4 พ.ย. 2019 เวลา 02:41 • กีฬา
จุดเริ่มต้นของคำคลาสสิค "FERGIE TIME" มาจากไหนกันแน่ และถูกใช้อย่างไร เราจะย้อนอดีตไปในยุคเกรียงไกรของแมนฯยูไนเต็ดด้วยกัน
2
เชื่อว่าแฟนบอลทุกคนคงเคยได้ยินบ่อยๆ กับคำว่า Fergie Time (เฟอร์กี้ไทม์) ใช่ไหมครับ
1
จุดน่าสนใจอยู่ตรงนี้ครับ คือในปัจจุบัน มีคนไม่น้อยเลยที่อาจไม่ทราบถึงจุดเริ่มต้นของคำว่า Fergie Time และความหมายดั้งเดิมของมัน
วันนี้วิเคราะห์บอลจริงจัง จะย้อนอดีตเรื่องนี้ให้ฟังนะครับ
Fergie Time แปลเป็นไทยว่า "ช่วงทดเจ็บพิเศษของเฟอร์กี้"
กล่าวคือในยุคที่เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสันเป็นผู้จัดการทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เวลาที่ทีมปีศาจแดงตามหลัง หรือสกอร์เสมออยู่ช่วงท้ายเกม สิ่งที่เขาชอบทำ คือเดินไปคุยกับผู้ตัดสินที่ 4 และจะมีการพูดจากันบางอย่างเหมือนมีการกดดันที่ข้างสนาม
โดยท่าที่ทุกคนเห็นเป็นประจำคือ เฟอร์กี้ชอบเอามือจิ้มไปที่นาฬิกาข้อมือของตัวเอง เหมือนจะบอกผู้ตัดสินว่าให้ทดเยอะๆหน่อย
ก่อนสุดท้าย ไม่รู้จะบังเอิญหรือไม่ แต่แมนฯยูไนเต็ด จะได้ทดเวลาบาดเจ็บเยอะขึ้นเป็นพิเศษหลายครั้งทีเดียว
ช่วงเวลาที่เกินขึ้นมา แบบไม่รู้ว่ามาจากไหน โผล่มาได้ไง นี่ครับคือความหมาย ของ "เฟอร์กี้ไทม์"
ถ้าแปลเป็นไทยแบบสวยๆ เฟอร์กี้ไทม์ คือ "กรรมการทดเวลาให้แมนฯยู จนกว่าจะยิงได้"
จุดเริ่มต้นของเฟอร์กี้ไทม์ เกิดขึ้นวันที่ 10 เมษายน 1993 เกมที่แมนฯยูไนเต็ด เปิดบ้านต้อนรับเชฟฟิลด์ เว้นสเดย์ โดยฝั่งทีมเยือนพลิกได้ประตูขึ้นนำไปก่อน 1-0 จากจุดโทษของจอห์น เชอร์ริแดน แต่แมนฯยูมาตีเสมอ 1-1 จากสตีฟ บรูซ
เวลานั้นก็ใกล้หมดลงเรื่อยๆ แมนฯยูไนเต็ดจะเจ๊าคาบ้าน แต่แล้วกรรมการเกมนั้นจอห์น ฮิลดิช กลับทดเวลาบาดเจ็บนานถึง 7 นาที ซึ่งก็ทำให้หลายคนงง เพราะมันไม่ได้มีจังหวะอะไรต้องทดนานขนาดนั้น
และแมนฯยูไนเต็ด มาทำประตูได้ในนาที 90+6 จากลูกโหม่งของสตีฟ บรูซ คว้าชัยไป 2-1 ซึ่งนั่นคือเกมที่สำคัญจริงๆ ที่ทำให้ทีมปีศาจแดงได้แชมป์พรีเมียร์ลีกในสมัยแรก
จากนั้นมา ในเกมพรีเมียร์ลีก ก็มีอีกหลายนัดทีเดียวที่แมนฯยูไนเต็ดเหมือนจะได้เวลาทดเจ็บมากกว่าปกติ ซึ่งทำให้ผู้คนหยิบยกเรื่องเฟอร์กี้ไทม์เอามาคุยกัน ว่าผู้ตัดสินเกรงใจเฟอร์กี้หรือเปล่าถึงทดเวลาเยอะๆทุกที
"ตั้งแต่เกมกับเชฟฟิลด์ เว้นสเดย์ในนัดนั้น ผู้คนเลยตั้งธงขึ้นมาในใจ พวกเขาจะพูดกันเลยว่า 'โอ้ ยูไนเต็ด ได้เฟอร์กี้ไทม์อีกแล้วว่ะ' " ดันแคน อเล็กซานเดอร์ นักเก็บสถิติของอ็อปต้า เปิดเผย
แน่นอน ในมุมของกรรมการ ย่อมปฏิเสธอยู่แล้วว่า เรื่องนี้มันไร้สาระ
แต่แฟนบอลก็ไม่เชื่อเพราะแมนฯยูไนเต็ด ในยุคของเฟอร์กี้ เหมือนจะได้ทดเวลามากกว่าทีมอื่นจริงๆ และมันก็ส่งผลให้แมนฯยู มักจะยิงในช่วงทดเจ็บได้บ่อยๆด้วย
กาเบรียลล่า ลีเบรต์ นักวิจัยสถิติฟุตบอลอีกคนหนึ่งแสดงความเห็นว่า "ถ้าทีมใหญ่กำลังจะแพ้ในบ้านตัวเอง พวกเขาจะได้เวลาช่วงทดเจ็บเพิ่มขึ้น แต่ถ้าออกไปเล่นเป็นเกมเยือน จะไม่ค่อยมีปัญหาแบบนี้เกิดขึ้น"
"เชิงสถิติมันบอกแบบนั้น แต่ไม่มีใครรู้ว่าเพราะอะไร บางทีอาจเป็นแรงกดดันที่ผู้ตัดสินเผชิญ โดยผู้ตัดสินจะรู้สึกได้ว่าถ้าทดเวลาน้อยเกินไป จะทำให้แฟนๆทีมใหญ่โมโห"
เกรแฮม โพล อดีตผู้ตัดสินพรีเมียร์ลีก ก็ยอมรับว่า กรรมการบางคน เวลาเจอแรงกดดันเยอะๆ ก็มีเผลอไผลไปเช่นกัน
"เมื่อใกล้จบเกม กรรมการในสนามจะคำนวณเวลาทดเจ็บ โอเค มีการเปลี่ยนตัวเกิดขึ้นทีมละ 2-3 คน มีประตูยิงได้ มีการถ่วงเวลานิดหน่อย ดังนั้นน่าจะทดสัก 3 นาทีนะ หรือ 4 นาทีดี แต่ไม่รู้อะไรดลใจ คุณก็จะคิดว่า เอาวะให้เขาสัก 5 นาทีละกัน"
Fergie Time นั้น นอกจากจะสื่อว่าแมนฯยู จะได้เวลาช่วงทดเจ็บเยอะกว่าทีมอื่นเวลาสกอร์ตามหลังแล้ว ยังสื่อได้อีกแง่ด้วยว่า เวลาที่แมนฯยู กำลังจะชนะ ผู้ตัดสินจะให้เวลาทดเจ็บน้อยกว่าปกติด้วย
ถ้าสังเกตเวลาแมนฯยูขึ้นนำ บางทีเฟอร์กูสันจะเข้าไปกดดัน ผู้ตัดสินที่สี่ ว่าจะทดเวลาให้มันน้อยหน่อย จะไปทดอะไรมากมาย
เรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องโจ๊กที่คนมาดิสเครดิตแมนฯยูไนเต็ดในยุคนั้น แต่ Opta ได้กางสถิติทั้งหมดออกมาเลย ในช่วง 3 ปีสุดท้ายก่อนเฟอร์กี้ลงจากตำแหน่ง ทีมปีศาจแดง ได้เวลาทดเจ็บมากกว่าทีมอื่นเวลาตามหลัง และ ได้ทดเจ็บน้อยกว่าทีมอื่น เวลาขึ้นนำจริงๆ
ถ้ายกสถิติขึ้นมาจะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นครับ
ค่าเฉลี่ยทดเวลาบาดเจ็บ เวลาทีมใหญ่มีสกอร์ตามหลัง
แมนฯยูไนเต็ด - 4:37 นาที
สเปอร์ส - 4:37 นาที
อาร์เซน่อล - 4:35 นาที
ลิเวอร์พูล - 4:23 นาที
แมนฯซิตี้ - 4:12 นาที
เชลซี - 2:41 นาที
ค่าเฉลี่ยทดเวลาบาดเจ็บ เวลาทีมใหญ่มีสกอร์ขึ้นนำ
อาร์เซน่อล - 4:17 นาที
สเปอร์ส - 4:12 นาที
ลิเวอร์พูล - 3:27 นาที
แมนฯซิตี้ - 3:22 นาที
แมนฯยูไนเต็ด - 3:18 นาที
เชลซี - 3:12 นาที
เอาสองเวลามาหักลบกัน มาดูว่าทีมไหนได้ประโยชน์มากที่สุดจากการทดเจ็บของผู้ตัดสิน
แมนฯยูไนเต็ด - ผลต่าง 79 วินาที
ลิเวอร์พูล - ผลต่าง 56 วินาที
แมนฯซิตี้ - ผลต่าง 50 วินาที
สเปอร์ส - ผลต่าง 25 วินาที
อาร์เซน่อล - ผลต่าง 18 วินาที
เชลซี - ผลต่าง ติดลบ 31 วินาที
จากตัวเลขที่ระบุมา มันทำให้พอเห็นภาพได้ว่า แมนฯยูไนเต็ดได้ประโยชน์จากช่วงทดเวลาบาดเจ็บมากกว่าทีมอื่น โดยมีสถิติมารองรับ แต่ประเด็นคือ คงไม่ใช่เฟอร์กี้ได้รับการเอาใจพิเศษจากสมาคมฟุตบอลอังกฤษหรอก แต่ก็เหมือนที่เกรแฮม โพล บอกนั่นแหละ คือในเชิงจิตวิทยา เวลากุนซือระดับนี้เข้าไปกดดันผู้ตัดสิน บางทีก็เผลอคิดไปว่า ถ้าปล่อยเวลาให้ทดเพิ่มอีกสัก 1-2 นาที ก็ไม่เห็นเสียหายอะไร
แมนฯยูไนเต็ด ในยุคของอเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เป็นทีมที่ยิงประตูช่วงท้ายเกมได้บ่อยมากๆ และบางเกมก็เลยจากเวลาทดปกติไปแล้วด้วย
ซึ่งแฟนบอลทีมอื่นก็จะแขวะว่า เออใช่สิ พวกแกมีเฟอร์กี้ไทม์นี่หว่า มันก็คงทดเจ็บให้จนกว่าจะยิงได้นั่นแหละ
ในเกมแมนเชสเตอร์ ดาร์บี้ ฤดูกาล 2009-10 แมนฯยู กับแมนฯซิตี้ เสมอกันอยู่ 3-3 ตามจริงกรรมการต้องทดแค่ 5 นาที
แต่มาร์ติน แอตกินสัน ผู้ตัดสินในเกมนั้นปล่อยเกมให้ไหลต่อเนื่อง จนสุดท้ายแมนฯยูไนเต็ด มายิงได้ในนาทีที่ 95:27 จากไมเคิล โอเว่น เป็นประตูชัย ชนะสุดมันส์ด้วยสกอร์ 4-3
ประตูในลักษณะนี้ มันยิ่งเพิ่มความน่าเชื่อถือเข้าไปอีกว่า ทำให้คนคิดว่า เฮ้ย เฟอร์กี้ไทม์แผลงฤทธิ์อีกแล้วว่ะ!
สำหรับแฟนแมนฯยูไนเต็ดที่อังกฤษนั้น ก็ไม่ได้โกรธอะไรที่โดนแขวะ หนำซ้ำพวกเขายังชอบใจด้วยที่แฟนทีมอื่นต้องมาหัวร้อนเรื่องเฟอร์กี้ไทม์แบบนี้
นั่นล่ะครับ คือจุดเริ่มต้นของคำว่าเฟอร์กี้ไทม์ แต่ในช่วงหลังคนอาจจะเข้าใจความหมายของมันผิดเพี้ยนไปบ้าง ว่าการยิงประตูช่วงท้ายเกม คือยิงในช่วงเฟอร์กี้ไทม์ ซึ่งมันไม่ตรงซะทีเดียว
เพราะเฟอร์กี้ไทม์ ตามความหมายดั้งเดิมคือ "การทดเวลาให้เยอะอย่างไม่มีสาเหตุ จนส่งผลให้แมนฯยูไนเต็ดยิงประตูได้" นี่คือความหมายที่ชัดเจนที่สุด
สำหรับยูไนเต็ด ในยุคเฟอร์กี้ก็ต้องยอมรับว่า พวกเขามีจิตวิญญาณของผู้ชนะอย่างแท้จริง หมายถึง ต่อให้ได้ช่วงทดเจ็บเพิ่มขึ้นจากเดิมนิดหน่อย แต่ถ้าไม่มีความมุ่งมั่นมากพอที่จะยิงประตูให้ได้ สกอร์ก็คงจบลงแบบนั้น
ซึ่งทีมปีศาจแดงในช่วงเวลานั้น ไม่เคยยอมแพ้จนวินาทีสุดท้าย ทั้งนักเตะ ทั้งผู้จัดการทีม ต่างมีคาแรกเตอร์ของแชมเปี้ยนอย่างเต็มเปี่ยม
สุดท้ายตอนที่เฟอร์กี้รีไทร์ไปแล้ว และสโมสรประกาศว่าจะสร้างรูปปั้นอเล็กซ์ เฟอร์กูสันไว้ที่หน้าสนามโอลด์แทรฟฟอร์ด มีคนสงสัยกันเยอะเลยว่า จะเอาแอ็กชั่นไหนของเฟอร์กี้เป็นรูปปั้น
แต่สโมสรเลือกแอ็กชั่น เฟอร์กี้กอดอกอยู่ ซึ่งก็เท่ดี
จริงๆถ้าสโมสรหักมุม เอาเป็นท่าเฟอร์กี้จิ้มนาฬิกาข้อมือเป็นรูปปั้นไปเลยนี่คงฮาดีเนอะ
ทำให้แฟนบอลทีมอื่นที่มาเยือนให้รู้ไปเลยว่า มาสนามแมนฯยู รู้ยังว่าพวกเรามี Fergie Time คุ้มครองอยู่!
#FERGIETIME
โฆษณา