21 ต.ค. 2019 เวลา 05:07 • ธุรกิจ
ถนนเอื้ออาทร (ของจริง)
ในสมัยราชวงศ์ชิง ที่บ้านเกิดของรัฐมนตรีจาง ถิง อี้ แห่งเมืองถงเฉิน มณฑลอานฮุย ในระหว่างที่มีการซ่อมแซมกำแพงบ้าน เกิดมีกรณีพิพาทเรื่องที่ดินทับซ้อนกับบ้านข้างเคียง ตกลงกันไม่ได้ว่าที่ดินที่โต้เถียงกันเป็นของบ้านใครกันแน่
แม่ของท่านรัฐมนตรีจึงได้เขียนจดหมาย ถึงลูกที่ปักกิ่ง ให้สั่งการข้าราชการท้องถิ่นมาจัดการเรื่องนี้
หลังได้รับจดหมายจากแม่แล้ว ท่านรัฐมนตรีจึงได้ตอบจดหมายถึงแม่ความว่า...
"จดหมายมาไกลเพียงเพราะเรื่องกำแพง ขออย่าใจแข็ง ถอยสัก 3 ฟุตจะเป็นไร กำแพงเมืองจีนทุกวันนี้ยังยิ่งใหญ่ แต่ไฉนจึงไร้เงาจิ๋นซีฮ่องเต้"
...ชีวิตไม่ใช่สนามรบ ไม่จำเป็นต้องเอาชนะคะคานกันจนถึงที่สุด ยอมถอยกันบ้าง ลดการวิวาท เลี่ยงความขัดแย้ง"
หลังจากแม่ได้อ่านจดหมายที่ลูกส่งมา จึงตัดสินใจย้ายแนวกำแพงถอยเข้ามา 3 ฟุต
(1 ฟุตของจีนเท่ากับ เศษ 1 ส่วน 3 เมตร)
คู่กรณีตระกูลเอี้ยเมื่อเห็นเช่นนี้ ก็เกิดความละอายใจขึ้นมา จึงถอยแนวกำแพงรั้วของบ้านตนร่นเข้าไป 3 ฟุตเช่นกัน
ระหว่างบ้านทั้งสองจึงกลายเป็นตรอกกว้าง 6 ฟุตที่ผู้คนใช้สัญจรได้
เหตุการณ์ดังกล่าวได้ล่วงรู้ถึงจักรพรรดิคังซี ทรงประทับใจในความเอื้ออาทร และการรู้จักมีความอลุ่มอล่วยต่อกัน อยากให้เป็นแบบอย่างที่ดีของประชาชนทั่วไป
จึงทรงรับสั่งมีการสร้างหลักจารึกคำว่า "เอื้ออาทร" ไปประดิษฐานอยู่ที่บริเวณปากตรอก จนกลายเป็นที่มาของ "ตรอก 6 ฟุต" อันโด่งดัง และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์อยู่จนทุกวันนี้
(หลักจารึกดังกล่าวได้รับการบูรณะใหม่ในปี 1999 ตัวอักษรสองตัว 禮譲 [เอื้ออาทร] ยังคงถูกจารึกอยู่เหนือซุ้มประตู)
ตำนาน"ตรอก 6 ฟุต" เพียงยอมถอยคนละ 3 ฟุต กลายเป็นความ "เอื้ออาทร" สอนลูกหลาน
สิ่งที่บ้านของรัฐมนตรีอาจจะหดหายไป คือที่ดินเล็กน้อยที่บรรพบุรุษทิ้งไว้ให้ แต่สิ่งที่ได้มาคือ ความสงบสุขระหว่างเพื่อนบ้าน และชื่อเสียงความเป็นแบบอย่างที่ดีที่ลือไปไกลทั่วปฐพี
ในชีวิตของเรานั้น ความเอื้ออาทรเป็นพลังที่แข็งแกร่งไม่มีวันสูญหาย
เพื่อนฝูงที่มีความเอื้ออาทรต่อกัน จะเป็นมิตรภาพที่ยั่งยืน
สามีภรรยาที่รู้จักอะลุ้มอล่วยให้อภัยต่อกันจะอยู่คู่กันจนชั่วฟ้าดินสลาย
"ตรอก 6 ฟุต" 六尺巷 อยู่ที่เมืองถงเฉิน มณฑลอันฮุย ยาวประมาณ 100 เมตร กว้าง 2 เมตร
โฆษณา