Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ยิปซี สำนักพิมพ์
•
ติดตาม
23 ต.ค. 2019 เวลา 07:36 • ประวัติศาสตร์
ไขความลับของนักรบซูลู
ชาวซูลู (Zulu) คือชนเผ่านักรบที่ลือนามในแอฟริกาใต้ปัจจุบัน พวกเขาคือกลุ่มชนพื้นเมืองที่ทำให้จักรวรรดิอังกฤษต้องสะเทือน อะไรกันที่ทำให้ชนเผ่าผู้ใช้อาวุธโบราณสามารถงัดข้อกับมหาอำนาจอังกฤษที่มีอาวุธอันทันสมัยได้หลายปี
ความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรซูลูเป็นผลพวงการปฏิรูปของ ‘ชากา ซูลู’ (Shaka Zulu) กษัตริย์ผู้ได้รับสมญานามว่า ‘นโปเลียนแห่งซูลู’
ชากาขึ้นเป็นกษัตริย์ของเผ่าซูลูตั้งแต่ปี 1816-1828 ตลอดทั้งชีวิตเขาอุทิศให้กับการทำสงครามกับชนเผ่ารอบข้างและสร้างอาณาจักรซูลูขึ้น จากจุดเริ่มต้นเพียงชนเผ่าเล็กๆ ชากานำได้แผ่ขยายดินแดนจนกลายเป็นอาณาจักรกว้างใหญ่กินพื้นที่กว่า 3 หมื่นตารางกิโลเมตร มีประชากรราว 250,000 ชีวิต และนี่คือปัจจัยที่ทำให้ชาวซูลูก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าแห่งทวีปแอฟริกาตอนใต้ได้
ปฏิวัติการทำสงคราม
.
ชาวซูลูมีความขัดแย้งกับชนเผ่าอื่นรอบเขตแดนเป็นเรื่องปกติ ในการปะทะกัน นักรบชาวซูลูจะยืนประจันหน้ากับอีกฝ่ายและก่นด่ากันก่อนจะซัดหอกใส่กันจนฝ่ายหนึ่งยอมจำนน แล้วแยกย้ายกลับไปถิ่นของตน การรบแบบดั้งเดิมเป็นเพียงการยุติความขัดแย้งระหว่างเผ่าหรือแสดงพลังของกลุ่มเท่านั้น ไม่ได้เป็นการรบพุ่งแย่งชิงดินแดนหรือทำลายล้างศัตรู
.
เมื่อชากาขึ้นมามีอำนาจ เขาเปลี่ยนจุดประสงค์ของสงครามไปอย่างสิ้นเชิง นักรบซูลูออกทำสงครามด้วยขบวนทัพแบบใหม่ เข้าปะทะกับข้าศึกในระยะประชิด และตามสังหารข้าศึกไม่ลดละ นักรบซูลูบุกไปตามหมู่บ้านและสังหารผู้คนจนกว่าอีกฝ่ายจะยอมศิโรราบต่อเผ่าซูลู จากนั้นชาวซูลูจะบีบให้เผ่าที่ยอมแพ้หันมาใช้วิถีชีวิตแบบซูลู รวมถึงนำชาวบ้านมาเป็นทหารและฝึกอาวุธแบบซูลู กลืนชนเผ่าอื่นเข้ามาเป็นซูลูในที่สุด ชาวซูลูได้เปลี่ยนจากกลุ่มชนเผ่ากลายเป็นอาณาจักรผู้พิชิตอย่างแท้จริง
1
ออกแบบอาวุธใหม่
.
แต่เดิมนักรบซูลูใช้หอกยาว ‘อัซเซไก’ (assegai) สำหรับขว้าง ด้ามจับของหอกทำจากไม้ ส่วนหัวหอกทำจากเหล็กกล้าลับคม ระหว่างการปฏิรูป แม้อาวุธนี้จะอันตราย ทำให้เหยื่อต้องเสียเลือดจนตายได้ แต่ชากาไม่หยุดพิษสงของมันเพียงแค่นั้น เขาดัดแปลงหอกอัซเซไกใหม่ด้วยการทอนด้ามให้สั้นลงและเสริมใบมีดให้ยาวขึ้นสำหรับฟันแทง เกิดอาวุธชนิดใหม่ที่ผสานระหว่างหอกกับดาบที่เรียกว่า ‘อิคลวา’ (Iklwa) อาวุธชนิดนี้ทำให้นักรบชาวซูลูต้องบุกไปประชิดตัวอีกฝ่าย การรบรูปแบบใหม่จึงเกิดขึ้น
1
ขบวนรบเขาควาย
.
สงครามเป็นสิ่งตัดสินชะตาของอาณาจักรซูลูที่กำลังขยายตัว ชากาเล็งเห็นความสำคัญของยุทธวิธีมากกว่าจำนวน เขาออกกลยุทธ์ไหม้ที่ชื่อว่า ‘เขาอสูร’ (Beast Horns) หรือ ‘เขาควาย’ (Horns of the Buffalo)
วิธีการคือขบวนซูลูจะแบ่งทหารเป็น 3 ส่วนหลักตามร่างกายวัว ส่วนแรกคือ ‘ลำตัว’ อยู่ตรงกลาง ส่วนที่สองเรียกว่า ‘เขา’ คือปีกทั้งสองฝั่ง และส่วนสุดท้ายคือ ‘สะโพก’ เป็นกองกำลังเสริม
.
ในการรบ ส่วนตรงกลางจะบุกเข้าไปปะทะศัตรูโดยตรง ในขณะที่ศัตรูถูกตรึงไว้อยู่ กองทหารอีกส่วนจากปีกทั้งสองข้างจะแยกตัวออกมาเพื่อกระหนาบข้างศัตรูจนโดนปิดล้อมในวงสังหารเหมือนเขาสัตว์ที่โค้งออกไปข้างหน้า ส่วนทหารกลุ่ม ‘สะโพก’ อาจไปเสริมปีกทั้งสองข้างเพื่อทำลายขวัญศัตรู ขบวนรบนี้เองได้สร้างหายนะแก่กองทัพอังกฤษที่มีอาวุธทันสมัยในศึกที่ ‘อิซันลวานา’ (Isandlwana) ทำให้อังกฤษตระหนักได้ว่าชาวซูลูไม่ได้เป็นแค่ชนเผ่านักรบธรรมดาๆ
2
โล่คือชีวิต
.
โล่หนังของชาวซูลูไม่ใช่อุปกรณ์สำหรับนักรบเท่านั้น แต่ยังมีฟังก์ชันอื่นๆ ไม่ว่าจะเพื่อประกอบพิธีกรรม ล่าสัตว์ เต้นระบำ เกี้ยวพาราสี หรือแม้แต่บ่งบอกความอาวุโส กล่าวได้ว่าวิถีชีวิตชาวซูลูผูกพันกับโล่แทบแยกไม่ขาด โล่ที่พลเรือนทั่วไปใช้จะมีขนาดเล็ก อย่างโล่’อุมกาเบโลมุนเย’สำหรับเต้นรำ (umgabelomunye) มีเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 9 นิ้วเท่านั้น
.
ส่วนโล่ของทหารซูลูจะมีขนาดใหญ่เรียกว่า อิซิลังกุ (isihlangu) เป็นรูปทรงวงรีมีหัวกับปลายแหลม ทำจากหนังวัว มีความยาวราวๆ 1.5 เมตร ปกป้องลำตัวและขาได้มิดชิด มีน้ำหนักเบาคล่องตัว สามารถถือวิ่งได้สะดวก ชากาทำให้โล่นี้กลายเป็นมาตรฐานของนักรบซูลู ถึงขั้นส่งออกไปขายให้ชนกลุ่มอื่นได้
.
ในการรบ ชาวซูลูจะใช้โล่ใบใหญ่ที่มีแกนไม้แขงตรงกลางผลักและงัดจนโล่ข้าศึกหลุดจากมือแล้วใช้หอกหรือกระบองฟาดฟัน ลายหนังวัวของโล่ยังมีประโยชน์ในการพรางตัวเช่นกัน ชาวซูลูเคยใช้โล่นี้หลอกล่อผู้ตั้งถิ่นฐานชาวดัชต์ที่เรียกว่า ‘พวกบัวร์’ (Boers) ให้หลงมาติดกับ พวกบัวร์คิดว่าเจอฝูงวัวกำลังกินหญ้าอยู่บนภูเขา และรีบกรูเข้าไปหวังจะล่าสัตว์ได้ฝูงใหญ่ แต่กลับต้องพบกับนักรบซูลูผู้ซ่อนตัวหลังโล่วิ่งเข้าใส่จนแตกพ่ายไป
ทหารเกณฑ์ทั้งหมด
.
อาณาจักรซูลูไม่มีทหารอาชีพแต่อย่างใด ชายชาวซูลูทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 18-40 ปีจะถูกจัดเป็นหน่วยทหารต่างๆ เรียกว่า ‘อะมาบูโธ’ (amabutho) โดยแบ่งตามช่วงอายุ แต่ละหน่วยจะมีเครื่องแบบเหมือนกัน เครื่องแต่งกายของนักรบซูลูส่วนใหญ่จะทำจากหนัง ขนสัตว์ ขนนก และผ้า ยิ่งนักรบอาวุโสเท่าไหร่ก็ยิ่งมีขนนกประดับเด่นสะดุดตามากขึ้น นักรบที่อายุน้อยจะอาจใส่เพียงผ้าเตี่ยวผืนเดียวหรือหนังสัตว์ เวลาทำศึกนักรบซูลูจะตั้งค่ายและแบ่งหน้าที่กันไป เมื่อเสร็จศึกพวกเขาจะเดินทางกลับบ้านแล้วประกอบอาชีพตามเดิมจนกว่าจะถูกระดมพลอีกครั้ง
อ้างอิง
.
https://www.military-history.org/soldier-profiles/the-zulu-warriors.htm
https://www.britishbattles.com/zulu-war/battle-of-gingindlovu/
https://www.toptenz.net/10-amazing-facts-about-the-zulu-warriors.php
https://www.future-trans.com/africa-news/facts-about-zulu-culture-language-people/
https://interesting-africa-facts.com/Africa-People/Zulu-Facts.html
https://blog.rhinoafrica.com/2017/03/28/five-things-dont-know-zulu-culture/
https://moguldom.com/53733/10-things-didnt-know-isizulu/5/
14 บันทึก
47
5
10
14
47
5
10
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย