31 ต.ค. 2019 เวลา 11:14 • ข่าว
เมื่อเฟดเปิดประตูครึ่งหนึ่งให้แบงก์ชาติเอเชีย
2
นับว่าเป็นไปตามความคาดหมายเมื่อธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ในการประชุมวันที่ 29-30 ต.ค.ที่ผ่านมา ไปอยู่ที่ 1.5-1.75% ซึ่งเป็นการลดดอกเบี้ยครั้งที่ 3 ของปีนี้ เพื่อกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงทั่วโลก ทั้งจากสงครามการค้า เศรษฐกิจโลกโตชะลอ และความไม่แน่นอนเรื่อง Brexit
แต่สิ่งน่าสนใจของการประชุมครั้งนี้ คือเฟดส่งสัญญาณจะหยุดพักวงจรดอกเบี้ยขาลง สะท้อนออกมาจากการ “ถอด” ข้อความสำคัญที่ใส่ไว้ในแถลงการณ์นับตั้งแต่เดือน มิ.ย. และเป็นตัวบอกว่าเฟดจะปรับเปลี่ยนนโยบายอัตราดอกเบี้ย ที่ระบุว่า
“เฟดจะดำเนินการอย่างเหมาะสมเพื่อรักษาระดับการขยายตัวของเศรษฐกิจ”
ไม่เพียงเท่านั้น Jerome Powell ผู้ว่าการเฟดยังกล่าวว่า
“จุดยืนด้านนโยบายการเงินของเฟดในปัจจุบันมีความเหมาะสมอยู่แล้ว”
ทั้งการเปลี่ยนข้อความในแถลงการณ์และถ้อยแถลงของ Powell จึงเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าเฟดคาดว่าจะไม่ลดดอกเบี้ยลงแล้วในปีนี้ โดยหลังการเปิดเผยผลประชุมเฟด CME Group Fed Watch ที่คาดการณ์ทิศทางดอกเบี้ยของเฟด ระบุว่า มีโอกาสเพียง 25% ที่เฟดจะลดดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไปวันที่ 10-11 ธ.ค.
จาก QE สู่ SOAP
การลดอัตราดอกเบี้ยไม่ใช่เครื่องมือเดียวของเฟดในการรักษาระดับการขยายตัวของเศรษฐกิจ
ก่อนหน้านี้ เฟดประกาศเมื่อกลางเดือน ต.ค.ว่า จะกลับไปขยายงบดุล (balance sheet) ด้วยการเข้าไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นทุกเดือน เดือนละ 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในระบบการเงิน โดยเฟดระบุว่าจะดำเนินการซื้อพันธบัตรไปอย่างน้อยจนถึงไตรมาส 2 ปีหน้า
การเสริมสภาพคล่องรอบใหม่เกิดขึ้นหลังดอกเบี้ยเงินกู้ระยะสั้น (Repo) พุ่งขึ้นมา 10% เมื่อเดือน ก.ย. จนทำให้ตอนนั้น เฟดต้องอัดฉีดเงินเข้าระบบครั้งแรกในรอบ 10 ปี วงเงิน 5.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง
ในปัจจุบัน ขนาดงบดุลของเฟดอยู่ที่ 3.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งปรับลดลงหลังเฟดประกาศหยุดซื้อพันธบัตรหรือตราสารหนี้ที่ครบกำหนดในเดือน ส.ค. แล้วเริ่มการลดขนาดงบดุลจนถึงสิ้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านี้งบดุลเฟดขยายตัวมายาวนาน 10 ปีจากการทำ QE เพื่อต่อสู้กับภาวะเศรษฐกิจถดถอย จนไปอยู่ที่ 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
Morgan Stanley คาดการณ์ว่าเฟดจะซื้อพันธบัตรระยะสั้นเพิ่มจนถึงวงเงิน 3.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในอีก 6 เดือนข้างหน้านี้ และอาจซื้อเพิ่มอีก 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน เพื่อให้มั่นใจว่าสภาพคล่องอยู่ในระดับเหมาะสม
แม้นักวิเคราะห์หลายรายมองว่า การดำเนินการดังกล่าวมีความคล้ายคลึงกับการทำ QE แต่เฟดก็หลีกเลี่ยงเรียกว่า QE เพราะไม่ต้องการให้คนทั่วไปเกิดความรู้สึกตื่นตระหนกว่าเฟดกำลังรับมือกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยอีกรอบ โดย George Selgin นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจาก Center for Monetary and Financial Alternatives เรียกการดำเนินการดังกล่าวว่า “Supplementary Organic Asset Purchases,” หรือ SOAP และมองว่าเฟดอาจแบ่งการอัดฉีดเป็นรอบๆ เช่น แบ่งเป็น SOAP1 SOAP2 หรือ SOAP3
แบงก์ชาติเอเชียหมดโอกาสผ่อนคลาย?
1
แม้สัญญาณหยุดการปรับลดดอกเบี้ยของเฟดอาจเป็นข่าวไม่สู้ดีนักสำหรับบรรดาแบงก์ชาติเอเชีย ที่อาจลดดอกเบี้ยตามเฟดได้ยากขึ้น แต่ประตูสู่การใช้นโยบายผ่อนคลายก็ไม่ได้ปิดลงเสียทีเดียว
1
Chua Hak Bin นักเศรษฐศาสตร์จาก Maybank Kim Eng Research มองว่า แบงก์ชาติเอเชียยังมีโอกาสใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาวะตลาดและระยะเวลาที่เฟดยังไม่ปรับเปลี่ยนนโยบายอัตราดอกเบี้ย
“การที่เฟดพักวงจรดอกเบี้ยขาลง ไม่ใช่การปิดประตูในการหั่นดอกเบี้ยสำหรับแบงก์ชาติเอเชียเสียทีเดียว เพราะนโยบายเรื่องดอกเบี้ยขึ้นอยู่กับสภาวะของแต่ละประเทศมากกว่า”
1
ก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางหลายแห่งในเอเชียต่างปรับนโยบายการเงินไปเป็นแบบผ่อนคลายมากขึ้นตามเฟด โดยแบงก์ชาติอินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เกาหลีใต้ และไทย ต่างปรับลดดอกเบี้ยลงแล้วเพื่อช่วยรักษาการขยายตัวของเศรษฐกิจ
คาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก
IMF คาดการณ์ว่าเอเชียจะยังเป็นภูมิภาคที่เศรษฐกิจ (GDP) โตเร็วที่สุดในโลก
โฆษณา