23 ต.ค. 2019 เวลา 02:40 • ธุรกิจ
จากเวเนซุเอลา อาร์เจนตินา สู่วิกฤตเอกวาดอร์
วิกฤตเศรษฐกิจจากเวเนซุเอลา มาสู่อาร์เจนตินา
และตอนนี้กำลังมาสู่เอกวาดอร์
เนื่องจากรัฐบาลตัดสินใจหยุดพยุงราคาน้ำมันในประเทศ
จนทำให้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่
และรัฐบาลต้องประกาศสภาวะฉุกเฉิน
ประเทศเอกวาดอร์ ตั้งอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ มีมูลค่า GDP 3.2 ล้านล้านบาท
มีประชากรประมาณ 17 ล้านคน และมีรายได้เฉลี่ยต่อคนประมาณ 189,100 บาทต่อปี
แม้ว่าเอกวาดอร์จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง แต่เป็นหนึ่งในประเทศที่มีปริมาณสำรองน้ำมันดิบมากลำดับที่ 17 ของโลก และปัจจุบัน เป็นหนึ่งในสมาชิกขององค์กรร่วมประเทศผู้ผลิตน้ำมันเพื่อการส่งออก (OPEC)
1
แหล่งน้ำมันดิบของที่นี่เริ่มมีการนำมาใช้ประโยชน์อย่างจริงจังตั้งแต่ปี 1960 รวมทั้งเริ่มมีการอุดหนุนราคาน้ำมันตั้งแต่ปี 1970 แต่การอุดหนุนพลังงานในประเทศ สร้างภาระให้แก่รัฐบาลเอกวาดอร์เฉลี่ยปีละ 42,000 ล้านบาท
เอกวาดอร์พึ่งพาการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม โดยมีสัดส่วนถึง 40% ของการส่งออกทั้งหมด
ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงมาตั้งแต่ปี 2014-2015 ทำให้รายได้จากการส่งออกน้ำมันของประเทศลดลง จนทำให้ในปี 2016 เศรษฐกิจของเอกวาดอร์เข้าสู่ภาวะถดถอย
1
Cr. SAVE VIRUNGA
รายได้ของประเทศที่ลดลง ขณะที่รัฐบาลยังอุดหนุนราคาน้ำมันอย่างต่อเนื่อง ทำให้หนี้สาธารณะของเอกวาดอร์ค่อยๆ ปรับเพิ่มขึ้น
ปี 2010 หนี้สาธารณะของประเทศเท่ากับ 19.2% ของ GDP
ปี 2018 หนี้สาธารณะของประเทศเท่ากับ 45.2% ของ GDP
ปัจจุบัน หนี้สาธารณะของเอกวาดอร์เท่ากับ 1.4 ล้านล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 1 ล้านล้านบาท ในระยะเวลาเพียง 8 ปี
ตั้งแต่ปี 2017 หนี้สาธารณะของประเทศเกินกว่า 40% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดที่รัฐบาลกำหนดเอาไว้
และทุนสำรองระหว่างประเทศเมื่อปลายปี 2014 อยู่ที่ 185,000 ล้านบาท แต่ตอนนี้กลับเหลือเพียง 83,000 ล้านบาท
พอเป็นแบบนี้ เอกวาดอร์จึงต้องหันไปพึ่งพาเงินกู้ยืมจากภายนอก นั่นคือ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จำนวนกว่า 128,000 ล้านบาท
แต่หนึ่งในเงื่อนไขของการกู้ยืมคือ รัฐบาลต้องยุติการอุดหนุนราคาน้ำมันในประเทศทันที และต้องลดภาระหนี้ของรัฐบาลต่อ GDP ให้เหลือเพียง 37% ภายในปี 2023
หลังจากประกาศยกเลิกอุดหนุนราคาน้ำมัน จึงทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่เอกวาดอร์เพิ่มขึ้นอย่างมาก
ราคาน้ำมันเบนซิน เพิ่มขึ้นจาก 14.7 บาทต่อลิตร มาอยู่ที่ 18.9 บาทต่อลิตร เพิ่มขึ้น 29%
ราคาน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้นจาก 8.2 บาทต่อลิตร มาอยู่ที่ 18.2 บาทต่อลิตร เพิ่มขึ้น 122%
เป็นเรื่องธรรมดาที่พอราคาน้ำมันขึ้น ราคาสินค้าอื่นๆ ก็พุ่งสูงตามไปด้วย
คงไม่ต้องสงสัยว่า เกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น..
มีการประท้วงและปะทะกันอย่างรุนแรงในเอกวาดอร์ ณ ตอนนี้ จนประธานาธิบดีเลนิน โมเรโน ต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน
Cr. New Straits Times
เรื่องราวของเอกวาดอร์ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่มีสาเหตุสำคัญมาจากการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด เช่น นโยบายการอุดหนุนราคาสินค้า โดยเฉพาะด้านพลังงาน ซึ่งเปรียบเสมือนระเบิดเวลาที่รอวันระเบิด
เมื่อประชาชนคุ้นเคยกับการใช้พลังงานราคาถูกมาเป็นเวลานาน โดยที่ไม่ได้ตระหนักว่ารัฐบาลมีภาระค่าใช้จ่ายเพื่อมาอุดหนุนราคาพลังงาน จนกลายเป็นภาระก้อนโตที่รัฐบาลไม่สามารถแบกรับได้อีกต่อไป
สุดท้ายระเบิดเวลาลูกนี้ก็ย้อนกลับมาทำร้ายประเทศ และนำประเทศเข้าสู่ภาวะวิกฤต เหมือนกับที่เวเนซุเอลา และอาร์เจนตินากำลังเผชิญอยู่
เราจะเห็นได้ว่า การบริหารประเทศ เศรษฐกิจเป็นเรื่องที่สำคัญ
ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล จำเป็นต้องเน้นเรื่องนี้เป็นอันดับหนึ่ง
เพราะเศรษฐกิจสามารถเปลี่ยน ความเป็นอยู่ของคนในประเทศ
เศรษฐกิจสามารถเปลี่ยน ชีวิตและอารมณ์ของคนในประเทศ
และเศรษฐกิจสามารถเปลี่ยนได้ แม้แต่อำนาจของรัฐบาลในประเทศ..
1
โฆษณา