28 ต.ค. 2019 เวลา 10:11 • การศึกษา
ข้อแนะนำสำหรับคนอยากเป็นซีเนียร์ และอยากก้าวหน้าในอาชีพ!!
คนทำงานทุกคนย่อมอยากเห็นความก้าวหน้าในวิชาชีพของตัวเอง
และหนึ่งในบันไดขั้นแรกๆ ที่อยากก้าวขึ้นไปคือการเป็นพนักงานที่มีคำว่า senior นำหน้าชื่อตำแหน่ง ซึ่งบ่งบอกว่าเราเป็นพี่ใหญ่ที่ต้องคอยดูแลน้องๆ และเป็นหูเป็นตาให้หัวหน้าทีม
ผมเลยมีข้อแนะนำที่อยากฝากไว้ให้พิจารณาสำหรับคนที่อยากเป็นซีเนียร์นะครับ
ซีเนียร์มีสี่ทาง
เท่าที่ผมสังเกต คนจะถูกโปรโมตเป็นซีเนียร์ได้ใน 4 กรณี
1. Hard Skills – คือเราทำงานที่ได้รับมอบหมายได้เทพมากๆ เป็นกูรูด้านนี้จนใครก็ต้องมาพึ่งพาเรา
2. Soft Skills – คือเรามี people skills ที่สูงส่ง มีความเป็นผู้ใหญ่ มีความน่าเชื่อถือ เป็นเหมือนเสาหลักของทีมให้น้องๆ แม้อาจจะไม่ได้เทพแต่เราก็มักจะหาทางช่วยคนในทีมได้เสมอ อย่างน้อยที่สุดก็ในด้านจิตใจ
3. เงินเดือน – แต่ละตำแหน่งจะมี job band หรือ job level อยู่ ซึ่งก็จะผูกติดกับช่วงเงินเดือน เช่นตำแหน่งจูเนียร์เงินเดือน 15,000 – 30,000 ตำแหน่งซีเนียร์เงินเดือน 25,000-50,000 เป็นต้น โดยช่วงเงินเดือนของแต่ละเลเวลเหลื่อมกันได้
หากเงินเดือนของเรา “ชนเพดาน” แล้ว เช่นในกรณีนี้เราเงินเดือน 30,000 บาทแล้ว จะขึ้นให้อีกก็จะทำให้เงินเดือนหลุดช่วง จึงเป็นเวลาที่ต้องปรับตำแหน่งเป็นซีเนียร์เพื่อให้เราขึ้นมาอยูู่ในช่วงเงินเดือนที่สูงขึ้นและมีความรับผิดชอบมากขึ้นเพื่อให้คุ้มกับเงินเดือนครับ
4. ระยะเวลา – คืออยู่ในตำแหน่งนี้มานานหลายปี น้องๆ ที่มาทีหลังบางคนก็แซงหน้าไปแล้ว จึงถึงเวลาที่ต้องปรับตำแหน่งให้เสียที
มันยังมีอีกกรณีหนึ่งคือย้ายทีมหรือย้ายบริษัท แต่ถ้าคุณไม่มีหนึ่งในสี่ข้อข้างต้นที่กล่าวมา โอกาสจะได้เป็นซีเนียร์ก็คงมีไม่มากนัก
ถ้าเลือกได้ อยากให้เลือกข้อ 1 หรือ 2 เพราะเป็นปัจจัยที่เราพอจะควบคุมได้บ้าง ทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย
1
ทำงานของตัวเองให้ดี (Do your job well)
ข้อนี้เป็นพื้นฐานเลย อย่าหวังว่าจะได้เป็นซีเนียร์ถ้าเรายังรับผิดชอบหน้าที่ของตัวเองได้ไม่สมบูรณ์
ทำให้มากกว่าที่ขอ (Go the extra mile)
ถ้าเจ้านายสั่ง 10
พนักงานทั่วไปจะทำมา 8
พนักงานที่ดีจะทำมา 10
พนักงานที่โดดเด่นจะทำมา 12
คนที่ทำมา 12 มีโอกาสจะขึ้นเป็นซีเนียร์มากกว่าคนที่ทำมา 10 หรือ 8
สังเกตว่า เมื่อเทียบกับพนักงานที่ดี เราแค่ออกแรงมากกว่าเขาแค่ 2 หน่วย ก็เพิ่มโอกาสการเป็นซีเนียร์ได้มหาศาลแล้ว
ทำโดยไม่ต้องให้ใครมาขอ (Be proactive)
คนที่ proactive หรือริเริ่มงานได้เองโดยที่ไม่ต้องรอให้เจ้านายสั่งนั้นหายากมากๆ เพราะหนึ่งเขาต้องจัดการงานตัวเองได้ดีจนมีเวลาเหลือ สองเขาต้องรู้ใจเจ้านายว่าต้องการอะไร สามคือต้องโน้มน้าวคนอื่นๆ ให้เห็นดีเห็นงาม และสี่ต้องนำมันไปทำจนเกิดผล
เพราะทำได้ยาก จึงหายาก และเพราะหายาก เจ้านายและองค์กรจึงให้ค่าคนที่ proactive มากเป็นพิเศษครับ
ขยันอย่างฉลาด (Work hard & work smart)
คนขยันนั้นดีแน่ แต่ต้องหัดขี้เกียจบ้าง
ขี้เกียจในแง่ที่ว่า เราต้องถามตัวเองอยู่เสมอว่าที่เราทำๆ อยู่ทุกวันนี้มันมีวิธีอื่นที่จะประหยัดแรงกว่านี้หรือทำได้เร็วกว่านี้มั้ย
พนักงานที่ดีอาจจะทำงานเสร็จเร็วกว่าคนอื่น 20%
แต่พนักงานที่จะได้เป็นซีเนียร์คือคนที่ออกแบบกระบวนการหรือสร้างเครื่องมือใหม่ที่ทำให้ทุกคนในทีมทำงานได้เร็วขึ้น 20% ครับ
เป็นคนไว้ใจได้ (Be reliable)
ข้อนี้สำคัญมาก
ถ้ารับปากว่าจะทำ ก็ต้องทำให้ได้ ไม่ว่าฝนจะตกฟ้าจะร้องท้องจะเสีย
และถ้ามีเหตุสุดวิสัยจนทำให้ไม่สามารถทำได้ตามที่รับปาก ก็ต้องรีบบอกเจ้านายแต่เนิ่นๆ ไม่ใช่ให้เขามารู้เองทีหลัง
คนที่จะเป็นซีเนียร์คือคนที่เจ้านายสามารถวางใจได้ว่า คนๆ นี้จะสามารถดูแลทีมได้ตอนที่เขาไม่อยู่ ดังนั้นการสร้างความไว้ใจจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากถึงมากที่สุด
กล้าแสดงความคิดเห็น (Speak up)
คนไทยไม่ค่อยกล้าพูดต่อหน้า แต่ลับหลังคุยกันสนุกปาก
คนที่จะเป็นซีเนียร์ต้องทำกลับกัน คือต่อหน้าต้องพูด ลับหลังต้องไม่พูด
อะไรที่ดี อะไรที่ไม่ดีควรจะสื่อออกมา แต่ก็ต้องดูทิศทางลมด้วยว่าจะพูดอย่างไร พูดจังหวะไหน คนถึงจะฟังและคล้อยตาม
ที่สำคัญ ต้องไม่ชี้แค่ปัญหาอย่างเดียว แต่ควรจะมีข้อแนะนำสำหรับทางออกด้วย
พร้อมช่วยเหลือคนอื่นเสมอ (Be there when someone needs you)
ซีเนียร์คือคนที่พึ่งพาได้
ดังนั้นเราต้องใจกว้างพอที่จะเอาผลประโยชน์ส่วนรวมมาก่อนประโยชน์ส่วนตน (แต่ก็ต้องไม่ทำให้งานตัวเองเสีย – กลับไปดูข้อแรก)
การช่วยเหลือคนอื่นอยู่เป็นประจำจะทำให้เราได้รับการยอมรับ และเพื่อนๆ จะแอบเชียร์ให้เราเป็นซีเนียร์เร็วขึ้นด้วยซ้ำไป เพราะใครๆ ก็ชอบพระเอก
เป็นแบบอย่างที่ดี (Be a role model)
หนึ่งในคำถามที่ “ผู้ใหญ่” ในองค์กรมักจะถามกับหัวหน้าที่ส่งชื่อน้องมาให้พิจารณาก็คือ “เขาเป็นแบบอย่างที่ดีรึเปล่า?”
ถ้าทำงานเก่ง ช่วยเหลือคนในทีม แต่ยังมีพฤติกรรมบางอย่างไม่เหมาะสม เช่นชอบบ่นลอยๆ บนเฟซบุ๊ค มาสายเป็นประจำ หรือหัวร้อนง่ายไฝว้กับคนอื่นไปทั่ว คนๆ นั้นอาจจะตกม้าตายไม่ได้รับการโปรโมตก็ได้
ต้องระลึกไว้เสมอว่าการโปรโมตแต่ละครั้ง ผู้บริหารต้องคำนึงด้วยว่ามันเป็นการส่งสัญญาณที่ถูกต้องให้กับคนอื่นๆ ในองค์กรรึเปล่า เพราะถ้าเด็กๆ เห็นคนนิสัยแย่แต่ทำงานดีได้รับการโปรโมต เขาก็อาจจะเข้าใจว่านี่คือพฤติกรรมที่องค์กรรับได้แถมยังสนับสนุนด้วยซ้ำ
ผูกพันกับองค์กร (Be an engaged employee)
ศัพท์ที่สำคัญคำหนึ่งใน HR คือคำว่า Employee Engagement ซึ่งไม่มีคำแปลไทยตรงตัว แต่มันหมายถึงหลายๆ อย่างรวมกัน คือเรามีความผูกพันกับองค์กรแค่ไหน เวลามีกิจกรรมบริษัท เรามาร่วมงานหรือไม่ เวลาบริษัทต้องการความช่วยเหลือ เราอาสาตัวเองรึเปล่า เวลาใครมาว่าบริษัทเรา เราเดือดเนื้อร้อนใจรึเปล่า
องค์กรย่อมอยากโปรโมตคนที่ผูกพันและอยากเติบโตไปกับองค์กร ไม่ใช่คนที่จะไปจากเราเมื่อไหร่ก็ไม่รู้
คิดเหมือนเราเป็นเจ้าของบริษัท (Think & act like the owner)
เป็นข้อสุดท้าย แต่ถ้าทำข้อนี้ได้ ข้ออื่นๆ ก็น่าจะทำได้ไปโดยปริยาย เพราะหากเราคำนึงถึงผลประโยชน์มวลรวมของบริษัทอยู่เสมอ เราก็จะทำงานอย่างฉลาด ทำโดยที่ไม่ต้องมีใครสั่ง และพร้อมช่วยเหลือคนอื่นๆ เป็นประจำ ทั้งหมดทั้งมวลก็เพื่อความเจริญก้าวหน้าของบริษัทและทุกๆ คนในองค์กร
ต้องเตือนกันนิดนึงว่าแม้เราจะทำได้ทุกข้อที่กล่าวมาทั้งหมด ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะได้เป็นซีเนียร์เสมอไป เพราะมันยังมีอีกหลายปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ เช่นสภาพทีม สภาพบริษัท และสภาพเศรษฐกิจ
แต่อย่างน้อยที่สุด ถ้าเราทำตามข้อแนะนำเหล่านี้ คนที่จะได้ไปเต็มๆ ก็คือตัวเราเอง
เพราะผมมีความเชื่อว่า สุดท้ายแล้ว เราจะได้รับผลตอบแทนที่คู่ควรกับเราเสมอครับ😊
ขออนุญาตแชร์เรื่องราวดีๆจากคุณ ANONTAWONG MARUKPITAK ครับ
เพื่อนๆอ่านแล้ว ลองทำตามดูนะครับ โอกาสที่จะประสบความสำเร็จ อยู่ไม่ไกลแน่นอน:)✌️
โฆษณา