ แล้วเราไม่จำเป็นต้องแบ่งเรื่องที่เขียนออกมาให้เป็นสี่ส่วนไปตลอดก็ได้ อาจเป็นห้าส่วน หกส่วน หรือกี่ส่วนก็ได้ตามที่เราถนัด
สำหรับบทความนี้แค่มาชวนคุยกันเฉยๆ ว่าถ้าเราเขียนอะไรบางอย่างอยู่ แล้วอยากจะหาหลักการในการแยกเรื่องราวออกเป็นส่วนๆ ให้เราไม่สับสนและง่ายต่อการจัดการ การแบ่งตามวิธี คิ โช เท็ง เค็ทสึ ก็อาจจะเป็นหนึ่งหลักให้อ้างอิงหรือนำไปประยุกต์ได้บ้างเท่านั้นเองครับ
แน่นอนว่า การเขียนในหลายๆ แบบ ก็มีหลักการเขียนที่เหมาะสมในการนำมาใช้แตกต่างกันออกไป งานเขียนที่ไม่เหมาะจะนำหลัก คิ โช เท็ง เค็ทสึ ไปใช้ก็มีเช่นกันครับ
ปล. ที่จริงแล้วเรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร ท่านที่ได้เรียนภาษาญี่ปุ่น อ่านงานเขียนภาษาญี่ปุ่น ก็คงจะผ่านตากันมาบ้าง หรือในบางเว็บก็คงมีนำมาแนะนำกันบ้างแล้ว บ้างก็อธิบายอย่างละเอียดและลุ่มลึกดีอยู่แล้วเสียด้วย ดังนั้นหากจะเป็นการนำมะพร้าวห้าวมาขายสวนก็ต้องขออภัยด้วยนะครับ หรือถ้ามีส่วนไหนบกพร่อง เข้าใจผิด รบกวนช่วยชี้แนะแนะนำเพื่อเป็นความรู้แก่ผู้เขียนและท่านอื่นๆ ด้วยครับ ยินดีรับฟังทุกคำแนะนำ ติชม ความเห็น ความรู้ครับ m(_ _)m
ปลล. รอบนี้ไม่แปลญี่ปุ่นละ ยาว จนปัญญา -*-
อ้างอิง
คำอธิบายเกี่ยวกับคิโชเท็งเค็ทสึ (ภาษาญี่ปุ่น)
http://ikikatadatabase.com/archives/5889
ตัวอย่างการแต่งเรื่องตามหลักคิโชเท็งเค็ทสึ (ภาษาญี่ปุ่น)
https://storymaker.click/%E3%82%B9%E3%83%88%E3%83%BC%E3%83%AA%E3%83%BC%E7%94%A8%E8%AA%9E/4127/
1 บันทึก
15
5
8
1
15
5
8
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย