31 ต.ค. 2019 เวลา 10:39 • ธุรกิจ
Special Topic: วิเคราะห์สภาวะเศรษฐกิจไทย
เศรษฐกิจส่งผลกับเรายังไง
จากซีรีย์ชุด “วิเคราาะห์สภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน” ที่หมูน้อยแสดงข้อมูลให้ทุกท่านได้ทำความเข้าใจมาอย่างต่อเนื่องเป็นลำดับ
เปรียบเสมือนชิ้นส่วนที่กระจัดกระจายกันอยู่
เมื่อเรามองแยกกันเราจะไม่สามารถมองเห็นภาพรวมได้
บทความตอน ”เศรษฐกิจส่งผลกับเรายังไง” คือกระนำชิ้นส่วนเหล่านั้นมาประกอบเข้าด้วยกัน
และนำไปสู่ข้อสรุป ที่เราอาจจะไม่อยากได้ยินที่สุด แต่อย่างไรก็ตามมันคือ “ความจริง” ที่วางอยู่ตรงนั้น อยู่ตรงหน้าพวกเราเสมอ
รูปที่ 1 GDP
ผมจะทำการทบทวนข้อมูลให้ทุกท่านได้อ่านอย่างสรุปอีกครั้งนะครับ
ก่อนอื่นเลยดัชนีชี้วัดสภาวะเศรษฐกิจของประเทศเรียกว่า GDP(Gross Domestic Product)
ซึ่ง GDP ประกอบด้วย ชิ้นส่วน 5 อย่างคือ
1. C : รายจ่ายเพื่อการบริโภคของภาคเอกชน (private consumption expenditure/consumer spending)
ในตัว รายจ่ายเพื่อการบริโภคภาคเอกชน(Consumer spending) นี้ จะมีดัชนีตัวนึงที่เรียกว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค(Consumer confidence)
ยิ่งค่าดัชนีตัวนี้ลดลงมามากเท่าไหร่ การจับจ่ายใช้สอยทางฝั่งผู้บริโภคก็จะน้อยลงเท่านั้น ซึ่งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของเราลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้เม็ดเงินหายไปจากระบบไปส่วนหนึ่ง
2. I : รายจ่ายเพื่อการลงทุนภาคเอกชน(private investment expenditure/private investment)
การใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายจริงหรือความเชื่อมั่นในการลงทุน ลดลงอย่างต่อเนื่อง
โดยปัจจัยหลักๆจะมาจาก กำลังซื้อของตลาดในประเทศลดลง การแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจ
3. G : รายจ่ายภาครัฐบาล(government expenditure)
ซึ่งไม่สามารถทำการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งปีงบประมาณ 2563 ออกมาล่าช้า
อาจจะลากยาวไปจนถึงช่วง เดือน มกรา - กุมภา ปี 2563 กว่าที่จะนำงบในส่วนนี้มาใช้ได้ (แม้ว่าในขณะนี้สามารถนำมาใช้ได้บางส่วนจากพวกค่าใช้จ่ายประจำเป็น เงินเดือนข้าราชการ แต่จะไม่สามารถอนุมัติโครงการใหม่ๆให้กับทางเอกชนได้ในทันที)
ทำให้ขาดความต่อเนื่องและชะงักงันขึ้นในระบบ จึงทำให้ฟันเฟืองอีก 1 ชิ้นของระบบเศรษฐกิจหยุดไป
4. X : มูลค่าการส่งออก(export)
หัวใจสำคัญของระบบเศรษฐกิจของไทยเราซึ่งกินสัดส่วนที่ 70-75% ของ GDP ซึ่งมีคู่ค้ารายใหญ่ของไทยคือ อเมริกา และ จีน
(ทั้งคู่กำลังทำสงครามการค้ากันในขณะนี้)
ส่งผลกระทบกับการส่งออกของไทยเต็มๆ
ซ้ำร้ายยังเจอการแข็งค่าของเงินบาทร่วมด้วย
ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกของเราลดลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดไทยยังเจอการตัดสิทธิ์งดเว้นการจ่ายภาษีขาเข้าของสหรัฐอเมริกา(ตัดสิทธิ์ GSP) ในอีก 6 เดือนข้างหน้า จะทำให้เครื่องจักรชิ้นนี้ของประเทศไทยด้อยประสิทธิภาพลงไปอีก
5. M : มูลค่าการนำเข้า(import)
ในขณะที่เงินบาทแข็งค่า ซึ่ง”น่าจะทำให้เราสามารถนำเข้าเครื่องจักรและสินค้าเข้ามา” เพื่อที่จะเพิ่มศักยภาพการผลิตและการจับจ่ายใช้สอยในประเทศของเราได้มากขึ้น
ทางฝั่งนักลงทุนนักธุรกิจของเรากลับขาดความเชื่อมั่นในสภาวะเศรษฐกิจ ณ ปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง ต่างเข้าสู่โหมดการระวังภัย ปรับลดค่าใช้จ่ายลงอย่างต่อเนื่อง
จากข้อมูลทั้ง 5 ส่วนข้างต้น ย่อมส่งผลให้ GDP ของเราลดลงแน่นอน(แล้วมันก็ลดลงจริงๆเสียด้วย การปรับประมาณการ GDP จากทางแบงค์ชาติปรับลด GDP เราลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด IMF ก็ปรับ GDP ของไทยลง)
หมูน้อย “ฟันธง” ให้ผู้อ่านทุกท่านฟังได้เลยครับว่า
ณ ขณะนี้ “เราอยู่ในวิกฤติ” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
(ข้อมูลที่เอามาก็มาจากเวปราชการทั้งนั้น ได้โปรดอย่าส่งคนมาอุ้มผม)
ย้ำอีกครั้งนะครับ “อย่าส่งคนมาอุ้มผม” เอ้ยไม่ใช่
“เราอยู่ในวิกฤติ” แล้วจริงๆ
ผมจะยกตัวอย่างกรณีสมมติให้ทุกท่านทำความเข้าใจภาพรวมได้ง่ายๆครับ
รูปที่ 2 ขั้นตอนการผลิตสินค้า
โดยปรกติแล้วหมูน้อยทำงานเป็นผู้จัดการฝ่ายการส่งออกลูกชิ้นหมู ส่งออกไปยังประเทศอเมริกา เมื่อมีออเดอร์จากลูกค้า โรงงานลูกชิ้นหมู ก็จะเดินเครื่องจักรผลิตลูกชิ้น
ซึ่งก็จะมีพนักงงานในไลน์ผลิตสินค้าเป็นผู้ควบคุมคุณภาพการผลิต
หลังจากนั้นเมื่อนำลูกชิ้นบรรจุลงหีบห่อ(Packaging)
เมื่อแพคกิ้งเรียบร้อยแล้ว เราก็จะผ่านขั้นตอนทางศุลกากรขาออก และส่งไปยังบริษัทนำเข้า-ส่งออก(Shipping) เพื่อส่งไปจำหน่ายที่ประเทศอเมริกา
วันดีคืนดีค่าเงินบาทเราแข็งค่าขึ้น เจ้าแมคอาเธอร์ ผู้จัดการฝ่ายนำเข้าของบริษัทค้าส่งที่โอไฮโอ บอกหมูน้อยว่า
“เฮ้ยหมูน้อย ช่วงนี้ค่าเงินบาทแข็งมาก ลูกชิ้นหมูของยูเทียบกับ บ.ลูกชิ้นหมูจากเวียดนามของเจ้าไซม่อน มันส่งไอที่ แพคละ 100 บาท เอง แต่ของยูพอรวมกับเรื่องค่าเงินแล้วมันตกที่แพคละ 110 บาท เจ้านายบอกว่าให้ลดออเดอร์จากฝั่งยูลง 20% แล้วเอาของไซม่อนมาแทน”
เจอแบบนี้หมูน้อยก็ได้แต่ยิ้มแห้งๆให้เจ้าแมคอาเธอร์ละครับ
รูปที่ 3 ขั้นตอนการผลิตสินค้าภายหลังจากที่คำสั่งซื้อลดลง
เมื่อหมูน้อยกลับไปรายงานเจ้านาย เดชะบุญที่เจ้านายก็เข้าใจสภาพตอนนี้เหมือนกัน หลังจากที่ประชุมกันอย่างเคร่งเครียด ทีมกลยุทธ์ ก็ได้ข้อสรุปว่า
“เราจะลดกำลังการผลิตลง 10% ฝ่ายบุคคลคุณไปบอกพนักงงานในไลน์ผลิตว่าเราจะขอหยุดพักไลน์ผลิตสักระยะละกันนะ พักการทำงานในไลน์สัก 2 เดือน แต่เราจะจ่ายเงินเดือนให้ที่ระดับ 70% ตลอดช่วงระยะเวลาที่พักงาน
ส่วนหมูน้อยเอ็งลองไปเปิดตลาดเพิ่มที่ประเทศจีนดู ทุกคนคอยรายงานความคืบหน้าเป็นระยะ เลิกประชุมได้"
เมื่อกลับมาบ้านก็เป็นอย่างที่ตอนก่อนหน้านี้ที่หมูน้อยเล่าให้ฟังในเรื่อง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคและครับ หมูน้อยก็บอกคุณภรรยาถึงสถานการณ์ในปัจจุบันให้คุณภรรยารับทราบ ครอบครัวเราก็เลยจำกัดการใช้จ่ายลง บังเอิญว่าตอนนี้คนที่คิดแบบเดียวกันไม่ได้มีแค่ครอบครัวของหมูน้อยคนเดียวเสียด้วย
ซึ่งนำมาสู่บทสรุปว่า เราอาจจะอยู่ช่วงต้นๆของวิกฤติเท่านั้นครับ วิฤติในครั้งนี้คงไม่เห็น บริษัท ใหญ่ๆล้มในทันทีเหมือนช่วงปี 40
แต่จะเหมือนคนอดอาหารครับ ค่อยๆผอม ตัวจะลีบลงเรื่อยๆ ส่วนจะได้รับอาหารเพื่อทำให้เรากลับมาอ้วนท้วน เหมือนเดิมเมื่อไหร่นั้นหมูน้อยตอบไม่ได้ครับ
เราอาจจะเริ่มเห็นการบริโภคที่มากขึ้น คำสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศมากขึ้น รัฐบาลลงทุนกับโครงการใหม่ๆ ฝั่งเอกชนขยายโรงงานอย่างต่อเนื่อง นักลงทุนต่างประเทศตบเท้าเข้ามาลงทุนในประเทศไทย
หมูน้อยไม่ต้องการให้บทความของหมูน้อยทำให้ทุกท่านกังวลใจ
เพียงแค่อยากให้ทุกท่านได้”เตรียมแผนไว้เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในภายภาคหน้า”
ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปก่อน ลดค่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ออกไป
ทำงานอย่างเต็มที่ให้กลายเป็นทรัพยากรมนุษย์อันแสนล้ำค่า ให้กับองค์กรที่เราอยู่
เพื่อที่องค์กรจะรักษาเราไว้อย่างสุดความสามารถเช่นกัน
หมูน้อยเชื่อนะครับ ว่า “ทุกวิกฤติล้วนมีโอกาสซ่อนอยู่” และ
“โอกาสเป็นของคนที่เตรียมพร้อมล่วงหน้า” เสมอ
หมูน้อยเป็นกำลังใจให้ทุกท่านครับ หากท่านใดอยากร่วมแชร์ประสบการณ์ เชิญได้ที่คอมเมนต์ล่างบทความ หมูน้อยมีความยินดีที่ได้เป็นตัวกลางแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของทุกท่านครับ
หากบทความชิ้นนี้เป็นประโยชน์กับทุกท่าน
ฝากกดไลค์และติดตามเพจพื้นฐานการลงทุนหมูน้อยออมเงิน กันด้วยนะครับ
ขอบพระคุณมากครับ
Reference :
1. ศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาความรู้ตลาดทุน. ผลิตภัฑณ์มวลรวมในประเทศ. ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการเงินและการลงทุน;ตุลาคม 2560;131-149
3. รูปภาพชิม ชอป ใช้. https://www.thairath.co.th/news/business/1669506
4. ศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาความรู้ตลาดทุน. ผลิตภัฑณ์มวลรวมในประเทศ. ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการเงินและการลงทุน;ตุลาคม 2560
5. FINOMENA.GDP คืออะไร ตัวเลขเศรษฐกิจที่ทุกคนควรรู้จัก https://www.finnomena.com/getwealthsoon/what-is-gdp/
7. ศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาความรู้ตลาดทุน. ผลิตภัฑณ์มวลรวมในประเทศ. ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการเงินและการลงทุน;ตุลาคม 2560
8. FINOMENA.GDP คืออะไร ตัวเลขเศรษฐกิจที่ทุกคนควรรู้จัก https://www.finnomena.com/getwealthsoon/what-is-gdp
12. รายงานเรื่องดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจตั้งแต่เดือน มกราคม 2561 - สิงหาคม 2562 จาก https://www.bot.or.th
13. รายงานเรื่องดัชนีการลงทุนภาคเอกชนตั้งแต่เดือน มกราคม 2561 - สิงหาคม 2562 จาก https://www.bot.or.th
โฆษณา