24 ต.ค. 2019 เวลา 12:18 • การศึกษา
“ต่อเติมทาวน์เฮ้าส์ให้เต็มพื้นที่ หากเพื่อนบ้านอนุญาตแล้วสามารถทำได้เลยหรือไม่ ?”
1
เมื่อบ้านที่เราอาศัยอยู่เริ่มคับแคบไม่เพียงพอกับจำนวนคนในครอบครัวที่เพิ่มขึ้น แต่การจะไปซื้อบ้านหลังใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิมก็ใช่ว่าเป็นเรื่องที่ทุกคนจะสามารถทำได้
pixabay
เพราะราคาบ้าน หรืออสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ ในประเทศไทยต่างขยับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งบางครั้งอาจจะเกินกำลังที่คนทั่วไปจะคิดฝันเป็นเจ้าของ
ดังนั้น การต่อเติม หรือดัดแปลงบ้านเก่าที่อาศัยอยู่แล้ว จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่นิยมทำกัน
แต่รู้หรือไม่ว่า การต่อเติม ดัดแปลง บ้านหรืออาคารซักหลังนั้น ไม่ใช่เรื่องที่อยู่ดี ๆ เราจะสามารถทำได้ทันที แม้ว่าเราจะเป็นเจ้าของบ้านหรืออาคารนั้นก็ตาม
pixabay
เพราะการต่อเติมหรือดัดแปลงอาคารนั้น จะต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารฯ ซึ่งได้กำหนดห้ามไม่ให้ก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร ให้ผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตหรือผิดไปจากเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดไว้ในใบอนุญาต
เว้นแต่ จะได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน หรือมีข้อยกเว้นอื่น ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด และหากฝ่าฝืน เจ้าพนักงานมีอำนาจดำเนินการกับเจ้าของอาคารตามกฎหมายควบคุมอาคารได้
ซึ่งคดีตัวอย่างในวันนี้ เจ้าของทาวน์เฮ้าส์ได้ต่อเติมอาคารในส่วนบริเวณด้านหน้าและด้านหลังจนเต็มพื้นที่ โดยอ้างว่าได้รับแจ้งจากทางโครงการว่าหากได้รับความยินยอมจากบ้านข้างเคียงแล้วก็สามารถทำได้
pixabay
และเห็นว่าบ้านหลังอื่น ๆ ก็ได้ดัดแปลงทาวน์เฮ้าส์ในลักษณะเดียวกัน จึงได้ลงมือต่อเติมทาวน์เฮ้าส์ของตนจนแล้วเสร็จ
ต่อมา มีคนมาร้องเรียนว่าทาวน์เฮ้าส์หลังดังกล่าวได้ก่อสร้างต่อเติมโดยไม่ถูกต้อง องค์การบริหารส่วนตำบลจึงได้เข้ามาตรวจสอบและพบว่าได้มีการก่อสร้างต่อเติมจริง
จึงได้มีคำสั่งให้รื้อถอนส่วนที่ดัดแปลงออกทั้งหมด
เจ้าของทาวน์เฮ้าส์ได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อพนักงานพิจารณาอุทธรณ์ แต่ก็ได้รับการยืนยันคำสั่งเดิม คือต้องรื้อถอน
pixabay
เจ้าของทาวน์เฮ้าส์จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานองค์การบริหารส่วนตำบล
ซึ่งศาลปกครองสูงสุดได้มีคำวินิจฉัยโดยสรุปอย่างนี้ครับ
1) ผู้ฟ้องคดี (เจ้าของทาวน์เฮ้าส์) ได้ดัดแปลงทาวน์เฮ้าส์ 2 ชั้น โดยได้ต่อเติมอาคารเต็มพื้นที่ว่างด้านหน้าและด้านหลังของอาคารเดิม โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น หรือแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคารฯ
2) การต่อเติมดัดแปลงทาวน์เฮ้าส์ทั้งด้านหน้าและด้านหลังเต็มพื้นที่ เป็นการขัดต่อกฎกระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ข้อ 33 ซึ่งออกตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคารฯ กำหนดให้อาคารอยู่อาศัยและอาคารอยู่อาศัยรวม ต้องมีที่ว่างไม่น้อยกว่า 30 ใน 100 ส่วนของพื้นที่ชั้นใดชั้นหนึ่งที่มากที่สุดของอาคาร
3) และยังขัดต่อข้อ 36 ของกฎกระทรวงดังกล่าว ซึ่งกำหนดให้บ้านแถวต้องมีที่ว่างด้านหน้าระหว่างรั้วหรือแนวที่ดินกับแนวผนังอาคารกว้างไม่น้อยกว่า 3 เมตร
และต้องมีที่ว่างด้านหลังอาคารระหว่างรั้วหรือแนวเขตที่ดินกับแนวผนังอาคารกว้างไม่น้อยกว่า 2 เมตร
ภาพประกอบโดยแอดมินเอง
4) การที่ผู้ฟ้องคดีได้ทำการต่อเติมดัดแปลงเต็มพื้นที่ว่างด้านหน้าและด้านหลังของอาคารเดิมดังกล่าวย่อมไม่สามารถแก้ไขโดยมีพื้นที่ว่างด้านหน้า 3 เมตรและด้านหลัง 2 เมตรได้
อีกทั้งไม่มีที่ว่างไม่น้อยกว่า 30 ใน 100 ส่วนของพื้นที่ชั้นใดชั้นหนึ่งที่มากที่สุดของอาคาร
พฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีจึงขัดต่อกฎหมาย และไม่สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ แม้ผู้ฟ้องคดีจะอ้างว่าได้รับความยินยอมจากเจ้าของบ้านข้างเคียงให้ก่อสร้างดัดแปลงแล้วก็ตาม
pixabay
5) เจ้าพนักงานท้องถิ่นจึงมีอำนาจออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีทำการรื้อถอนอาคารส่วนที่ดัดแปลงออกทั้งหมดได้ คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
1
6) การที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่ามีทาวน์เฮ้าส์หลังอื่น ๆ ที่ทำการดัดแปลงต่อเติมเช่นเดียวกัน
แม้ข้อเท็จจริงจะเป็นดังนั้น แต่ผู้ฟ้องคดีก็ไม่อาจอ้างเอาการทำผิดกฎหมายของบุคคลอื่นมาเป็นเหตุให้การกระทำผิดกฎหมายของผู้ฟ้องคดีชอบด้วยกฎหมายได้
7) ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายกฟ้อง
(อ้างอิงคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่
อ.75/2562)
pixabay
ขอบคุณภาพจาก pixabay
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา