8 พ.ย. 2019 เวลา 17:35 • ประวัติศาสตร์
A Lot Story : 30 ปี กำแพงเบอร์ลินล่มสลาย
วันนี้ 9 พฤศจิกายน เป็นวันครบรอบ 30 ปี การล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินครับ
นั่นหมายความว่า ถ้าเราไปเยือนกรุงเบอร์ลิน
แล้วเจอชาวเบอร์ลินสักคน ซึ่งเกิดที่เบอร์ลิน ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ที่นี่
และมีอายุมากกว่า 30 ปี
เขาคนนั้นจะต้องเคยใช้ชีวิตอยู่ในฝั่งใดฝั่งหนึ่งของเมืองๆนี้
และแน่นอน
เขาจะต้องผ่านความรู้สึกเจ็บปวดอย่างที่สุด ของ “การพลัดพราก”
มันเจ็บปวดขนาดไหน
ผมอยากให้ผู้อ่านลองสมมติดูนะครับ
ว่าถ้าวันหนึ่ง เราตื่นนอนขึ้นมา
แล้วเมืองที่เราอยู่ ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเทศ
มีกำแพงขนาดใหญ่มากั้นขวาง
แม้แต่รถไฟใต้ดิน ท่อน้ำ ก็ยังถูกแบ่ง
ในเวลาที่ไม่มีทั้งโทรศัพท์มือถือ ไม่มีไลน์ ไม่มีเฟสบุค และโทรศัพท์ก็ถูกตัดขาด
การสื่อสารมีแค่เพียงจดหมาย ที่ไม่รู้ว่าจะส่งถึงรึเปล่า
ญาติ เพื่อนฝูง หรือแม้แต่คนรักของเรา ซึ่งอยู่อีกฝั่งของเมือง
แม้จะห่างไปเพียงไม่ถึง 1 กิโลเมตร
ไม่รู้เมื่อไหร่ ที่เราจะมีโอกาสได้พบเจอกับเขาเหล่านั้นอีก..
แค่นี้มันก็เจ็บปวดรวดร้าวจนไม่รู้จะบรรยายยังไงแล้ว
แต่ความรู้สึกนี้
ยังคงอยู่ในความทรงจำของเบอร์ลินเนอร์วัย 30+ ทุกๆคนครับ
และแน่นอน
มันไม่เคยจางหายไป
..
กำแพงเบอร์ลิน ย่าน East Side Gallery
หลังจากประเทศเยอรมนีประสบความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง
ทั้งประเทศ และเมืองหลวงอย่างกรุงเบอร์ลิน
ก็ถูกยึดครองโดยประเทศผู้ชนะสงคราม
แต่เมื่อประเทศผู้ยึดครอง
ดันมาเกิดความขัดแย้งกันในแนวคิด ทั้งด้านเศรษฐกิจและการปกครอง
ประเทศเยอรมนี และกรุงเบอร์ลิน
ก็เลยต้องถูกแบ่งออกเป็นสองเขตครับ
เบอร์ลินตะวันตก
ตกอยู่ในการยึดครองของประเทศโลกทุนนิยมเสรี
คือ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส
กลายเป็นเมืองในประเทศเยอรมนีตะวันตก
ส่วนเบอร์ลินตะวันออก
อยู่ภายใต้การยึดครองของสหภาพโซเวียต
ซึ่งเป็นฝั่งคอมมิวนิสต์
กลายเป็นเมืองในประเทศเยอรมนีตะวันออก
ในช่วงแรก เมืองยังไม่มีกำแพงมาแบ่งกั้น
ผู้คนนับล้านจากฝั่งตะวันออก
ต่างอพยพโยกย้ายไปอยู่ฝั่งตะวันตกที่ร่ำรวยกว่า
แต่แล้ววันหนึ่งในปี ค.ศ. 1961
เพื่อสกัดกั้นไม่ให้คนจากฝั่งตะวันออกเดินทางออกไปมากกว่านี้
โครงการสร้างกำแพงความยาว 156.4 กิโลเมตรจึงเกิดขึ้น
และล้อมรอบเมืองเบอร์ลินตะวันตกเอาไว้ ให้กลายเป็น “เกาะบนบก”
เบอร์ลินเป็นเมืองที่มีแม่น้ำผ่ากลาง
แต่การสร้างกำแพงจะวกวนไปมา โดยแบ่งตามเขตต่างๆของเมืองเป็นหลัก
บางส่วนกำแพงก็ลากผ่านถนน บางส่วนก็อยู่ริมแม่น้ำ ข้ามแม่น้ำก็มี
กำแพงในช่วงแรกๆสร้างอย่างง่าย
แต่ปรับเปลี่ยนให้แน่นหนาขึ้นเรื่อยๆ
เพื่อสกัดกั้นการอพยพทุกรูปแบบ
จริงๆแล้ว กำแพงเบอร์ลิน ไม่ได้มีแค่กำแพงสูงๆนะครับ
ข้างๆกำแพงจะมีทั้งรั้วส่งสัญญาณ
ทั้งหอสังเกตการณ์
ดูแล้วไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับการหลบหนีข้ามกำแพง
แต่ตลอดระยะเวลา 28 ปีที่กำแพงตั้งอยู่
ก็มีการหลบหนีข้ามกำแพงกว่า 5,075 ครั้ง
ซึ่งส่วนใหญ่ก็ประสบความสำเร็จครับ
แต่ก็มีอยู่หลายครั้งที่ต้องพบกับความล้มเหลว
และหลายครั้งเช่นกันที่จุดจบของความล้มเหลว
หมายถึงจุดจบของชีวิต
..
ตัวอย่างกำแพงเบอร์ลิน ฝั่งขวาคือเบอร์ลินตะวันตก
เนื่องจากเบอร์ลินตะวันตก ต้องกลายเป็นเกาะบนบก
ล้อมรอบไปด้วยประเทศเยอรมนีตะวันออก
ใครที่งงลองดูแผนที่นะครับแล้วจะงงน้อยลง
ส่วนสีขาว คือเบอร์ลินตะวันตก สีแดงคือเบอร์ลินตะวันออก และสีเหลืองคือ ประเทศเยอรมนีตะวันออกครับ
หากผู้คนจากเมืองอื่นๆในเยอรมนีตะวันตก เช่น ฮัมบวร์ก กรุงบอนน์ แฟรงเฟิร์ตอัมไมน์
ต้องการเดินทางมาเบอร์ลินตะวันตก
ซึ่งเป็นประเทศเดียวกัน แต่ถูกกั้นด้วยประเทศอื่น
จะได้รับอนุญาตให้เดินทางผ่านทางหลวงที่กำหนดไว้เท่านั้น
และหากจะจอดรถระหว่างทาง
จะอนุญาตให้จอดได้ ในสถานที่แวะพักที่กำหนดให้เช่นกัน
หากจอดรถที่อื่น หรือจอดกลางทางที่ไม่ได้รับอนุญาต ก็จะถูกตรวจสอบในทันที
อาจถูกปรับเงินหรือถูกกล่าวหาว่าเป็นสายลับและถูกจับกุม
คนเยอรมนีตะวันตก และเบอร์ลินตะวันตก
ต้องมีการขอวีซ่า และตรวจสอบเอกสารตามที่กำหนดไว้
ก่อนจะได้รับอนุญาตให้เดินทางมายังเบอร์ลินตะวันออก
ส่วนคนเบอร์ลินตะวันออก
ไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปเขตเบอร์ลินตะวันตก หรือเยอรมนีตะวันตกครับ
จะอนุญาตให้พบญาติสนิทมิตรสหายได้
ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่วันตามที่รัฐบาลกำหนด
เพียง 1 ครั้งในรอบปี (บางปีก็ไม่ได้รับอนุญาต)
จนในช่วงปี ค.ศ. 1972 (พ.ศ. 2515)
จึงได้รับอนุญาตให้ไปร่วมงานสำคัญ
ของญาติในฝั่งตะวันตกได้ เช่น งานศพ
ความพัดพรากจากเสรีภาพและคนรัก
นำมาสู่การพยายามหลบหนีทุกรูปแบบ
ทั้งหนีผ่านท่อระบายน้ำใต้ดิน ซ่อนอยู่ในวัวปลอม
ซ่อนอยู่ในถังเก็บสายเคเบิ้ล
ไปจนถึงการขุดอุโมงค์ยาวกว่า 32 เมตร
ของกลุ่มคุณปู่คุณย่า 12 คน
หลายคนคือผู้โชคดีที่หลบหนีได้สำเร็จ
แต่ยังมีผู้คนอีกนับร้อยที่ถูกยิง
หรือประสบอุบัติเหตุจนเสียชีวิต
ขณะกำลังหลบหนีข้ามกำแพง
กำแพงเบอร์ลินจึงเป็นเส้นบางๆ
ที่กั้นขวางระหว่าง "อิสรภาพ"
และ "ความตาย"
..
วันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ. 1989 (พ.ศ. 2532)
ประธานาธิบดีกอร์บาชอฟ แห่งสหภาพโซเวียต
ได้เดินทางไปยังกรุงบอนน์ เมืองหลวงของเยอรมนีตะวันตก
เพื่อลงนามในข้อตกลงร่วมมือในด้านการเมืองและสังคม
และยกเลิกอำนาจเหนือประเทศคอมมิวนิสต์ที่อยู่ภายใต้การดูแล
นำมาสู่การเดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตย
ของชาวเยอรมันตะวันออก
จาก 7 หมื่นคนในเมืองรอบนอก
จนถึง 1 ล้านคนในกรุงเบอร์ลินตะวันออก
ในที่สุด วันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1989
กำแพงเบอร์ลินที่ปิดกั้นความหวังของผู้คน
มายาวนานถึง 28 ปี
ก็ถึงกาลอวสาน
วันนั้นเป็นวันที่ชาวเยอรมันทุกคนต่างจดจำกันได้ตลอด
ชาวเบอร์ลินตะวันตก และตะวันออก
แม้ไม่เคยรู้จักกัน
ต่างวิ่งโผเข้ากอดกันด้วยความดีใจ
พวกเขาร่วมกันตะโกนบอกชาวโลกว่า
"Wir sind ein Volk"
"We are one people"
..
ถ้าได้คุยกับเบอร์ลินเนอร์วัย 40+ สักคน (กะให้พอจำความได้)
เกี่ยวกับวันที่กำแพงเบอร์ลินล่มสลาย
พวกเขาจะจำช่วงเวลานั้นได้อย่างแม่นยำครับ
วันที่ทุกคนกอดกัน ลืมความขัดแย้งทุกอย่าง เป็นวันแห่งชัยชนะ
พวกเขาจะเล่าพร้อมกับน้ำตาแห่งความภูมิใจที่ค่อยๆก่อตัวขึ้นในแววตาสีฟ้า
“ไม่มีใครกักขังเสรีภาพไปได้ตลอดกาล”
...
แหล่งที่มาข้อมูล : พิพิธภัณฑ์ DDR กรุงเบอร์ลิน
โฆษณา