7 พ.ย. 2019 เวลา 12:35 • สุขภาพ
ตำราฝังเข็ม (針灸學)
ภาคทฤษฎี
บทที่ 5 ชี่ โลหิต จิน เยี่ย
การแบ่งประเภทของชี่
การแบ่งประเภทของชี่
เนื่องจากชี่จะมีแหล่งกำเนิดที่แตกต่าง จึงมีหน้าที่ที่แตกต่าง และมีการกระจายตัวในตำแหน่งที่แตกต่าง ดังนั้นจึงทำให้ชี่มีชื่อเรียกที่แตกต่างออกไปอีกหลายประเภท โดยรวมแล้วจะสามารถแบ่งย่อยออกเป็นเอวี๋ยนชี่ (元氣 ; พลังต้นกำเนิด) จงชี่ (宗氣) อิ๋งชี่ (營氣 ; พลังสารอาหาร) และเว่ยชี่ (衛氣 ; พลังปกป้อง)
หากใช้ลักษณะการกำเนิดในการแบ่งประเภทของชี่แล้ว เราจะสามารถแบ่งชี่ออกเป็นชี่ก่อนกำเนิด (先天氣) และชี่หลังกำเนิด (後天氣) ได้สองประเภท โดยเอวี๋ยนชี่คือชี่ก่อนกำเนิด เป็นชี่ที่ได้รับจากจิง ซึ่งจิงจะเป็นสารที่ได้รับมาแต่บุพการี ดังนั้นจึงเรียกเอวี๋ยนชี่ว่า “ชี่ก่อนกำเนิด” ส่วนจงชี่ อิ๋งชี่ และเว่ยชี่จะเป็นชี่ที่ได้รับจากอาหารการกินในทางหลังกำเนิด ดังนั้นจึงเรียกชี่ทั้งสามว่า “ชี่หลังกำเนิด”
ชี่ก่อนกำเนิดและชี่หลังกำเนิดจะทำการหล่อเลี้ยงเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน โดยชี่ก่อนกำเนิดจะเป็นพลังที่ผลักดันให้กลไกของร่างกายทำงาน และทำการกินย่อยอาหารจนเป็นสารอาหารที่จะเติมพลังงานให้แก่ร่างกายอีกที โดยสารอาหารเหล่านี้ก็คือชี่หลังกำเนิด ซึ่งจะทำการหล่อเลี้ยงชี่ก่อนกำเนิดจนมีความต่อเนื่องไม่ขาดสาย
นอกจากนี้ เรายังสามารถแบ่งประเภทของชี่ตามลักษณะหน้าที่และการทำงานตามอวัยวะและเส้นลมปราณได้อีก เป็นต้นว่า ชี่หัวใจหรือพลังหัวใจ (心氣) ชี่ตับหรือพลังตับ (肝氣) ชี่ปอดหรือพลังปอด (肺氣) ชี่ม้ามหรือพลังม้าม (脾氣) ชี่เส้นลมปราณหรือพลังเส้นลมปราณ (經氣) และอื่น ๆ อีกมากมาย แต่เนื่องจากชี่ที่เกี่ยวกับอวัยวะภายในได้มีการกล่าวถึงในบทก่อน ๆ แล้ว ดั้งนั้นในที่นี้จะกล่าวเฉพาะเอวี๋ยนชี่ จงชี่ อิ๋งชี่ และเว่ยชี่เท่านั้น
เอวี๋ยนชี่ (元氣)
เอวี๋ยนชี่หรือพลังต้นกำเนิด เป็นพลังที่ได้มาจากจิงก่อนกำเนิด โดยจิงก่อนกำเนิดจะเป็นพลังที่ได้รับมาจากบุพการี เป็นสารตั้งต้นที่ช่วยผลักดันการทำงานต่าง ๆ ของร่างกาย แต่หากไม่มีการเพิ่มเติมใหม่เข้ามาอีก พลังที่ได้รับจากบุพการีก็จะมีวันใช้หมดในสักวันหนึ่ง
หากจะเปรียบกับเครื่องยนต์แล้ว พลังต้นกำเนิดจะเปรียบเหมือนเช่นแบตเตอรี ในตอนที่เครื่องยนต์ยังไม่ได้ทำงาน การที่จะทำให้เครื่องยนต์สตาร์ทขึ้นจะต้องใช้พลังงานจากแบตเตอรีไปผลักดันไดสตาร์ทให้ทำงาน ไดสตาร์ทจะขับเคลื่อนให้เครื่องยนต์หมุนเวียนและดึงน้ำมันไปผสมกับอากาศ น้ำมันที่ผสมกับอากาศจะถูกจุดระเบิดจากไฟฟ้าที่ได้จากแบตเตอรี เมื่อละอองน้ำมันได้เกิดการเผาไหม้แล้ว แรงระเบิดก็จะขับเคลื่อนให้เครื่องยนต์ทำงานอย่างต่อเนื่อง
เครื่องยนต์ที่ทำงานอย่างต่อเนื่องในตอนนี้จะไม่จำเป็นต้องใช้พลังงานจากแบตเตอรีอีก
ในทางตรงกันข้าม พลังงานจากเครื่องยนต์ยังจะทำการชาร์ตไฟเข้าไปในแบตเตอรีอีกต่างหาก การทำงานระหว่างแบตเตอรีและเครื่องยนต์เป็นฉันใด การทำงานระหว่างสารจิงที่เป็นพลังต้นกำเนิดกับกระบวนการทำงานของร่างกาย ก็เป็นฉันนั้น
สารจิงที่ได้มาจากบุพการีจะเป็นสารตั้งต้นที่หากใช้ไปเรื่อย ๆ ก็จะหมดไปในที่สุด แต่หลังจากที่สารตั้งต้นตัวนี้ได้ผลักดันให้ร่างกายทำงานแล้ว ในเวลานั้นพลังงานหลักที่ร่างกายได้รับจากการกินดื่มก็จะทำการหล่อเลี้ยงระบบการทำงานของร่างกายส่วนหนึ่ง ขณะที่อีกส่วนหนึ่งจะทำการเพิ่มเติมให้เป็นสารจิงอีกที ดังนั้นจึงทำให้สารจิงมีความเต็มเปี่ยมอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย
เอวี๋ยนชี่มีต้นรากมาจากไต โดยจะอาศัยพลังซันเจียวในการกระจายไปทั่วร่างกาย พลังเอวี๋ยนชี่ที่ถูกกระจายไปทั่วร่างกายเหล่านี้จะเป็นพลังที่คอยผลักดันการทำงานของอวัยวะภายในต่าง ๆ อีกที ดังนั้น หากเอวี๋ยนชี่มีความเปี่ยมล้น การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ก็จะมีชีวิตชีวา ร่างกายจะมีความแข็งแรงและปลอดโรคภัยไข้เจ็บ แต่หากบุคคลใดมีพลังเอวี๋ยนชี่ที่บกพร่องมาแต่กำเนิด หรืออาจจะเจ็บป่วยเรื้อรังมาเป็นเวลานาน ยามนั้นก็จะทำให้มีอาการพลังเอวี๋ยนชี่พร่องขาดและเกิดอาการเจ็บป่วยสารพัดออกมาได้
จงชี่ (宗氣)
สำหรับระบบการหมุนเวียนโลหิตของร่างกาย โดยหลักแล้วจะเริ่มจากการลำเลียงเลือดดำที่มีคาร์บอนไดออกไซด์จากส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเข้าสู่หัวใจ ในตอนนี้หัวใจจะทำการส่งเลือดดำเหล่านี้ต่อไปที่ปอด ปอดจะทำการฟอกเลือดให้สะอาดแล้วส่งกลับไปที่หัวใจ จากนั้นหัวใจจึงจะทำการส่งกระจายไปทั่วร่างกายอีกที นี่คือกลไกการทำงานของระบบการหมุนเวียนโลหิตที่เราทราบในปัจจุบัน
จากระบบการหมุนเวียนโลหิตดังกล่าวนี้ เราพอจะทราบได้ว่า ปอดเป็นสถานที่อันสำคัญในการทำให้โลหิตเป็นโลหิตที่มีพลังงาน และด้วยระบบการทำงานของปอดนี้นี่เองที่ทำให้เกิดพลังขึ้นมาพลังหนึ่ง ในทางแพทย์จีนเรียกว่าจงชี่ (宗氣)
จงชี่เป็นพลังที่เกิดจากการรวมตัวของโลหิต ลมสะอาดจากภายนอก และสารอาหารที่ได้จากการย่อยสลายจากกระเพาะลำไส้ โดยจงชี่จะอยู่ในส่วนของหน้าอก มีหน้าที่หลักอยู่สองประการคือ หนึ่ง มีหน้าที่ในการผลักดันด้านการควบคุมการหายใจของปอด ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการพูดก็ดี พลังเสียงก็ดี หรือการหายใจก็ดี ทั้งหมดล้วนมีความเกี่ยวข้องกับความอ่อนแรงของจงชี่ทั้งสิ้น สอง หน้าที่ในการผลักดันด้านการดูแลเส้นโลหิตของหัวใจ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นการหมุนเวียนของเลือดลมก็ดี ความอบอุ่นของร่างกายและแขนขาก็ดี หรือพละกำลังในการเคลื่อนไหวก็ดี ทั้งหมดนี้ล้วนมีความเกี่ยวข้องกับจงชี่ทั้งสิ้น
อิ๋งชี่ (營氣)
อิ๋ง (營) หมายถึงสารอาหาร ชี่ (氣) หมายถึงพลัง ดังนั้นอิ๋งชี่จึงหมายถึงพลังแห่งสารอาหาร เป็นพลังที่ได้จากการย่อยอาหารของกระเพาะและการลำเลียงสารอาหารของม้าม อิ๋งชี่จะเดินอยู่ภายในเส้นโลหิต มีหน้าที่หลักคือการสร้างโลหิตของร่างกาย อิ๋งชี่จะเคลื่อนไหวไปพร้อมกับโลหิตและกระจายไปทั่วทุกส่วนของร่างกาย และเนื่องจากอิ๋งชี่และโลหิตมีความเกี่ยวโยงกันอย่างใกล้ชิด ดังนั้นจึงมักเรียกทั้งอิ๋งชี่และโลหิตพร้อมกันว่า “อิ๋งเสวี่ย (營血)”
เว่ยชี่ (衛氣)
เว่ย (衛) มีความหมายว่าปกป้อง ชี่ (氣) หมายถึงพลัง ดังนั้นเว่ยชี่จึงมีความหมายว่าพลังปกป้อง พลังปกป้องคืออะไร พูดง่าย ๆ ก็คือพลังที่ปกคลุมอยู่ตามผิวกายเพื่อทำหน้าที่ในการปกป้องพิษร้ายจากภายนอกไม่ให้แทรกซึมเข้าสู่ร่างกาย พิษร้ายจากภายนอกมีหลายอย่าง เป็นต้นว่า พิษร้อน พิษเย็น พิษลม พิษชื้น พิษแห้ง และอื่น ๆ
หากร่างกายคนเรามีความแข็งแรง พลังที่ปกคุลมอยู่ตามผิวกายก็จะสามารถป้องกันไม่ให้พิษร้ายจากภายนอกแทรกซึมเข้าสู่ภายในได้ อย่างเช่นอาการหวัด หวัดเกิดจากพิษเย็นหรือพิษลมแทรกซึมเข้าสู่ภายใน สำหรับคนหนุ่มสาวที่มีสุขภาพแข็งแรง ร่างกายจะมีพลังปกป้องที่เข้มแข็งในการต่อสู้กับลมและความเย็นที่อยู่ภายนอกได้ แต่สำหรับคนชราที่มีร่างกายอ่อนแอ เพียงออกนอกบ้านโดนน้ำค้างเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็เป็นหวัดเสียแล้ว นี่ก็คือความแตกต่างของพลังปกป้องระหว่างคนหนุ่มสาวกับคนแก่คนเฒ่านั่นเอง
พลังปกป้องหรือเว่ยชี่เป็นพลังที่เกิดจากการย่อยน้ำและอาหารของกระเพาะและการลำเลียงของม้าม เว่ยชี่จะเดินอยู่นอกเส้นโลหิต ซึ่งจุดนี้จะมีความแตกต่างจากอิ๋งชี่ที่จะเดินอยู่ภายในเส้นโลหิต
หน้าที่หลักของเว่ยชี่ก็คือการปกป้องพิษร้ายจากภายนอก รับผิดชอบดูแลการเปิดปิดของรูขุมขน หล่อเลี้ยงเส้นขนที่อยู่ตามรูขุมขน ปรับอุณหภูมิของร่างกาย และให้ความอบอุ่นกับอวัยวะภายใน เป็นต้น เนื่องจากเว่ยชี่มีหน้าที่หลักในการปกป้องอวัยวะภายในจากพิษร้ายที่อยู่ภายนอก ดังนั้นจึงตั้งชื่อพลังชนิดนี้ว่าเว่ยชี่หรือพลังปกป้อง (衛氣) นั่นเอง
จิงชี่ (經氣)
จิงชี่หรือพลังเส้นลมปราณหลัก เป็นพลังที่เกิดจากการรวมตัวของเอวี๋ยนชี่ (元氣) จงชี่ (宗氣) อิ๋งชี่ (營氣) และเว่ยชี่ (衛氣) เข้าไว้ด้วยกัน หรือก็คือ เป็นพลังที่เกิดจากลมสะอาดที่ได้จากปอด ผสมผสานกับพลังจากสารจิงที่ได้จากไต และสารอาหารที่ได้จากกระเพาะและม้ามนั่นเอง พลังจิงชี่หรือพลังเส้นลมปราณเป็นพลังบริสุทธิ์ (正氣) ที่จะเดินอยู่ตามเส้นลมปราณ มีหน้าที่ในการต่อสู่กับพลังร้าย (邪氣) ที่มีหน้าที่ในการทำร้ายร่างกาย พูดง่าย ๆ ก็คือ จิงชี่เป็นพลังธรรมะที่ต่อสู้กับพลังอธรรมนั่นเอง
จิงชี่จึงเป็นพลังที่มีความสำคัญต่อร่างกาย เป็นพลังพื้นฐานของเส้นลมปราณ และมีความสำคัญในการผดุงรักษาความแข็งแรงของเลือดลมและอวัยวะภายในทั้งหมดของร่างกาย
โฆษณา