1 พ.ย. 2019 เวลา 00:35 • สุขภาพ
ตำราฝังเข็มฉบับสมบูรณ์ (針灸學) ภาคทฤษฎี
บทที่ 4
ความสัมพันธ์ระหว่างอวัยวะ
อวัยวะอินและอวัยวะหยางจะมีความเกี่ยวพันในเชิงเสริมข่มตามปรัชญาห้าธาตุ ซึ่งแพทย์จีนจะนำหลักความสัมพันธ์นี้มาใช้ในการรักษาทางคลินิก แต่ในเชิงกายภาพนั้น สิ่งใดที่เป็นตัวทำให้อวัยวะเหล่านี้มีความเชื่อมโยงจนเกิดผลกระทบซึ่งกันและกันล่ะ สิ่งนั้นก็คือเส้นลมปราณนั่นเอง
อวัยวะอินและอวัยวะหยางจะมีเส้นลมปราณที่เชื่อมโยงกันในลักษณะนอกใน หมายถึงเส้นหนึ่งอยู่ฝั่งนอก อีกเส้นหนึ่งอยู่ฝั่งใน โดยมีรายละเอียดดังนี้คือ เส้นหัวใจกับเส้นลำไส้เล็กมีความสัมพันธ์ในลักษณะนอกใน เส้นม้ามและเส้นกระเพาะอาหารมีความสัมพันธ์ในลักษณะนอกใน เส้นปอดและเส้นลำไส้ใหญ่มีความสัมพันธ์ในลักษณะนอกใน เส้นไตและเส้นกระเพาะปัสสาวะมีความสัมพันธ์ในลักษณะนอกใน เส้นตับกับเส้นถุงน้ำดีมีความสัมพันธ์ในลักษณะนอกใน เส้นเยื่อหุ้มหัวใจและเส้นซันเจียวมีความสัมพันธ์ในลักษณะนอกใน
นอกจากอวัยวะอินกับอวัยวะหยางจะมีเส้นลมปราณที่เชื่อมโยงกันในลักษณะนอกในแล้ว ระหว่างอวัยวะอินและอวัยวะอินก็ยังมีเส้นลมปราณที่เชื่อมโยงกันอีกด้วย ดังนั้นเครือข่ายระหว่างอวัยวะทั้งหมดจึงมีการโยงใยเป็นเครือข่ายใยแมงมุมอย่างสลับซับซ้อน เป็นต้นว่า “เส้นแขนงเส้นหนึ่งของเส้นตับจะทะลุกระบังลมเข้าสู่ปอดและเชื่อมกับเส้นปอดอีกที ดังนั้นตับและปอดจึงมีความเกี่ยวพันกัน” “เส้นแขนงเส้นหนึ่งของเส้นม้ามจะออกจากกระเพาะอาหารขึ้นสู่กระบังลมแล้วเข้าสู่หัวใจ จากนั้นมีการเชื่อมกับเส้นหัวใจและทำให้ม้ามกับหัวใจมีความเกี่ยวพันกัน” นอกจากนั้นก็ยังมีไตกับหัวใจและปอด กระเพาะอาหารกับลำไส้ใหญ่ลำไส้เล็ก ตับกับกระเพาะอาหาร เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ยังเป็นเพียงการเชื่อมโยงบางส่วนของการเชื่อมโยงทั้งหมดเท่านั้น
ก็เนื่องจากอวัยวะแต่ละอวัยวะมีการเชื่อมโยงถึงกัน ดังนั้นเมื่ออวัยวะหนึ่งเกิดอาการป่วย ย่อมจะต้องกระทบถึงอวัยวะอื่น ๆ อย่างแน่นอน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อปอดรับพิษร้ายจากภายนอกก็จะกระทบถึงลำไส้ใหญ่ และทำให้ลำไส้ใหญ่เกิดอาการป่วยตาม เป็นต้นว่าเกิดอาการท้องผูกหรือท้องร่วงขึ้น หรือเมื่อม้ามเกิดปัญหา ก็จะกระทบถึงการทำงานของกระเพาะและไต จนทำให้เกิดอาการอาหารไม่ย่อย ท้องอืดหรือตัวบวมน้ำขึ้น เป็นต้น
โฆษณา