30 ต.ค. 2019 เวลา 03:46 • การศึกษา
สีสันบนกลุ่มดาวหงส์
Colors in Cygnus constellation
ภาพถ่ายกลุ่มดาวหงส์หรือกางเขนเหนือมุมกว้าง โดย นายวิรติ กีรติกานต์ชัย
1.กลุ่มดาวหงส์หรือกลุ่มดาวกางเขนเหนือเป็นบริเวณส่วนท้ายหรือด้านหลังของใจกลางทางช้างเผือก กลุ่มดาวนี้มีดาวอัลฟาที่รู้จักกันดีคือเดเนบ/Alpha Cygni ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสามเหลี่ยมฤดูร้อน(ได้แก่เดเนบในกลุ่มดาวหงส์ อัลแตร์ในกลุ่มดาวนกอินทรีย์และเวกาในกลุ่มดาวพิณ) ดาวเดเนบอยู่ห่างออกไปประมาณ 2,600 ปีแสง ดาวเดเนบถือเป็นส่วนหางของกลุ่มดาวหงส์และถือเป็นส่วนหัวของกลุ่มดาวกางเขนเหนือ มีความสว่างปรากฏ 1.25 ถือว่าเป็นดาวฤกษ์อายุน้อยมีอายุประมาณ 10 ล้านปีเศษ
แผนที่แสดงกลุ่มดาวหงส์และวัตถุท้องฟ้าในบริเวณใกล้เคียง
บริเวณนี้มีดาวฤกษ์คู่ 61-Cygni ที่นักดาราศาสตร์สามารถหาระยะทางระหว่างดวงดาวด้วยวิธีพาราแลกซ์ได้เป็นครั้งแรกในปี คศ. 1838 อีกด้วย รวมทั้งอาจมีหลุมดำบริเวณที่เรียกว่า Cygnus X-1 อีกด้วย
ภาพแสดงกลุ่มดาวหงส์หรือกางเขนเหนือซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสามเหลี่ยมฤดูร้อน เราลากเส้นจากดาวเดเนบ(Deneb) ไปยัง อัลแตร์ (Altair) และเวกา(Vega) จะเกิดรูปสามเหลี่ยม สามเหลี่ยมฤดูร้อนนี้จะขึ้น ณ ขอบฟ้าเวลาประมาณ 18:00 น. ในราววันที่ 21 มิถุนายน ถือเป็นการเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการในซีกโลกเหนือ ภาพโดย Astrobin.com
2.เนบิวลาอเมริกาเหนือ(North America nebula-NGC 7000 หรือ Caldwell 20) เป็นเนบิลาเปล่งแสงจากก๊าซไฮโดรเจนเป็นแสงแดง ถือเป็นวัตถุท้องฟ้ายอดฮิตที่นักถ่ายภาพดาราศาสตร์นิยม เพราะรูปทรงชัดเจนเห็นบริเวณเนบิวลาที่คล้ายอ่าวเม็กซิโกได้ชัดเจน อยู่ห่างออกไป ประมาณ 1,600 ปีแสง
เนบิวลาอเมริกาเหนือNGC 7000 และเนบิวลานกกระทุง ภาพโดย astrobin.com
เอาแผนที่มาวางทับให้เห็นว่ามีความคล้ายกันอย่างไร เห็นชัดเจนว่าส่วนเว้าเข้าไปของเนบิวลานั้นคล้ายกับอ่าวเม็กซิโกในแผนที่ ภาพโดย Astrobin.com
เนบิวลาอเมริกาเหนือในช่วงคลื่นต่างๆ ผ่านกล้องโทรทัศน์อวกาศสปิตเซอร์ Image: NASA/JPL-Caltech/L. Rebull (SSC/Caltech)
3.เนบิวลานกกระทุง(Pelican nebula- IC 5070 และ IC 5067) อยู่ติดกับเนบิวลาอเมริกาเหนือ เป็นเนบิวลาเปล่งแสงจากก๊าซไฮโดรเจนเช่นเดียวกัน ระหว่างเนบิวลาทั้งสองเป็นฝุ่นหนาทึบหรือที่เราเรียกว่าเนบิวลามืด เนบิวลานกกระทุงอยู่ห่างออกไปประมาณ 1,800 ปีแสง
เนบิวลานกกระทุง Peligan nebula , image: Wikimedia Commons/Hewholooks
เนบิวลาสำคัญอย่างไร เนบิวลามาจากภาษาละตินหมายถึง กลุ่มเมฆหมอกของฝุ่น แก๊ส และพลาสมาในอวกาศ นักดาราศาสตร์เชื่อว่าเนบิวลาเป็นปลายทางของดาวฤกษ์ที่หมดอายุจากการระเบิดที่เราเรียกว่า มหานวดารา Supernova และเป็นจุดเริ่มต้นของการกำเนิดใหม่ของดาวฤกษ์เช่นกัน
Pelican Nebula, image: Wikimedia Commons/Tim Stone, Bert Scheuneman, Marco Favro, Adriano Valvasori, Paolo Demaria, Giuseppe Donatiello
4.บริเวณ Sadr region (IC 1318)บริเวณดาว Sadr (γ Cygni) ในกลุ่มดาวหงส์ ดาวฤกษ์นี้เป็นส่วนลำตัวชองหงส์หรือแกนของกางเขน มีความสว่างปรากฏ 2.2 อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ประมาณ 1,800 ปีแสง ประกอบด้วยเนบิวลาผีเสื้อ(Butterfly Nebula) เนบิวลาเสี้ยว(Crescent Nebula) ซึ่งเป็นเนบิวลาเปล่งแสง แทรกด้วยเนบิวลามืดอีกหลายๆแห่ง เนบิวลาเหล่านี้อยู่ไกลออกไปเป็นพื้นหลังของดาวฤกษ์ Sadr ประมาณ 4,600 ปีแสง
IC 1318 / gamma Cyg nebula , NGC 6914 , IC 1311 , NGC 6888 / Crescent nebula อยู่ด้านซ้ายล่างของภาพ Credit: Erik Larsen
Cygnus as depicted in Urania’s Mirror, a set of constellation cards published in London c.1825. Surrounding it are Lacerta, Vulpecula and Lyra. Credit: Sidney Hall/US Library of Congress
5.ตำนานดาว ตามตำนานของกรีก กล่าวกันว่าหงส์ตัวนี้คือร่างจำแลงของเทพซูส เพื่อมาสมสู่กับพระนางลีดา (Leda) ราชินีของกษัตริย์ไทน์ดารีอุสแห่งสปาร์ตา จนกระทั่งพระนางตั้งครรภ์และคลอดลูกออกมาเป็นไข่สองฟอง ซึ่งแต่ละฟองก็มีทารกสองคน ฟองแรกเป็นลูกของซูสคือพอลลักซ์ (Pollux) และเฮเลน (Helen) และอีกฟองเป็นลูกของไทน์ดาริอุสคือคาสเตอร์ (Castor) และคลิเทมเนสตร้า (Clytemnestra)
Peter Paul Rubens: " Leda and the Swan " Wikipedia
อีกตำนานกล่าวว่า หงส์ตัวนี้คือ ออร์ฟิอุส (Orpheus) Orpheus เป็นผู้มีความสามารถในการร้องและเล่นดนตรี ยากหาใครเทียบแม้แต่เหล่าเทพยังต้องยกย่อง เมื่อใดที่เค้าบรรเลงเพลง เหล่านกน้อยต้องมาล้อมวงฟัง เหล่าปลายังหยุดว่ายวน สัตว์ร้ายแสนพยศยังต้องหยุดนิ่ง เหล่าก้อนหิน ต้นไม้ ยังต้องสั่นไหวเต้นไปตามเสียงเพลง แม้แต่แม่น้ำยังไหลย้อนกลับมาสดับบทเพลงที่เค้าเล่น ออร์ฟิอุสตายเพราะถูกสาวกของเทพแห่งไวน์ไดโอนีซัสรุมทำร้ายจนตาย ซึ่งหลังจากตายแล้วได้กลายร่างเป็นหงส์ และถูกนำไปประดับบนท้องฟ้าใกล้ ๆ กับพิณคู่มือของเขา หรือกลุ่มดาวพิณนั้นเอง
ภาพโมเสคออร์ฟิซุสของโรมัน แวดล้อมด้วยเหล่าสรรพสัตว์ที่หลงไหลในเสียงพิณของเขา Wikipedia
6. Image info : Setting ภาพกลุ่มดาวหงส์ภาพแรก
Camera : Nikon D600 Sensor modified
Filter : Optolong L-Pro
Lens : Nikon AIS 50 mm F1.4
Aperture : F4
Exposure : 90 Sec x 12 Images : 18 Mins total.
ISO : 2500
WB : 4500
Tracking : Kenko Skymemo S
Technic : Median Stacking / Starnet++
สุดท้าย ท้ายสุด
ในอดีตดวงดาวเป็นปริศนาที่มนุษย์สงสัยใคร่รู้ นิทาน บทกวี วรรณกรรม เป็นดนตรีหรือเป็นเป็นที่มาของความเชื่อสู่เครื่องมือทำนายโชคชะตา
นอกจากนี้ดวงดาวยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับมนุษย์มาทุกยุคทุกสมัยในปัจจุบัน เราเรียนรู้เรื่องของดาวเพื่อไขปริศนา นำเราไปสู่ความรู้ใหม่ๆ การเอาชนะอุปสรรค ขีดจำกัดของมนุษย์ ก้าวสู่นวัตกรรมและเทคโนโลยี จนวันหนึ่งข้างหน้า เราอาจตอบได้ว่ามนุษย์และเอกภพมีที่มาก่อกำเนิดขึ้นได้อย่างไร
ฝากติดตาม แนะนำ กดไลค์หรือแชร์ได้ตามอัธยาศัย พบกันใหม่เมื่อโอกาสและเวลาอำนวยครับ
M31 กาแล็กซี่ Andromeda ในกลุ่มดาวแอนโดรเมดา ถือเป็นวัตถุท้องฟ้าที่ไกลที่สุดที่เราสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า(ในคืนเดือนมืด ท้องฟ้าใสเคลียร์) อยู่ไกลออกไป 2.5 ล้านปีแสง
โฆษณา