25 ต.ค. 2019 เวลา 07:36 • ธุรกิจ
== คิดแบบบ้าน ๆ … ทำไมหุ้นแบงค์ร่วงแรง ==
..
หุ้นธนาคารลงหนักมากทั้งกลุ่มลบไป 4%
3 แบงค์ใหญ่ KBANK -7% SCB -6% BBL -3%
.
ราคาหุ้นจาก 200 กว่า เหลือ 100 ต้น ๆ ถึง 100 กลาง ๆ มีบางคนมองว่า อาจเห็นเลขต่ำร้อย
..
ลองคิดแบบง่าย ๆ บ้าน ๆ ดูกันมั้ยครับ ว่าทำไมหุ้นแบงค์ในช่วงที่ผ่านมานี้ถึงไม่น่าลงทุน
..
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจถึงโครงสร้างหุ้นแบงค์กันก่อนว่า วิธีการทำมาหากินหลัก ๆ แบ่งได้เป็น 2 อย่างคือ
.
• 60-70% ได้เงินจากส่วนต่างดอกเบี้ย คือ เอาเงินฝากดอกเบี้ยต่ำ ๆ ที่พวกเราฝากกัน ไปปล่อยกู้ให้กับคนที่ต้องการลงทุน ขยายกิจการ ต้องการซื้อบ้านซื้อรถ ด้วยดอกเบี้ยที่สูงกว่า แล้วก็กินส่วนต่างไป แบงค์จะได้เงินจากตรงนี้ถ้ามีคนกู้เงินเยอะ ส่วนต่างดอกเบี้ยสูง และไม่เบี้ยวหนี้
.
• 30-40% รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย หลัก ๆ ก็คือ ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เช่น โอนเงิน ประกันภัย บัตรเครดิต กำไรเงินลงทุน ค่านายหน้าหลักทรัพย์ เป็นต้น
===================
.
แล้วสถานการณ์ปัจจุบันที่เราเห็นคืออะไร
.
1. เศรษฐกิจไม่ค่อยจะดีทั้งไทยและทั่วโลก ถ้าเป็นแบบนี้คนน่าจะกู้น้อยลง สินเชื่อจะปล่อยได้ลดลง
.
2. เศรษฐกิจไม่ดี คนที่กู้ไปบางส่วนอาจจะเจ๊ง ไม่มีเงินคืนหนี้ แนวโน้ม NPL อาจจะเพิ่ม
.
3. อัตราดอกเบี้ยแนวโน้มขาลง ไม่ใช่แค่ไทย ที่อื่นก็เป็น เราก็ต้องปรับลดตาม
.
4. โอนเงินผ่านมือถือไม่เสียค่าธรรมเนียม ไม่มีใครอยากไปสาขาแบงค์กันแล้ว เสียเงิน เสียเวลา ทำให้รายได้ตรงนี้หายไปเยอะมาก
.
5. เทคโนโลยีทั้งหลายที่จะเข้ามา Disrupt กลุ่มแบงค์มีมากมาย ใช้ Line ก็จ่ายเงินได้ ใช้ Grab ก็จ่ายเงินได้ หรือในอนาคตก็จะเป็นเรื่องของพวก Cryptocurrency ทั้งหลายที่น่าจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ถามว่าแบงค์ปรับตัวมั้ย ก็จะเห็นหลายแบงค์โดยเฉพาะ KBANK กับ SCB ที่ลงทุนหลายพันหลายหมื่นล้านบาทไปกับการลงทุนระบบใหม่ หรือรวมไปถึงการลงทุนใน Tech Startup หลายแห่ง ส่วน BBL ไม่ค่อยเห็นข่าวการขยับตัวมากนัก ผลที่ตามมาคือ เทคโนโลยีใหม่ ๆ จะทำให้เกิดทางเลือกที่ต้นทุนต่ำลง แบงค์เองก็อาจจะไม่สามารถรักษา NIM ที่สูง ๆ ได้
ผมเชื่อว่า 5 ข้อข้างต้น หลายคนที่ติดตามข่าวสารก็น่าจะพอรับรู้เรื่องราวเหล่านี้กันอยู่แล้ว ซึ่งเราก็จะพอประเมินแบบบ้าน ๆ ได้ว่า รายได้แบงค์ไม่น่าจะดีไม่ว่าจะรายได้ดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายช่วงนี้ก็คงต้องลงทุนเพื่อให้เอาชนะบริษัทอื่นที่จะมา Disrupt แล้วก็อาจจะต้องระแวดระวัง NPL ทำให้ต้องตั้งสำรองเพิ่มเติม โดยเฉพาะ SCB ที่ไม่รู้ว่าเพราะอะไร ลูกหนี้ใหญ่ ๆ ดันมีปัญหา ไม่ใช่แค่ PACE แต่โดนมาตั้งแต่ SSI, EARTH และอีกหลายบริษัท
ภาพแบบนี้ เราเห็นกันมาซักระยะนึงแล้ว นั่นแปลว่า กลุ่มแบงค์เราก็ควรต้องระวังในการลงทุนให้มาก อาจจะหลีกเลี่ยงโดยเฉพาะแบงค์ใหญ่ที่ได้รับผลกระทบแบบเต็ม ๆ บางคนอาจเลือกลงทุนแบงค์กลาง ๆ ที่มีประเภทการปล่อยสินเชื่อที่ต่างกันออกไปที่ยังโตได้อยู่ หรือบางแบงค์ได้ค่าธรรมเนียม หรือเงินลงทุนมาชดเชย ก็ต้องพิจารณาเป็นรายธนาคารไป แต่ภาพใหญ่กำลังบอกเราว่า ไม่ดี
..
==================
.
ภาพมันชัดขึ้นเมื่อ KBANK ออกมาบอกถึงแนวโน้มในปี 2020 ว่า
.
• การเติบโตของสินเชื่อ (Loan Growth) จากเป้าปี 2019 ที่ 5-7% เหลือ 4-6% (แต่ดูจาก YTD 2019 ก็ไม่น่าถึงเป้าอยู่แล้ว)
• การเติบโตรายได้ค่าธรรมเนียมจาก -5% ถึง -7% มาเป็น -5% ถึง -17%
• NIM จาก 3.3-3.5% เหลือ 3.1-3.3%
• NPL จาก 3.3-3.7% เพิ่มขึ้นเป็น 3.6-4%
• Cost to Income Ratio (ก็คือ SG&A) จาก Low to mid 40 เป็น Mid 40 แปลอีกที คือ จะใช้จ่ายเงินเดือน ค่าระบบ ค่าเสื่อม ค่าการตลาดอะไรต่างๆ ประมาณ 45% ของรายได้
..
สรุปแบบสั้น ๆ คือ KBANK กำลังจะบอกว่า ปีหน้ารายได้จะลดลงทั้งดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม สินเชื่อหด ดอกเบี้ยหาย กลัวโดนเบี้ยวต้องสำรองหนี้เพิ่ม และค่าใช้จ่าย ๆ ต่าง ๆ ของเราดันเพิ่มขึ้นอีก พอพูดแบบนี้ปุ๊บ หุ้นก็เลยร่วงระนาวและกอดคอร่วงกันทั้งกลุ่ม
..
คำถามต่อมาที่หลายคนจะถามกันก็คือ
.
• ตอนนี้คือวิกฤตหรือโอกาส
• ติดดอยอยู่ทำไงดี
• ยังไม่มีของ ซื้อได้หรือยัง เห็น P/BV ต่ำกว่า 1 ปันผลเริ่มสูงขึ้น
• ถ้าแบงค์เริ่มไม่ไหว กลุ่มอื่นจะตามมาด้วยมั้ย
เป็นคำถามที่ตอบยาก เพราะถ้ามองดูแล้ว แบงค์เองก็ยังมีเงินสำรองเยอะ แข็งแกร่งกว่าวิกฤตรอบที่แล้ว ปล่อยกู้ระวังตัวมากขึ้น ฐานลูกค้าที่เป็น Database ก็มหาศาล และหลายแบงค์เองก็กลัวการถูก Disrupt และพร้อมลงทุนที่จะเปลี่ยนแปลง ทีนี้คงต้องขึ้นอยู่กับแต่ละแบงค์เองด้วยว่าจะปรับตัวกันในรูปแบบไหนเพื่อไม่ให้ถูก Disrupt ในอนาคต หรือบางทีแบงค์อาจจะต้อง Disrupt ตัวเองเพื่อการอยู่รอดก็เป็นได้
.
#BANK #วิตามินหุ้น
โฆษณา