28 ต.ค. 2019 เวลา 04:18
‘การบินพลเรือน’ + 'สนามบิน' ของ ประเทศไทย
ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ยี่สิบ ‘กิจการบินพลเรือน’ กลายเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สำคัญและมีความซับซ้อนมากที่สุดในโลก ระบบการบินพลเรือนโดยเฉพาะสนามบิน กลายเป็นหนึ่งผู้เล่นสำคัญของการขนส่งของโลก จนถึงปัจจุบัน‘กิจการบินพลเรือน’ จึงเป็นกิจการที่ขาดไม่ได้ของระบบการค้าและการพาณิชย์ในศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด
ในปี 2561 ‘กิจการบินพลเรือน’ ของโลก ประกอบด้วยสายการบินมากกว่า 800 สายการบินที่ทำการบินตามตารางการบินอย่างสม่ำเสมอ (scheduled flight) และมีเที่ยวบินรวมทั้งหมดกว่า 38 ล้านเที่ยวบิน ผู้โดยสารมากกว่า 4.3 พันล้านคน สู่สนามบินกว่าหนึ่งหมื่นแห่ง ในกว่า 180 ประเทศทั่วโลก (CIA World Factbook: 41,820 airports across the world (2016) / international Civil Aviation Organization (ICAO): Lists approximately 10,000 airport codes / International Air Transport Association (IATA) - Lists approximately 9,000 airport codes)
ช่วงเวลา 2 ทศวรรษที่ ‘ธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำ- low-cost carriers (LCCs)’ ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงแบบมีนัยยะสำคัญต่อ‘กิจการบินพลเรือน’ จากสถิติ ปี 2561 – สายการบินต้นทุนต่ำสามารถแบ่งสัดส่วนการตลาด (scheduled passengers) ได้กว่าร้อยละ 30 คิดเป็นผู้โดยสารมากกว่า 1.3 พันล้านคน
ประเทศไทย – การบินในประเทศไทยเริ่มมีบทบาทขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) โดยมีนักบินชาวเบลเยี่ยมคือ นายวัลเดน เบอร์น (Vanden Born) ได้นำเครื่องบินแบบออร์วิลล์ ไรท์ (Orwille Wright) มาสาธิตการบินถวายให้ทอดพระเนตร และให้ประชาชนในกรุงเทพฯ ชม เมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2454 ณ สนามราชกรีฑาสโมสร ปทุมวัน นับเป็นเครื่องบินลำแรกที่บินเข้ามาในราชอาณาจักร และในปี พ.ศ. 2454 นั้นเอง กระทรวงกลาโหม ได้ส่งนายทหารไทย 3 นาย (ไดแกนายพันตรีหลวงศกดั ิ์ศัลยาวุธ (นายสุณีสุวรรณประทีป) นายรอยเอกหลวงอาวุธ สิขิกร (นายหลง สิน-ศุข) และนายรอยโททิพย เกตุทัต) ไปศึกษาวิชาการบิน ณ ประเทศฝรั่งเศส เมืองวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2454 เมื่อนายทหารทั้ง 3 นาย จบการศึกษา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้จัดซื้อเครื่องบินบรรทุกเรือกลับมาประเทศไทย จำนวน 8 ลำ และก่อตั้งแผนกการบินทหารโดยใช้สนามราชกรีฑาสโมสรเป็นสนามบิน ปี พ.ศ. 2457 กระทรวงกลาโหมได้ดำเนินการก่อสร้างสนามบินดอนเมืองแล้วเสร็จ เพื่อเป็นสนามบินที่ใช้ในกิจการทหาร
เมื่อกิจการขนส่งทางอากาศ ได้เจริญรุดหน้าขยายตัวขยายเส้นทางออกไป และมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยยิ่งขึ้น ฉะนั้น ในปีพ.ศ. 2476 ได้มีการเปลี่ยนจากกองบินพลเรือนเป็นกองการบินพาณิชย์ สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงเศรษฐการ ต่อมาปี พ.ศ. 2491 ท่าอากาศยานดอนเมืองได้เข้ามาอยู่ในการควบคุมดูแลของกรมการบินพลเรือน กองทัพอากาศ และได้มีการแยกการบินพลเรือน ออกจากการบินทหาร และโอนกิจการการบินพลเรือน ให้กระทรวงคมนาคม และปี พ.ศ. 2497 ได้ยกฐานะเป็น สำนักงานการบินพลเรือน แต่ยังสังกัดกรมการขนส่ง กระทรวงคมนาคม ในปี พ.ศ. 2499 ได้เปลี่ยนชื่อท่าอากาศยานดอนเมืองเป็นท่าอากาศยานกรุงเทพ แต่ยังคงสังกัดกองทัพอากาศอยู่) ท่าอากาศยานดอนเมืองให้เป็นสนามบินหลักของประเทศ และได้รับการพัฒนาสร้างเสริมต่อเติมมาจนกระทั่งปัจจุบัน
เรามีสนามบิน ทั้งสิ้นกว่า 101 แห่ง (จากสถิติปี 2558)
• เป็นสนามบินที่มีทางวิ่งเป็นคอนกรีตหรือแอสฟัลติกคอนกรีต (ลาดยาง) จำนวน 63 แห่ง
• เป็นสนามบินที่มีทางวิ่งเป็นดินบดอัด จำนวน 38 แห่ง
• เป็นสนามบิน (ลาน) เฮลิคอปเตอร์ จำนวน 7 แห่ง
ท่าอากาศยานพาณิชย์ - สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ได้ศึกษาระบบท่าอากาศยานพาณิชย์และพัฒนาแนวคิดการแบ่งกลุ่มท่าอากาศยาน โดยท่าอากาศยานพาณิชย์ 38 แห่งของประเทศไทย จะแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
1) ท่าอากาศยานศูนย์กลางหลัก คือ ท่าอากาศยานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เมืองขนาดใหญ่มาก
เป็นจุดเชื่อมต่อเครือข่ายการขนส่งทางอากาศระดับโลก ให้บริการทั้งเที่ยวบินในประเทศและระหว่างประเทศทั้งระยะใกล้ กลาง และไกล มีบริการเที่ยวบินเชื่อมต่อกับท่าอากาศยานประเภทศูนย์กลางหลักในต่างประเทศ เพื่อให้เครือข่ายการบริการขนส่งทางอากาศครอบคลุมจุดหมายปลายทางในทวีปหลักทั่วโลก โดยมีจำนวนผู้โดยสารต่อปีมากกว่า 25 ล้านคน มีโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการให้บริการอากาศยานขนาดใหญ่เป็นอย่างน้อย ซึ่งมีอยู่ 2 แห่งในภาคกลาง คือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง
2) ท่าอากาศยานศูนย์กลางรอง คือ ท่าอากาศยานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เมืองขนาดใหญ่มีศักยภาพ
มีจำนวนผู้โดยสารระหว่าง 5-25 ล้านคนต่อปี มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาบริการเที่ยวบินทั้งภายในและระหว่างประเทศแบบจุดต่อจุด มีโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการให้บริการของอากาศยานขนาดใหญ่ได้ ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 2 แห่ง ได้แก่ พื้นที่ภาคเหนือบริเวณจังหวัดเชียงใหม่ และพื้นที่ภาคใต้บริเวณจังหวัดภูเก็ต
3) ท่าอากาศยานระดับภาค คือท่าอากาศยานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เมืองขนาดใหญ่
สามารถตอบสนองความต้องการในการเดินทางทางอากาศของประชาชนในจังหวัด และในภูมิภาคนั้น ๆ ได้ มีจำนวนผู้โดยสารต่อปีระหว่าง 1-5 ล้านคน และให้บริการเที่ยวบินในประเทศเป็นหลัก มีบริการเที่ยวบินเชื่อมต่อกับท่าอากาศยานในประเทศประเภทศูนย์กลางหลักและศูนย์การรองเป็นหลัก เพื่อเชื่อมโยงการบริการขนส่งทางอากาศ มีโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการให้บริการของอากาศยานขนาดกลางเป็นอย่างน้อย ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 10 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานเชียงราย ท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานอุบลราชธานี ท่าอากาศยานขอนแก่น ท่าอากาศยานกระบี่ ท่าอากาศยานหาดใหญ่ ท่าอากาศยานสมุย ท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี และท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช และท่าอากาศยานอู่ตะเภา
4) ท่าอากาศยานระดับจังหวัด คือท่าอากาศยานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัด
ให้บริการเพื่อตอบสนองความต้องการการเดินทางทางอากาศของประชาชนในจังหวัดใด ๆ หรือพื้นที่โดยเฉพาะ โดยมีผู้โดยสารน้อยกว่า 1 ล้านคนต่อปี ให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศเป็นหลัก มีโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการให้บริการอากาศยานแบบ Regional Aircraft เป็นอย่างน้อย โดยมีทั้งหมด 23 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานน่านนคร ท่าอากาศยานแม่ฮ่องสอน ท่าอากาศยานปาย ท่าอากาศยานแพร่ ท่าอากาศยานลำปาง ท่าอากาศยานแม่สอด ท่าอากาศยานพิษณุโลก ท่าอากาศยานสุโขทัย ท่าอากาศยานตาก ท่าอากาศยานแม่สะเรียง ท่าอากาศยานเพชรบูรณ์ ท่าอากาศยานนครราชสีมา ท่าอากาศยานเลย ท่าอากาศยานสกลนคร ท่าอากาศยานนครพนม ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ ท่าอากาศยานร้อยเอ็ด ท่าอากาศยานตราด ท่าอากาศยานหัวหิน ท่าอากาศยานชุมพร ท่าอากาศยานระนอง ท่าอากาศยานตรัง และท่าอากาศยานนราธิวาส
โฆษณา