3 พ.ย. 2019 เวลา 06:19 • ความคิดเห็น
ฟินแลนด์ กับระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก 🌐🗺
เห็นมีความถี่ขึ้นหลายโพสต์เกี่ยวกับ ชื่นชมฟินแลนด์กับระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก
จึงอดขอมีส่วนร่วมด้วยไม่ได้ เพราะเชื่อว่า สังคมที่ดี ต้องเกิดจากคนดีๆ ในสังคมออกมาร่วมกันสร้างขึ้น จึงมาดูว่า ฟินแลนด์ เขาสำเร็จและดีได้อย่างไร การศึกษาภาคบังคับเขามีเพียง 9 ปีเอง (ระหว่าง อายุ 7 ปี ถึง 16 ปี) นักเรียนไทยอิจฉาเขาไหม 555+ ถูกบังคับให้เรียนน้อยลง แถมเรียนไม่เน้นสอบ ไม่มีสอบตก อ้าวไทยยุคนี้ก็ไม่มีสอบตกแต่ติด ร. ไว้
จึงขอมาเสริม ในส่วนที่ไม่ค่อยมีคนมาให้อ่านเช่น เขาเริ่มเรียนตอน 7 ขวบ แล้ว ก่อน 7 ขวบ เขาทำอะไร จึงชวนมาดูกัน การจะมีลูกสักคนที่ฟินแลนด์และเลี้ยงดู เขาทำกันอย่างไร
ปกติมาตรฐาน เขามีคนท้องไม่พร้อมและท้องในวัยเรียนน้อย เมื่อมีครอบครัว จะมีบุตรต้องมีความพร้อมก่อน และเมื่อท้องฝากครรภ์ ก่อนคลอด 10 สัปดาห์ คุณพ่อและคุณแม่ ต้องร่วมกันเข้ารับการอบรมเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงของร่างกายและอารมย์ การออกกำลังกาย การดูแลสุขภาพกายและใจ ความสัมพันธ์ของครอบครัว เพื่อทารกในครรภ์ ตามปรัชญาการศึกษาที่ดีควรเริ่มต้นตั้งแต่อายุน้อยที่สุด และควรเตรียมพร้อมตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา เพราะเชื่อว่าจะมีประชากรที่มีคุณภาพต้องเริ่มจากมีสุขภาพกายและใจที่ดีก่อนเป็นอันดับแรก
เมื่อคลอดลูกออกมา จะได้รับของขวัญที่รัฐบาลจัดให้ (baby box) เป็นอุปกรณ์ของใช้จำเป็นในการเลี้ยงทารก หรือ ถ้าไม่รับ ก็จะมอบเงินให้ประมาณ 140 ยูโร(ประมาณ 5,000 บาท) แต่ส่วนมาก ร้อยละ 95 จะรับของขวัญเพราะมูลค่ามากกว่า
วัยก่อนวัยเรียน หรือ ปฐมวัย
แบ่งช่วงเรียนรู้ของเด็กวัยนี้เป็น 2 ระยะ คือ ระยะสร้างพื้นฐานเด็ก 8 เดือน - 6 ปี และ เตรียมตัวเข้าเรียน ตอน 6 ปี
รัฐบาลฟินแลนด์จะสนับสนุนให้ครอบครัวมีส่วนร่วมในการดูแลเด็กเล็กให้มีความพร้อมมีความอบอุ่น และมีความมั่นคงทางจิตใจ โดยมีเงินสนับสนุนให้ ภายใต้การดูแลของศูนย์แม่และเด็ก จะเป็นผู้จัดอบรมให้ความรู้แก่พ่อแม่ และออกเยี่ยมติดตาม แนะนำสนับสนุน หรือ อาจถ้าไม่สามารถเลี้ยงดูเองได้ ก็มีสถานดูแลเด็กเล็ก ของชุมชน รับเด็กอายุ 8 เดือนถึง 6 ปี โดยมีผู้ดูแลที่ผ่านการอบรมจากรัฐ มาเป็นผู้ดูแล จัดกิจกรรม สร้างการเรียนรู้ ให้แก่เด็กโดยมีผู้ปกครองเข้ามาร่วมในบางครั้ง
โดยทุกชุมชนจะมีศูนย์เด็กเล็ก (Daycare center) ใช้เป็นสถานที่ให้เด็กมีกิจกรรมร่วมกัน ได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันในสังคมเด็ก สัมผัสความแตกต่างวัฒนธรรม ปลูกฝังการรู้จักแบ่งปัน การให้เกียรติผู้อื่น การรู้จักหน้าที่และการให้ความเคารพในสิทธิส่วนบุคคล
ช่วงเตรียมตัวเข้าเรียน ตอนอายุ 6 ปี
เป็นกฎหมายบังคับตั้งแต่ ปี 2558 ให้เด็กทุกคนต้องผ่าน Pre-school education เพื่อเตรียมความพร้อมให้เด็กทุกคนก่อนเข้าเรียนภาคบังคับ เพื่อเรียนรู้การสมาคมกับเพื่อน เข้าใจความต้องการของผู้อื่นและมีทัศนคตที่ดี โดยเรียนวันละไม่เกิน 5 ชั่วโมง เน้นกิจกรรมการเล่นผสมการเรียน ฝึกให้คิดเองได้ ช่วยตนเองเป็น รักที่จะเรียนรู้ ให้สนใจที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง
เมื่อฐานดีก็เรียนสนุก เด็กซึมซับการสนใจเรียนรู้ คิดเอง ค้นคว้าเองมากกว่าท่องจำ ครูคือผู้ให้คำปรึกษา ให้แนวทาง ให้คำแนะนำ และส่งเสริมสนับสนุนความสนใจ ของนักเรียน ครูจึงอยู่เฉยไม่ได้ต้องเรียนรู้ก้าวหน้าไปตามเทคโนโลยี ตามสังคม ตามนักเรียนไปด้วย
เมื่อการเรียนเป็นของสนุก ไม่ได้เน้นการสอบแข่งขัน แต่ฝึกให้เด็กชอบเรียนรู้ มองตนเองชอบอะไรแล้วไปทางนั้น การศึกษา ภาคบังคับ มีเพียง 9 ปี คือประมาณ ป.1-6 และ ม.1-3
ต่อจากนั้นก็คล้ายบ้านเรา คือเรียนต่อมัธยมปลายอีก 3 ปี เพื่อมุ่งเข้าเรียนมหาวิทยาลัย หรือ เรียนวิชาชีพ ในวิทยาลัยอาชีพ ประมาณ ปวช.บ้านเรา
เขาไม่เน้นคะแนนสอบแข่งขัน เน้นให้แสดงความคิดเห็น เลยอยาก เอาตัวอย่างคำถามข้อสอบ ม.ปลาย ของฟินแลนด์ มาถามเพื่อนๆ ใน Blockdit ช่วยทำการบ้านส่งคำตอบ หน่อยนะครับ
(ล้อเล่น อย่าส่งมาจริง อ่านไม่ไหวแน่ 55)
วิชาเรียงความ
คำถาม - การที่สื่อมวลชนต้องต่อสู้กันแย่งผู้ชม จะส่งผลอย่างไร
วิชาจิตวิทยา
คำถาม- ให้ออกแบบงานวิจัย เพื่อตอบว่า บุคลิกคนส่งผลต่อพฤติกรรมในเฟสบุ๊คโซเชียลมีเดียอย่างไร
ประวัติศาสตร์
คำถาม - มาร์กซ์ ทำนายว่าการปฏิวัติสังคมนิยมจะเกิดขึ้นในประเทศอย่างอังกฤษก่อน ทำไมในความเป็นจริงจึงเกิดขึ้นในรัสเซีย
เจอตัวอย่าง แค่ 3 ข้อ ก็เหลียวมองน้อง ม.ปลาย เมืองไทยเหงื่อแตกเป็นตับๆ
จงเอาเยี่ยง แต่อย่าเพียงลอกเอาอย่าง ประเทศไทยเรานักวิชาการมากล้น ไปดูงานทั่วโลก ที่ไหนมีดี ที่ไหนเป็นเลิศ เรารู้เราเห็น เราถอดองค์ความรู้มา เราลอกมา ส่วนมากได้รูปแบบเขามา แต่ไม่สามารถเอาความคิดของเขามาใส่หัวให้ผู้ปฏิบัติของเราได้ ที่สำคัญหลายอย่างที่เป็นการพัฒนาที่เป็นนามธรรม เช่นการทำความดี การคิดดี การสร้างสิ่งดีๆ บางครั้งมันวัดเป็นตัวเลขยาก เราจึงชอบเอาที่ตัวเลข แล้วมาบอกว่าเป็นผลสำเร็จ งานหลายอย่างในระบบราชการเรา จึงทำเสร็จแต่ไม่สำเร็จ!!!
สังคมดีต้องเกิดจากคนดีๆในสังคมต้องออกมาร่วมกันสร้างขึ้นมา ช่วงนี้ประชาธิปไตยเบิกบานใกล้เลือกตั้งท้องถิ่น อย่างไรก็ฝากความหวังเลือกคนที่เราเห็นว่าดีมาทำงานให้เราบ้าง
ขอให้ท้องถิ่นที่มีงบเกิน 30 ล้านมีส่วนงบลงทุนกันบ้าง
ขอให้ท้องถิ่นที่มีงบเกิน 40 ล้าน มีงบลงทุนเกิน ห้าล้านนะ
ขอให้ท้องถิ่นที่มีงบเกิน 50 ล้าน มีงบลงทุนเกิน สิบล้านบ้างเถิด โอมเพี้ยง!! ประเทศไทย
โฆษณา