22 ต.ค. 2019 เวลา 11:03 • ประวัติศาสตร์
ประวัติศิษย์ขงจื่อ (ฉบับสมบูรณ์)
เหยียนหุย (顏回)
เหยียนหุย ฉายาจื่อเยวียน หรืออีกนามหนึ่งว่า เหยียนเยวียน ถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งใน ๑๐ ปราชญ์แห่งสำนักขงจื่อในหมวดคุณธรรม ชาวแคว้นหลู่ อายุอ่อนกว่าขงจื่อ 30 ปี ปวารณาเป็นศิษย์ขงจื่อเมื่ออายุเพียง 13 ปีเท่านั้น มีภรรยานามว่าต้ายซื่อ เป็นชาวแคว้นซ่ง ส่วนบิดามีนามว่าเหยียนลู่ เป็นศิษย์ขงจื่อเช่นเดียวกัน
สติปัญญาของเหยียนหุย
เหยียนหุยเป็นบุคคลที่มีปัญญาอันลุ่มลึก มีคุณธรรมที่เจิดจรัสดุจแสงสุริยาที่แรงกล้า เป็นคนที่รักการศึกษา และมีผมที่ขาวโพลนทั่วศีรษะเมื่ออายุเพียง ๓๙ ปีเท่านั้น
ท่านเป็นผู้ที่สามารถปฏิบัติตามคำสอนของขงจื่อได้โดยตลอด ทั้งยังบ่มเพาะคุณธรรมความสามารถได้อย่างลุ่มลึก ที่สำคัญคือท่านยังสามารถเก็บงำคุณธรรมความสามารถได้อย่างแนบเนียน อันเสมือนหนึ่งกระบี่วิเศษที่เก็บเร้นความคมอยู่ในฝักมิให้ใครได้รับรู้ ปกติท่านจึงเป็นคนเงียบงันไม่ช่างเจรจา ไม่เคยอวดโอ่ประกาศความเก่งกาจของตน และก็คงเป็นเพราะเหตุนี้กระมัง ขงจื่อจึงกล่าวถึงเหยียนหุยว่าเป็นคนทึมทึบ
โบราณกล่าวว่า “ปิดทองหลังองค์พระปฏิมา” แต่สำหรับเหยียนหุยแล้ว ท่านไม่เพียงแต่จะไม่ประกาศความดีให้ใครได้รับรู้เท่านั้น หากแม้แต่คุณธรรมความสามารถ ท่านก็ไม่เคยที่จะเที่ยวอวดให้ใครได้รับรู้ด้วยเช่นกัน ท่านเป็นคนที่มีความสมถะ อ่อนโยน นอบน้อม จนผู้คนที่ไม่เข้าใจก็จะมองท่านว่าเป็นคนโง่เขลาไปเลยทีเดียว ดังนั้นความยิ่งใหญ่ของเหยียนหุยจึงไม่ได้อยู่ที่การมีสติปัญญาที่เก่งกาจเหนือผู้คนแต่อย่างใด หากแต่อยู่ที่ท่านสามารถซ่อนความเก่งกาจนั้นจนผู้คนมิอาจแลเห็นต่างหาก หากจะกล่าวว่าไฟมีพลานุภาพในการเผาผลาญนั้นคือความยิ่งใหญ่ แต่การที่จะมีใครสามารถเก็บพลานุภาพนั้นไว้จนไม่เป็นอันตรายกับผู้คนนั้นได้ ย่อมที่จะมีความยิ่งใหญ่มากยิ่งกว่า ด้วยเพราะเหตุนี้ ขงจื่อจึงชื่นชมเหยียนหุยว่า “ข้าเจรจาด้วยเหยียนหุยตลอดทั้งวัน เขาไม่เคยซักค้านจนเสมือนหนึ่งผู้โง่เขลา แต่เมื่อข้าเฝ้าสังเกตดูหลังจากเขาจากไป เขาก็สามารถปฏิบัติความรู้นั้นออกมาได้อย่างหมดสิ้น เหยียนหุยคนนี้ แท้ไม่โง่เลย (บทเหวยเจิ้งตอนที่ ๙)”
แม้นเหยียนหุยจะเป็นคนสงบจนดูเหมือนคนทึมทึบ แต่ความจริงท่านกลับเป็นคนที่มีสติปัญญาเฉียบแหลมเหนือคนธรรมดา ดังได้ปรากฏในเหตุการณ์ต่อไปนี้
ในแคว้นหลู่ได้มีครูฝึกม้าผู้ลือนามท่านหนึ่งนามว่า ตงกัวปี้ ได้เป็นที่โปรดปรานของหลู่ติ้งกงมากเป็นพิเศษ วันหนึ่ง หลู่ติ้งกงทรงถามเหยียนหุยว่า “เจ้าทราบไหมว่าในแคว้นเราได้มีครูฝึกม้าผู้ลือนามอยู่ท่านหนึ่ง”
เหยียนหุยตอบว่า “การฝึกม้าของตงกัวปี้เน้นที่การเคี่ยวเข็ญ ฝีมือเขาดีอยู่ดอก เพียงแต่ม้าจะต้องหนีเขาไปสักวันเป็นแน่แท้”
หลู่ติ้งกงไม่ทรงเห็นด้วย จึงรับสั่งกับคนสนิทว่า “คนที่ถูกยกย่องว่าเป็นวิญญูชน ไฉนจึงชอบพูดจาใส่ร้ายผู้อื่นอย่างนี้หนอ ?”
สามวันต่อมา มหาดเล็กได้มากราบทูลว่า ม้าของตงกัวปี้ได้หลบหนีไปเสียแล้ว หลู่ติ้งกงทรงรู้สึกเสียพระทัยที่เสียมารยาทต่อเหยียนหุย จึงเสด็จไปเยือนเหยียนหุยพร้อมทั้งรับสั่งถามถึงสาเหตุที่สามารถพยากรณ์เรื่องม้าอย่างสนพระทัย
เหยียนหุยกราบทูลว่า “เรื่องนี้กระหม่อมทราบจากประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ แต่ครั้งอดีต พระเจ้าซุ่น ทรงเป็นที่รักใคร่ของไพร่ฟ้า ส่วนเจ้าฟู่ก็มีชื่อเสียงโด่งดังในด้านการฝึกม้า เคล็ดลับนั้นอยู่ที่พระเจ้าซุ่นไม่ทรงเกณฑ์ใช้แรงงานประชาราษฎร์จนสิ้นแรง ส่วนเจ้าฟู่ก็ไม่เคี่ยวเข็ญอาชาจนพละกำลังเหือดแห้ง แต่ตงกัวปี้กลับใช้ม้าเทียมรถบรรทุกคน เคี่ยวเข็ญให้ม้าวิ่งทางไกล บังคับให้ไปในถิ่นทุรกันดาร นี่คือการใช้กำลังม้าให้เหือดแห้ง ม้าไม่มีโอกาสได้พักผ่อน จิตใจของมันจึงอัดแน่นด้วยความเคืองแค้น ดังนั้นเมื่อสบโอกาส ม้าจะไม่หนีได้ไย ?” หลู่ติ้งกงทรงพยักพระพักตร์เห็นด้วยในที่สุด
เหยียนหุยกราบทูลต่อไปว่า “นกเมื่อจนตรอกก็จะจิก สัตว์เมื่อจนตรอกก็จะตะปบ ม้าเมื่อจนตรอกก็จะหนี นับแต่อดีตตราบปัจจุบัน ยังไม่เคยปรากฏรัฐบาลใดที่เคี่ยวเข็ญประชาราษฎร์จนแร้นแค้นแล้วยังสามารถอยู่ได้” หลู่ติ้งกงทรงรู้สึกว่าคำกล่าวของเหยียนหุยแฝงด้วยความนัยให้ขบคิด แต่ก็รับสั่งเห็นชอบในที่สุด
วิริยะใฝ่ศึกษา
ในด้านความใฝ่ศึกษานั้น เหยียนหุยจะได้รับการชื่นชมจากขงจื่อมากเป็นที่สุด จนถึงขนาดกล่าวว่า “ผู้ที่ข้าสอนและนำไปปฏิบัติอย่างมิเกียจคร้าน ก็มีเพียงเหยียนหุยเท่านั้นเองแล”
แต่คำว่าใฝ่ศึกษาในความหมายของขงจื่อนั้น ความจริงหาใช่หมายถึงแค่การศึกษาเรื่องวิชาการแต่อย่างเดียวไม่ หากแต่ครอบคลุมถึงเรื่องการเอาไปปฏิบัติตนจนเป็นหนึ่งวิญญูชนต่างหาก ดังนั้นคำว่าใฝ่เรียนที่ขงจื่อหมายถึง จึงครอบคลุมถึงด้านการบำเพ็ญปฏิบัติอีกประการหนึ่ง ดังจะเห็นได้ในคำสอนของท่านขงจื่อที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์หลุนอวี่ดังนี้
ขงจื่อกล่าวว่า “อันการกินของวิญญูชนจะมิหวังที่ความโอชะ อันการอยู่ของวิญญูชนจะมิหวังที่ความวิจิตร หากแต่จะว่องไวในหน้าที่และรอบคอบการเจรจา คบหาผู้ทรงธรรมและน้อมแก้ไขข้อบกพร่อง ฉะนี้ก็ถือว่าเป็นผู้ใฝ่ศึกษาแล้วแล”
1
ด้วยเพราะเหยียนหุยมีความวิริยาทุ่มเทให้กับการบำเพ็ญปฏิบัติ ท่านจึงสามารถดำรงความสมถะ มิมีจิตใจที่ฟุ้งเฟ้อเห่อลอยไปกับวัตถุตัณหา ลาภแลยศมิอาจสะท้านสะเทือนจิตใจท่านให้สั่นคลอน ท่านจึงสามารถสุขใจในความยาก สำราญในธรรมา ดังที่ขงจื่อได้กล่าวชมเหยียนหุยว่า “ผู้ที่เป็นสุเมธชนนั้น เหยียนหุยท่านนี้เองแล หนึ่งถ้วยข้าว หนึ่งกระบวยน้ำ พำนักในตรอกโทรม คนอื่นมิอาจทนอยู่ได้ หากเหยียนหุยสุขใจมิเคยเปลี่ยน ผู้ที่เป็นสุเมธชนนั้น เหยียนหุยท่านนี้เองแล”
ด้วยความที่เหยียนหุยมีความรักเรียนใฝ่ศึกษามากเป็นที่สุด ดังนั้นจึงมีความวิริยาพากเพียรอย่างไม่เคยลดละ ด้วยแม้นในระหว่างศึกษาวิชาจะเจอกับอุปสรรคการทดสอบหนักหนาสักเพียงไร แต่ท่านก็หาได้เคยย่อท้อแต่อย่างใดไม่ ดังนั้นขงจื่อจึงชื่นชมความวิริยะใฝ่ศึกษาและเพียรบำเพ็ญของเหยียนหุยว่า “ที่ข้าสอนและนำไปปฏิบัติอย่างมิเกียจคร้าน ก็มีเพียงเหยียนหุยเท่านั้นเองแล (บทจื่อฮั่นที่ ๑๙)”
ขงจื่อมีศิษย์มากถึงสามพันคน แต่ในบรรดาลูกศิษย์ที่ต่างมีความเก่งกาจมากความสามารถทั้งหลายเหล่านี้ ขงจื่อกลับชื่นชมเหยียนหุยแต่เพียงผู้เดียวว่ามีความวิริยะใฝ่ศึกษามากเป็นที่สุด อย่างเช่นในครั้งหนึ่ง ขณะที่ขงจื่อได้สนทนาด้วยจื่อก้งอยู่นั้น ท่านได้ถามจื่อก้งขึ้นว่า “เจ้ากับเหยียนหุยใครเก่งกว่ากัน” จื่อก้งตอบว่า “ศิษย์ไหนเลยจะกล้าเทียบกับเหยียนหุยได้ เหยียนหุยเรียนหนึ่งรู้สิบ แต่ศิษย์เรียนหนึ่งรู้เพียงสองเท่านั้น” ขงจื่อฟังแล้วก็กล่าวว่า “เทียบไม่ได้เลย ข้ากับเจ้าต่างเทียบไม่ได้เลย”
จากบทสนทนาระหว่างขงจื่อและจื่อก้งนี้ ทำให้เห็นความจริงข้อหนึ่งว่า ขงจื่อไม่เพียงแต่ชื่นชมเหยียนหุยว่ามีความวิริยะใฝ่ศึกษาเท่านั้น หากแต่ยังรู้สึกว่า ตนยังเทียบเหยียนหุยไม่ได้เลยเสียด้วยซ้ำ สำหรับเรื่องนี้ คงเป็นเรื่องที่เราทุกคนยากจะจินตนาการได้ว่า สำหรับบรมครูผู้ใฝ่เรียนและมากปัญญาเช่นท่านขงจื่อ ปกติเราก็ยังรู้สึกทึ่งในความรู้ความสามารถที่เกิดจากความวิริยะใฝ่ศึกษาของท่านอยู่แล้ว แต่ท่านกลับยังถ่อมตนและกล่าวว่า “ในด้านความวิริยะใฝ่ศึกษาของท่าน ยังเทียบไม่ได้กับเหยียนหุยเลยเสียด้วยซ้ำ” ดังนั้นความวิริยะใฝ่ศึกษาของเหยียนหุยนั้น ก็คงจะอยู่เหนือจินตนาการของปุถุชนผู้เกียจคร้านเช่นพวกเราแล้วจริงๆ
เหยียนหุยมีความรักเรียนใฝ่ศึกษามากเป็นที่สุด สำหรับท่าทีในการศึกษาวิชาของเหยียนหุยนั้น ท่านจะนิ่งฟังสิ่งที่ขงจื่อสอนอย่างพิเคราะห์ ครั้นได้ฟังสิ่งที่ขงจื่อได้สอนมาแล้ว ท่านก็จะทบทวนสิ่งที่เรียนรู้มาอย่างเงียบๆ เสมือนหนึ่งว่าได้จมดิ่งอยู่ในภวังค์แห่งความคิดอย่างมีความสุข
ในด้านการศึกษาวิชาความรู้นั้น หลายคนคงต้องเรียนรู้เพราะความจำเป็นบังคับ แต่จะมีสักกี่คนที่สามารถมีความสุขใจในสิ่งที่กำลังเรียนเช่นเหยียนหุยได้ เพราะเหยียนหุยมีความสุขใจในสิ่งที่เรียน ดังนั้นท่านจึงร่ำเรียนวิชาเสมือนหนึ่งสราญท่องในทะเลแห่งวิทยา ศิลปะวิทยาและคุณธรรมคำสอนจึงอาบอิ่มอยู่ในทุกห้วงความคิด อบอวลอยู่ในทุกลมหายใจ ด้วยการเรียนรู้อย่างสำราญกับสิ่งที่เรียนเช่นนี้ จึงจะนับว่าเป็นสุดยอดแห่งการเรียนรู้ ดังที่ขงจื่อได้เคยกล่าวกับลูกศิษย์ว่า “อันผู้รู้ยังมิอาจสู้ผู้มีใจรัก แต่ผู้มีใจรักก็ยังมิอาจเท่าผู้ที่สราญในนั้นได้” และผู้ที่สามารถทำเช่นนี้ได้ ก็คือเหยียนหุยท่านนี้เองแล
และก็เนื่องด้วยเหยียนหุยมุ่งมั่นใฝ่ธรรม มีความสุขสำราญในการบำเพ็ญปฏิบัติอย่างพากเพียร ท่านจึงปฏิบัติจนถึงขั้น “สามเดือนมิขัดต่อเมตตาธรรม” ได้ ในข้อนี้จึงมิใช่เรื่องที่ง่ายดายเลย หากเทียบกับคนธรรมดาสามัญเช่นเราแล้ว ในหนึ่งวันก็คงมีเรื่องที่ผิดต่อเมตตาธรรมทั้งกายวาจาใจไม่รู้กี่มากน้อยเสียแล้ว
ลูกศิษย์ของขงจื่อมีจำนวนมากถึงสามพันคน และศิษย์ที่ได้รับการยอมรับว่ามีความปราดเปรื่องมากความสามารถก็มีมากถึง 72 คน แต่เหยียนหุยกลับเป็นศิษย์ที่ขงจื่อให้การยอมรับและรักใคร่ หรือกระทั่งยังกล่าวยกย่องชมเชยอยู่บ่อยครั้งมากที่สุด เหตุที่เป็นเช่นนี้ นั่นก็เพราะเหยียนหุยมีความวิริยะใฝ่ศึกษา และมีความตั้งใจในการนำคำสอนของขงจื่อมาปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวันอย่างมุ่งมั่นนั่นเอง
ครั้งหนึ่ง เหยียนหุยใคร่รู้ว่า พึงทำอย่างไรจึงจะบรรลุสู่ภาวะสูงสุดแห่ง “เมตตาธรรม” ได้ ขงจื่อจึงตอบว่า “สำรวมตนสู่จริยธรรมนั้นก็คือเมตตาธรรม ครั้นทุกคนต่างสำรวมตนสู่จริยธรรมแล้ว โลกหล้าล้วนหวนคืนสู่เมตตาธรรมทั้งสิ้น แต่การปฏิบัติแห่งเมตตาธรรมนั้นพึงอยู่ที่ตน มีด้วยฤๅที่จะอยู่ที่ผู้อื่น ?”
ครั้นเหยียนหุยได้ฟังขงจื่ออธิบายว่า “การจะบรรุลในเมตตาธรรม จะต้องสำรวมตนสู่จริยธรรม ทั้งยังต้องนำพาผู้อื่นให้สำรวมตนสู่จริยธรรมอีก เช่นนี้ก็คือเมตตาธรรม” แต่เหยียนหุยยังต้องการทราบถึงรายละเอียดในข้อปฏิบัติ จึงถามอีกว่า “ขอให้ท่านอาจารย์ได้โปรดเมตตาอธิบายซึ่งรายละเอียดด้วยเถิด?”
ขงจื่อตอบว่า “มิชอบด้วยจริยธรรมมิพึงดู มิชอบด้วยจริยธรรมมิพึงฟัง มิชอบด้วยจริยธรรมมิพึงกล่าว มิชอบด้วยจริยธรรมมิพึงทำ”
ครั้นเหยียนหุยได้ฟังแล้วก็ปีติยินดียิ่ง จึงกล่าวว่า “แม้นศิษย์จะมิปราดเปรื่อง แต่จะขอปฏิบัติตามคำสอนของท่านอาจารย์”
หลังจากเหยียนหุยได้ทราบข้อธรรมในการปฏิบัติตนแล้ว ท่านก็วิริยะพากเพียรในการสำรวมตนทั้งกายวาจาใจ สำรวมตนทั้งด้านการมอง การฟัง การพูด และการทำ หากมีสิ่งใดที่ไม่ชอบด้วยหลักแห่งจริยธรรมแล้ว ท่านก็จะระมัดระวังตนอยู่ตลอดเวลา และหากแม้นได้มีสิ่งใดที่ผิดพลั้งไป ท่านก็จะรีบทำการปรับปรุงแก้ไขโดยไม่รอช้า ด้วยเพราะเหตุนี้ เหยียนหุยจึงไม่ผิดซ้ำสอง สามเดือนไม่ผิดต่อเมตตาธรรมนั่นเอง
ปณิธาน
ในขณะที่ขงจื่อถ่ายทอดวิชาความรู้ และอบรมสั่งสอนคุณธรรมให้ศิษย์ทุกคนได้เพียรปฏิบัติจนเป็นหนึ่งวิญญูชนนั้น ท่านก็มักจะสอบถามปณิธานของศิษย์อยู่เสมอ เหตุที่ท่านชอบอาศัยโอกาสถามไถ่ปณิธานของศิษย์ นั่นก็เพราะต้องการทราบถึงอุดมการณ์ ทราบถึงวิถีความคิด และทราบถึงระดับการบำเพ็ญปฏิบัติของศิษย์แต่ละคนว่าได้เป็นเช่นไรแล้ว ในข้อนี้ เหยียนหุยก็เคยตอบซึ่งปณิธานของตนให้ท่านขงจื่อได้รับทราบ ดังบทสนทนาในต่อไปนี้
ครั้งหนึ่ง เหยียนหุยและจื่อลู่อยู่เคียงข้าง ขงจื่อจึงพูดขึ้นว่า “ไยไม่ลองกล่าวปณิธานของพวกเจ้าหน่อยล่ะ ?” จื่อลู่พูดว่า “ข้ายินดีแบ่งปันรถม้า ม้า แลชุดหนังให้เพื่อนยืมใช้ แม้จะใช้จนเสียไปก็หาเคืองใจไม่” เหยียนหุยกล่าวว่า “ข้าหวังว่า จะไม่โอ้อวดความสามารถ อีกไม่ประกาศคุณความดีของตน” จื่อลู่ถามขงจื่อว่า “ศิษย์อยากทราบปณิธานของท่านอาจารย์บ้าง” ขงจื่อกล่าวว่า “ข้าหวังให้ผู้ชราสุขสบาย มิตรสหายถือสัจจา กุมาราถูกเอ็นดู”
นอกจากนี้ เมื่อครั้งที่ขงจื่อ จื่อก้ง จื่อลู่ และเหยียนหุยท่องเที่ยวบนภูเขาหนงซัน ขงจื่อก็ได้ทำการสอบถามซึ่งปณิธานของลูกศิษย์อีกเช่นเดียวกัน ดังที่มีปรากฏบันทึกในขงจื่อเจียอวี่ดังนี้
ในครั้งนั้น ขงจื่อกวาดตามองรอบทิศ พลางถอนใจแล้วถามปณิธานของศิษย์ทั้งสามเช่นกันว่า “ถ้าจะให้สาธยายซึ่งความคิดของพวกเจ้าในที่นี้ คงไม่มีอะไรที่ไม่กล่าวได้แล้วกระมัง เจ้าทั้งสามมิไยกล่าวซึ่งปณิธานให้ฟังสักหน่อย? แล้วข้าจะทำการคัดเลือกอีกที”
จื่อลู่ก้าวขึ้นมาข้างหน้า พร้อมกล่าวว่า “ศิษย์หวังจะมีธงชัยขนนกขาวที่สกาวดุจจันทรา มีธงชัยขนนกแดงที่แดงฉานดุจสุริยา เสียงฆ้องกลองสนั่นลั่นนภา ธงทัพหลากสีดาษดื่นทั่วปฐพี ทั้งหมดนี้ให้ศิษย์เป็นผู้นำทัพรณรงค์ด้วยศัตรู ก็จักสามารถช่วงชิงแผ่นดินได้ไกลนับพันลี้ ชิงธงของศัตรู ถือหูของข้าศึก สิ่งนี้มีเพียงศิษย์ที่สามารถทำได้ และศิษย์จะให้จื่อก้งและเหยียนหุยคอยติดสอยห้อยตาม”
ขงจื่อกล่าวว่า “หาญกล้านักแล”
จื่อก้งก้าวขึ้นและกล่าวว่า “ศิษย์ปรารถนาให้ได้รับการแต่งตั้งเป็นทูตในท่ามกลางสมรภูมิที่เคว้งคว้างสุดลูกหูลูกตาระหว่างเมืองฉีและเมืองฉู่ สองปราการประชันหน้า ฝุ่นธุลีลอยคละคลุ้ง คมศาสตราประจัญบาน แลศิษย์จะสวมชุดขาวเศวตมาลา เจรจาในท่ามกลาง วิเคราะห์ซึ่งผลดีร้าย คลี่คลายซึ่งวินาศภัย สิ่งนี้มีเพียงศิษย์ที่สามารถทำได้ และศิษย์จะให้จื่อลู่และเหยียนหุยคอยติดสอยห้อยตาม”
ขงจื่อกล่าวว่า “ชาญเจรจานักแล”
ครานั้นเหยียนหุยหลบเลี่ยงไม่กล่าววาจา ขงจื่อกล่าวว่า “เหยียนหุย มาสิ หรือเจ้าจะไม่มีปณิธานเลยอย่างนั้นฤๅ?”
เหยียนหุยกล่าวว่า “กิจแห่งบุ๋นและบู๊ ศิษย์พี่ทั้งสองต่างก็ได้กล่าวไปแล้ว ศิษย์คงไม่มีอะไรจะกล่าวได้อีก”
ขงจื่อกล่าว่า “แม้นจะเป็นเช่นนั้นก็จริง แต่ก็แค่แสดงปณิธานของแต่ละคนเท่านั้น เจ้าก็ลองกล่าวมาเถอะ”
เหยียนหุยกล่าวว่า “ศิษย์ได้ยินมาว่า หญ้าหอมและหญ้าฉุนต้องแยกภาชนะจัดเก็บ กษัตริย์เหยาและกษัตริย์เจี๋ยพึงแยกประเทศในการปกครอง เหตุเพราะแตกต่างกันแล สำหรับศิษย์นั้น ศิษย์ปรารถนาที่จะถวายตัวรับใช้พระอริยราช บริหารด้วยห้าศาสตร์ นำพาด้วยคีตะจริยา ยังให้ปวงประชาไม่จำต้องบูรณะป้อมปราการ ไม่ก้าวล้ำคูเมืองกันไปมา หลอมหอกดาบเป็นจอบผาล ปล่อยโคม้าที่หนองทุ่ง ครอบครัวมิต้องกังวลเรื่องม่ายกำพร้า พาราไร้การศึกตราบกาลนาน เมื่อเป็นเช่นนี้ จื่อลู่ก็จะไร้ที่สำแดงความกล้าหาญ จื่อก้งก็จะไร้โอกาสจำนรรจาแล”
ขงจื่อกล่าวอย่างเคร่งขรึมว่า “ช่างเป็นคุณธรรมที่งดงามล้ำยิ่งแล” จื่อลู่ชูกรขึ้นกล่าวว่า “ท่านอาจารย์เลือกคนไหนฤๅ?” ขงจื่อกล่าวว่า “ไม่เสียทรัพย์ ไม่เบียดเบียนประชา ไม่มากด้วยวาจา ก็ย่อมต้องเป็นบุตรแห่งเหยียนลู่นั่นแล”
จากการแสดงซึ่งปณิธานของเหยียนหุย ก็พอจะทำให้ทราบได้ว่า เหยียนหุยมีจิตใจที่สมถะ ไม่โอ้อวดซึ่งความสามารถ ไม่ยึดติดในผลงาน ทั้งยังมีจิตใจที่กว้างใหญ่ มีเมตตาธรรมที่เป็นเลิศ ด้วยเพราะเหตุนี้ ขงจื่อจึงมักชื่นชมเหยียนหุยว่าเป็นผู้มีเมตตาธรรมนั่นเอง
คุณธรรมของเหยียนหุย
โบราณว่า “คนมีภัสตราห่อหุ้มกายา ส่วนพระปฏิมาก็มีสุพรรณกาญจนาเป็นอาภรณ์” และสำหรับปราชญ์วิญญูผู้มีปณิธานอันยิ่งใหญ่นั้นเล่า นอกจากจะมีอาภรณ์ที่เรียบง่ายประดับกายแล้ว ก็ยังมีคุณธรรมอันประเสริฐเป็นอาภรณ์ประดับใจ สำหรับเหยียนหุยเองก็มีคุณธรรมที่สูงส่ง และมีความหนักแน่นมั่นคงดั่งทองนพคุณที่สามารถทนต่อการเคี่ยวหลอมของเปลวเพลิง ดังได้ปรากฏในเหตุการณ์ต่อไปนี้
ครั้งหนึ่ง ขงจื่อถูกดักล้อมระหว่างแคว้นเฉินและแคว้นไช่ ทั้งคณะจึงต้องอดข้าวไร้อาหารเป็นเวลานานถึง ๗ วัน ครานั้นจื่อก้งได้ลักลอบนำสมบัติไปแลกข้าวสารมาได้จำนวนหนึ่ง เหยียนหุยและจื่อลู่จึงนำไปหุงที่บ้านร้าง แต่ขี้ผงบนหลังคาได้ตกลงไปในหม้อข้าวโดยบังเอิญ เหยียนหุยจึงตักส่วนที่สกปรกนั้นเข้าปาก จื่อก้งซึ่งยืนอยู่ริมบ่อข้างบ้านร้างเห็นเหตุการณ์โดยตลอด รู้สึกไม่พอใจยิ่ง จึงเดินไปถามขงจื่อว่า “บัณฑิตผู้เปี่ยมด้วยเมตตาธรรม เมื่อถึงคราวอับจน เขาจะยอมขายจิตวิญญาณของตนหรือไม่ ?”
ขงจื่อตอบว่า “ในเมื่อได้ขายจิตวิญญาณของตนแล้ว จะนับเป็นบัณฑิตผู้เปี่ยมด้วยเมตตาธรรมได้ไย ? ”
จื่อก้งถามขึ้นว่า “แล้วอย่างเหยียนหุยที่มีคุณธรรมอันงดงาม ท่านอาจารย์ก็กล่าวชมเขาอยู่เสมอ หมายความว่าเขาจะไม่มีวันขายจิตวิญญาณของตนอย่างนั้นหรือ ?”
ขงจื่อกล่าวว่า “แน่นอน เหยียนหุยจะไม่ทำสิ่งที่ขายจิตวิญญาณของตนอย่างแน่นอน” จื่อก้งจึงนำเหตุการณ์การลักกินข้าวของเหยียนหุยเล่าให้ขงจื่อฟังโดยละเอียด ขงจื่อรู้สึกตกตะลึงยิ่ง จึงกล่าวขึ้นว่า “ข้ามีความเชื่อมั่นในคุณธรรมของเหยียนหุยมาช้านาน เรื่องที่เจ้าเล่ามาข้ายังไม่อาจปักใจเชื่อ และหากเหยียนหุยกระทำเช่นนั้นจริง เชื่อว่าต้องมีสาเหตุเป็นแน่แท้ เจ้ายังไม่ต้องกล่าวออกไป ปล่อยให้ข้าจัดการเรื่องนี้เอง”
ขงจื่อจึงเรียกตัวเหยียนหุยเข้าพบ กล่าวขึ้นว่า “วันก่อนข้าฝันเห็นบรรพบุรุษ ดังนั้นจึงอยากจะบูชาบรรพบุรุษสักหน่อย เจ้ารีบหุงข้าวเถอะ ข้าจะได้นำข้าวมาบูชาบรรพชนของข้า”
เหยียนหุยตอบว่า “ข้าวนั้นใช้บูชาไม่ได้แล้ว เพราะมีขี้ผงตกจากหลังคา หากปล่อยไว้ข้าวก็จะเสียทั้งหม้อ ถ้าทิ้งไปก็น่าเสียดาย เพราะทุกคนต่างก็เหน็ดเหนื่อยหิวโหยกันมานาน ดังนั้นศิษย์จึงตักส่วนที่สกปรกนั้นทานเสียเอง ข้าวนี้จึงมิอาจใช้บูชาได้อีก” กล่าวจบ เหยียนหุยก็ขอตัวจากไป
ขงจื่อปรารภกับศิษย์ทุกคนว่า “ความเชื่อใจที่ข้ามีต่อเหยียนหุย มิใช่เพิ่งจะมีในตอนนี้หรอก” นับแต่นั้น ทุกคนจึงยิ่งเคารพนับถือเหยียนหุยมากขึ้นเป็นทวี
ความรักศิษย์อาจารย์
เหยียนหุยติดตามขงจื่อเป็นเวลานานนับหลายสิบปี ได้เรียนวิชาความรู้และคุณธรรมในการดำเนินชีวิตกับท่านขงจื่อตั้งแต่อายุยังน้อย ดังนั้นในจิตใจของเหยียนหุย จึงรักและกตัญญูต่อขงจื่อเสมอด้วยบิดาตน ขณะเดียวกันก็เคารพนับถือขงจื่อเหมือนดั่งมหาบุรุษที่ยิ่งใหญ่อย่างหาใดเปรียบปาน ดังนั้นขงจื่อจึงเป็นต้นแบบในการดำเนินชีวิตของเหยียนหุยเสมอมา
ครั้งหนึ่ง เหยียนหุยได้บรรยายความรู้สึกที่มีต่อขงจื่อให้ศิษย์พี่น้องทุกคนฟังว่า “สำหรับท่านอาจารย์นั้น ยิ่งแหงนมองยิ่งเห็นว่าท่านสูงผงาด ยิ่งค้นคว้ายิ่งรู้สึกว่าความรู้ท่านหนักแน่น ครั้นมองก็อยู่เพียงหน้า แต่พริบตาก็อยู่ด้านหลัง ท่านอาจารย์โน้มน้าวประสิทธิ์วิชาอย่างเป็นขั้นตอน ทำให้ข้าชำนาญด้วยศิลปวิชา ทำให้ข้ามีระเบียบด้วยธรรมจริยา จนแม้นข้าอยากหยุดก็มิอาจกระทำได้ ข้าจึงทุ่มสุดกำลังความสามารถ แต่ท่านก็ยังคงเด่นผงาดอยู่เพียงเบื้องหน้า แม้นประสงค์จะไล่ให้ทัน ก็มิอาจทำได้เลยแล (บทจื่อฮั่นตอนที่ ๑๐)”
ในด้านขงจื่อ ท่านก็ให้ความรักและความเอ็นดูต่อเหยียนหุยเหมือนเช่นบุตรคนหนึ่งเช่นเดียวกัน ดังเมื่อครั้งที่ขงจื่อประสบเคราะห์ที่หมู่บ้านควง ตอนนั้นคณะขงจื่อได้ถูกผู้ประสงค์ร้ายดักล้อมอยู่เป็นเวลาหลายวัน สุดท้ายขงจื่อจึงตัดสินใจฝ่าวงล้อมออกไป ในท่ามกลางความชุลมุนวุ่นวายนั้น เหยียนหุยเกิดพลัดหายไปในระหว่างทาง ในภายหลังเหยียนหุยสามารถไล่ตามขงจื่อได้ทัน ครั้นขงจื่อได้เห็นเหยียนหุยก็กล่าวขึ้นด้วยความดีใจว่า “ข้าเข้าใจว่าเจ้าตายไปแล้วเสียอีก” เหยียนหุยกล่าวว่า “ท่านอาจารย์ยังอยู่ ศิษย์ไยกล้าด่วนตายก่อนได้”
แม้นจะเป็นเพียงคำพูดสั้นๆ ที่บันทึกอยู่ในคัมภีร์หลุนอวี่ แต่ในระหว่างอักษรเพียงไม่กี่คำนี้ ก็พอจะเห็นถึงความสัมพันธ์ของศิษย์อาจารย์ทั้งสองที่รักและห่วงใยกันและกันได้เป็นอย่างดี
นอกจากขงจื่อจะรักและเอ็นดูเหยียนหุยเหมือนเช่นบุตรคนหนึ่งแล้ว ท่านก็ยังรักและปฏิบัติต่อเหยียนหุยเหมือนเช่นเพื่อนรู้ใจคนหนึ่งด้วยเช่นกัน ความจริงในข้อนี้ก็สามารถเห็นได้จากบทสนทนาและคำชื่นชมที่มีปรากฏอยู่ในคัมภีร์หลุนอวี่
ดังเช่นครั้งหนึ่ง ขงจื่อได้กล่าวกับเหยียนหุยว่า “สบธีรราชก็ถวายตัวรับใช้ชาติ ครั้นถูกละเลยก็ซ่อนเร้นอำพรางตน อุดมการณ์เช่นนี้ คงมีเฉพาะเจ้ากับข้ากระมัง”
ขงจื่อเป็นอริยเจ้าที่ไม่สนใจในลาภยศสรรเสริญแต่อย่างใด ท่านเคยบอกว่า “อันลาภและยศ สำหรับท่านแล้วก็มิต่างอะไรกับหมอกควัน” ดังนั้นแม้นจะไม่เป็นที่ยอมรับ ขงจื่อก็จะไม่หยุดบำเพ็ญเพียรด้วยเพราะไม่มีใครเห็นซึ่งคุณธรรมความสามารถของตนแต่อย่างใด ท่านจึงกล่าวว่า “ดอกกล้วยไม้จะไม่หยุดส่งกลิ่นหอมเพราะอยู่ในป่าลึกจนไม่เป็นที่รับรู้ของผู้คน ส่วนวิญญูผู้มีคุณธรรมอันสูงส่ง ก็จะไม่หยุดเพียรบำเพ็ญด้วยเพราะไม่เป็นที่ยอมรับของผู้อื่น” และขงจื่อก็มั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า สำหรับผู้ที่มีคุณธรรมความสามารถ และมีจิตใจที่ไม่หลงใหลไปกับยศฐาบันดาศักดิ์ ก็คือศิษย์รักเหยียนหุยคนนี้นี่เอง
นอกจากนี้ ขงจื่อยังเห็นว่า เหยียนหุยเป็นวิญญูชนผู้มากบารมีที่สามารถผสานรอยร้าวของผู้คนให้มีความสมัครสมานสามัคคีได้มากยิ่งขึ้น ดังนั้นหลังจากเหยียนหุยได้ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว ท่านได้เคยรำพันถึงเหยียนหุยว่า “นับตั้งแต่ข้ามีเหยียนหุยเป็นศิษย์ ศิษย์ในสำนักก็สนิทสนมกันมากยิ่งขึ้น”
ท่านยังมักจะชมเหยียนหุยให้ผู้อื่นฟังอยู่เสมอ ดังเช่นครั้งหนึ่ง หลู่ไอกงอยากจะทราบว่า ในศิษย์ของขงจื่อที่มีมากถึงสามพันคนนั้น ศิษย์คนไหนที่ขงจื่อโปรดปรานมากเป็นที่สุด จึงถามว่า “ในบรรดาศิษย์ของท่าน ใครใฝ่ศึกษามากที่สุด ?” ขงจื่อกราบทูลว่า “เหยียนหุยใฝ่ศึกษามากที่สุด ด้วยเป็นคนไม่พาลอารมณ์ ไม่ผิดซ้ำสอง แต่น่าเสียดายที่เขาอายุสั้นวายปราณไปเสียแล้ว ปัจจุบันก็มิมีใครเยี่ยงเหยียนหุยได้อีก แลข้าก็มิเคยได้ยินว่ามีผู้ใฝ่ศึกษาอีกเลย”
อาสัญ
แต่ช่างโชคร้ายเป็นอย่างยิ่ง เมื่อเหยียนหุยอายุเพียง ๓๙ ปีผมก็ขาวโพลนทั่วศีรษะ อายุเพียง ๔๐ ปีก็ถึงแก่อนิจกรรมไปเสียแล้ว ขงจื่อร้องไห้เสียใจปานฟ้าถล่มทลาย แต่ที่เสียใจหาใช่การตายของเหยียนหุยแต่อย่างเดียวไม่ หากแต่เพราะบุคคลที่จะเป็นผู้สืบสานธรรมพงศาต่อไปในอนาคตได้ตายจากไปต่างหาก ศิษย์ทุกคนต่างเฝ้าปลอบใจอาจารย์ให้ระงับความโศกว่า “อาจารย์ ท่านเสียใจจนเกินไปแล้ว” ขงจื่อกล่าวว่า “หากข้าไม่เสียใจให้กับคน ๆ นี้ แล้วจะให้ข้าเสียใจกับใครล่ะ ?”
แม้นเหยียนหุยจะจากไปนานแล้วก็จริง แต่กาลเวลาก็มิอาจที่จะสมานรอยแผลที่สูญเสียศิษย์รักให้จางหายไปได้ง่ายๆ เลย ครั้งหนึ่ง ขงจื่อได้รำพันถึงเหยียนหุยว่า “น่าเสียดายนักหนา ข้าเห็นแต่เขาวิริยะบากบั่น มิเคยเห็นเขาหยุดเลยแม้แต่น้อย (บทอิ๋วจื่อ ตอนที่ ๒๐)”
หลังจากเหยียนหุยได้จากไป นอกจากจะสร้างความเจ็บปวดให้กับขงจื่อแล้ว ความจริงเหล่าศิษย์พี่น้องก็รู้สึกเสียใจและอาลัยรักเหยียนหุยไม่น้อยเช่นกัน ในตอนนั้น ด้วยแม้นเหยียนหุยจะมีความรู้ความสามารถจนเป็นที่ประจักษ์แล้วก็จริง แต่เนื่องจากท่านไม่มีใจหมายในลาภยศสรรเสริญ ดังนั้นจึงไม่มีทรัพย์สินติดตัวแต่อย่างใด ศิษย์พี่น้องทุกคนเกรงว่างานอวลมงคลพิธีของเหยียนหุยจะไม่สมกับกิตติคุณความดีที่มี ดังนั้นเหยียนลู่ซึ่งเป็นบิดาของเหยียนหุย จึงมาเรียนอนุญาตจากขงจื่อให้จัดอวมงคลพิธีให้กับเหยียนหุยอย่างสมเกียรติ แต่ขงจื่อก็มิได้อนุญาต
เหตุที่ขงจื่อมิได้อนุญาต นั่นก็เพราะตามหลักจริยธรรมในสมัยนั้น ได้มีการกำหนดให้ผู้คนใช้จริยพิธีที่สอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ที่เป็น สำหรับเหยียนหุยนั้นมิใช่ขุนนาง ดังนั้นการที่จะจัดพิธีให้ยิ่งใหญ่เกินเลยจากฐานะจึงเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม ในอีกประการหนึ่ง การที่เหยียนหุยมีฐานะยากจน แต่กลับจัดพิธีศพอย่างยิ่งใหญ่จนเกินเลยกว่าฐานะที่เป็นอยู่ การกระทำเช่นนี้จะเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนเอาอย่าง สุดท้ายก็จะกลายเป็นบรรยากาศแห่งความฟุ้งเฟ้อ ผู้คนจะขาดความมัธยัสถ์ จะทำสิ่งใดก็หวังแต่เพียงหน้าตา มุ่งแต่เทิดทูนสิ่งมีค่าภายนอกเหนือยิ่งกว่าคุณค่าแห่งธรรมที่ภายใน สิ่งนี้จึงเป็นสิ่งที่ขงจื่อไม่อยากให้เป็น ดังนั้นสิ่งที่ขงจื่อคิดและกังวล จึงเป็นวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลเกินกว่าที่ลูกศิษย์ทุกคนจะเข้าถึง แม้นสุดท้ายทุกคนจะยังคงฝ่าฝืนและจัดพิธีศพให้กับเหยียนหุยอย่างยิ่งใหญ่และสมศักดิ์ศรีแล้วก็ตาม แต่ในภายหลัง ขงจื่อก็ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “อันเหยียนหุยนั้น ปฏิบัติต่อข้าประหนึ่งบิดา แต่ข้ากลับมิอาจปฏิบัติต่อเขาเสมือนบุตรได้ ที่ทำเช่นนั้นมิใช่เจตนาของข้า หากเป็นความคิดของเหล่าศิษย์ต่างหาก”
ชีวิตคนเราไม่มีใครที่สามารถยืนยงคงกระพันได้ หากจะมีอยู่เพียงสิ่งหนึ่งที่มีความอมตะเหนือกาลเวลา นั่นก็คือคุณธรรมอันอุโฆษ คือเมตตาธรรมที่เจิดจรัส คือเกียรติประวัติที่ผู้คนรำลึกถึง ด้วยแม้นสังขารของเหยียนหุยจะดับสลายมลายเป็นดิน แต่กิตติคุณความดีของท่านก็หาได้พินาศสิ้นไปตามกาลเวลาไม่ ดังนั้นชนใต้หล้าจึงสรรเสริญเทิดทูนท่านให้เป็นพระอริยะฟู่เซิ่ง (復聖) อันมีความหมายว่าพระอริยเจ้าอีกท่านหนึ่งต่อจากปรมาจารย์ขงจื่อ และนี่ก็คืออีกหนึ่งประจักษ์ความดี ที่แม้ชีวีจะแสนสั้นเพียง ๔๐ ปี
โฆษณา