6 พ.ย. 2019 เวลา 23:29 • ธุรกิจ
Virtual Banking ปฎิวัติธนาคารบน “มือถือ”
อุตสาหกรรมการเงินและธนาคาร ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วอย่างมากในช่วงหลายปีหลังมานี้ และถือเป็นหนึ่งใน “กลุ่มเสี่ยง” ที่มีโอกาสถูก Technonloy Disrupt มากที่สุด โดยเฉพาะธุรกิจธนาคารแบบดั้งเดิมกำลังถูกท้าทายครั้งใหญ่กับการมาของ “ธนาคารเสมือนจริง” หรือ Virtual Banking
รูปแบบของ Virtual Banking คือการให้บริการการเงินโดยที่ไม่จำเป็นต้องมี “สาขา” ธนาคารแม้แต่แห่งเดียว ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการได้บนอินเทอร์เนตหรือบนสมาร์ทโฟน
ไม่ว่าจะเป็นบริการโอนเงินทั้งในและข้ามประเทศ บริการด้านสินเชื่อ รวมถึงการจัดการลงทุน ประกันภัยและประกันชีวิต เราอาจจะไม่มีโอกาสได้ใช้บริการกับพนักงานธนาคารที่เป็น “มนุษย์” อีกต่อไป แต่จะคุยกับหน้าจอมือถือแทน!!
จุดเด่นของธนาคารออนไลน์ก็คือ “ต้นทุน” การดำเนินงานที่ลดลงจากการให้บริการแบบมีสาขาเป็นอย่างมาก เนื่องจากตัดค่าใช้จ่ายเรื่องของสถานที่รวมถึง “พนักงาน” ลงไป แต่ใช้งบประมาณกับการพัฒนาระบบไอทีให้มีประสิทธิภาพแทน โดยผู้เล่นที่เข้ามาในสนามนี้เป็นสตาร์ทอัพทางด้านการเงิน (Fintech) ไม่ใช่สถาบันการเงินแบบดั้งเดิมที่เราคุ้นเคย
ธนาคารในสหรัฐฯและยุโรป ต่างได้รับผลกระทบจากการเติบโตของเทคโนโลยีการเงินมาได้ระยะหนึ่งแล้ว คนการเงินในตลาดวอลสตรีทถึงกับมีคำพูดว่า “Silicon Valley Is Coming” แปลความหมายได้ว่าคนสายเทคโนโลยีจากซิลิค่อนวัลเล่ย์ฝั่งตะวันออกกำลังรุกคืบเข้ามาในธุรกิจการเงินที่คนฝั่งตะวันตกยึดครองพื้นที่มายาวนาน
Bloomberg ได้รายงานข่าวว่าธนาคารขนาดใหญ่ของโลกโดยเฉพาะจากฝั่งตะวันตกได้ปลดพนักงานไปแล้วกว่า 60,000 ราย โดยล่าสุดธนาคารเอชเอสบีซีของอังกฤษได้ประกาศที่จะลดพนักงานกว่า 10,000 ราย ทั่วโลก สะท้อนให้เห็นว่าพนักงานการเงินกำลังเป็นอาชีพที่สุ่มเสี่ยงมากที่สุดอาชีพหนึ่ง
ทางฝั่งตะวันตกยังได้เกิด Fintech จำนวนมากที่เติบโตจนมีมูลค่ากิจการแตะระดับพันล้านเหรียญซึ่งให้บริการทางการเงินไม่ต่างกับธนาคารดั้งเดิม แต่ชูจุดแข็งที่ค่าธรรมเนียมที่ถูกกว่าหรือไม่คิดค่าธรรมเนียมเลย รวมถึงบริการก็มีความรวดเร็วกว่าเพราะทำงานด้วยเทคโนโลยี Blockchain,AI และ Big Data
กล่าวได้ว่าแบงก์ฝั่งตะวันตกได้เพรี้ยงพร้ำต่อเทคโนโลยีไปเรียบร้อยแล้ว
ขณะที่แบงก์จากฝั่งตะวันออก อาจยังไม่เห็นผลกระทบที่รุนแรงเช่นการปลดพนักงานจำนวนมากเหมือนกับฝั่งตะวันตก แต่ได้มีการปรับตัวครั้งใหญ่โดยได้บทเรียนจากฝั่งตะวันตกโดยมุ่งเน้นทำงานร่วมกับ Fintech เพื่อนำเทคโนโลยีมาเสริมการบริการ
อย่างไรก็ตาม สองประเทศที่เป็นหนึ่งในศูนย์กลางทางด้านการเงินรวมถึงเทคโนโลยีของโลกอย่างสิงคโปร์และฮ่องกง ไม่ยอมที่จะตกกระแส Technology Disrupt และมองไปข้างหน้าแล้วว่าอนาคตธนาคารจะไม่มี “สาขา” และ “พนักงาน” อีกต่อไป จึงเริ่มเปิดให้ใบอนุญาตธนาคารเสมือนจริง (Virtual Banking) ให้กับทั้งธนาคารดั้งเดิมและ Fintech ให้มาขออนุญาตดำเนินธุรกิจ
โดยฮ่องกงออกกฎให้ธนาคารเสมือนจริงต้องมีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 300 ล้านเหรียญฮ่องกง แต่ค่าเฉลี่ยของผู้ขอใบอนุญาตมีทุนจดทะเบียนที่ 1,900 ล้านเหรียญฮ่องกง ปัจจุบันมีผู้ได้รับใบอนุญาตแล้ว 8 ราย ส่วนใหญ่เป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัททางด้านเทคโนโลยีและธนาคาร
ส่วนสิงคโปร์ก็ได้ออกใบอนุญาตธนาคารเสมือนจริงออกมาเช่นกัน โดยมีผู้ได้รับใบอนุญาตไป 5 ราย ทั้งนี้แนวโน้มของผู้ประกอบการไปในทิศทางเดียวกับฮ่องกงคือเป็นการจับมือร่วมกันระหว่างธนาคารและบริษัททางด้านเทคโนโลยี
Fitch Rating บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลกได้ออกบทวิเคราะห์ว่าการเปิดตัว Virtual Banking อาจส่งผลกระทบต่อกำไรสุทธิของธนาคารขนาดใหญ่สามแห่งนั่นคือ DBS,UOB และ OCBC เนื่องจากอาจเกิดการแข่งขันทางด้านค่าธรรมเนียมที่ต่ำลงเพื่อดึงดูดลูกค้า
สองยักษ์ใหญ่ด้านการเงินของเอเชียอย่างฮ่องกงและสิงคโปร์ได้ออกตัวนำทางด้าน Virtual Banking ไปแล้ว ต้องจับตาต่อไปว่าประเทศอื่นๆในเอเชียจะมีแนวทางปฎิบัติอย่างไรต่อไป
เทคโนโลยีอินเทอร์เนต จุดเปลี่ยนสำคัญธนาคารบนมือถือ
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ออกบทวิเคราะห์ออกมาว่าผู้คนประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งในเอเชีย แอฟริกาและอเมริกาใต้ ซึ่งมีอัตราการเข้าถึงบัญชีธนาคารต่อจำนวนประชากรทั้งหมดอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั้งโลกคือ 65% แต่การมาถึงของเทคโนโลยีโดยเฉพาะอินเทอร์เนตความเร็วสูงและสมาร์ทโฟนจะเป็นตัวเร่งที่ทำให้การเข้าถึงธนาคารเพิ่มสูงขึ้นโดยจะเป็นในรูปแบบของ Virtual Banking
The Mobile Economy ได้ออกบทวิเคราะห์ออกมาว่าภายในปี 2025 คนทั้งโลกจะเข้าถึงเทคโนโลยี 4G ถึง 67% จากปัจจุบันที่มีผู้เข้าถึงเพียง 4% และภายใน 5 ปีจากนี้สัดส่วนผู้ที่ใช้งานอินเทอร์เนต 2G จะเหลือเพียงแค่ 5% ความเร็วของอินเทอร์เนตจะทำให้การทำธุรกรรมการเงินบนออนไลน์มีความสะดวกยิ่งขึ้น
ขณะเดียวกัน Standard&Poor’s Financial Service ยังคาดการณ์ว่าภายในปี 2025 จะมีผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนทั่วโลกถึง 82% จากปัจจุบันอยู่ในระดับ 54% ทั้งหมดนี้จะเป็นปัจจัยบวกสำคัญต่อการเติบโตของธนาคารบนโลกออนไลน์
แนวโน้มในอนาคต เราจะได้เห็นความร่วมมือระหว่างธนาคารกับบริษัททางด้านเทคโนโลยีที่จะเดินเข้าสู่อุตสาหกรรมธนาคารไปพร้อมๆกัน รวมถึงธุรกิจการเงินอื่นๆอย่างเช่นการจัดการลงทุน ประกันภัยและประกันชีวิต
แต่กว่าจะถึงตอนนั้น บุคลากรในแวดวงการเงิน มีความเสี่ยงสูงอย่างมากที่จะถูก Technology Disrupt
โฆษณา