9 พ.ย. 2019 เวลา 07:56 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
6 ข้อสรุปที่ต้องรู้ จากกระแส ‘อุตสาหกรรม 4.0’ เพื่อรู้เท่าทันและเพิ่มโอกาสอยู่รอด
ความเคลื่อนไหวของ ‘เศรษฐกิจและสังคมยุคอุตสาหกรรม 4.0 ในศตวรรษที่ 21’ สร้างความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไปจนถึงการดำรงชีวิตประจำวันของมนุษย์เราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ สั่งสมการพัฒนาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมซึ่งผ่านมาแล้ว 3 ครั้ง จนถึงปัจจุบัน…โลกในศตวรรษที่ 21 เปลี่ยนเป็นโลกยุค อุตสาหกรรม 4.0 ไปแล้วกว่าค่อนโลก
โลกดิจิทัลแห่งศตวรรษที่ 21 ได้เชื่อมต่อกับพลังความก้าวหน้ายุคใหม่ในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลแบบ Big Data, Blockchain หรือการจัดการการเงินสมัยใหม่แบบสังคมไร้เงินสด ไปจนถึงการเชื่อมต่อของเทคโนโลยียุคใหม่อย่าง IoT, AI, Robots ที่เชื่อมเข้ากับศักยภาพของไอทีด้วยระบบการสื่อสาร และแรงขับเคลื่อนของวิศวกรรมยุคใหม่ จนได้พัฒนาพลังการผลิตแบบครบมิติให้เกิดขึ้นในระบบอุตสาหกรรมแบบ e-Factory และเปลี่ยนโลกเข้าสู่ยุคสมาร์ททั้งหลาย อาทิ สมาร์ทซิตี้ สมาร์ทโฮม สมาร์ทดีไวซ์
ศักยภาพของการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้
ครอบคลุมตั้งแต่การจัดการข้อมูลระดับโลก
จนถึงการสร้างเศรษฐกิจครัวเรือน
ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญ
ต่อการดำรงชีวิตของคนทั้งมวลทั่วทุกมุมโลก
การสร้างความรู้และการปรับตัว
ตามให้ทันความเปลี่ยนแปลง จึงจำเป็น
ต่อผู้คนและสังคมในศตวรรษที่ 21 อย่างยิ่ง
ผลพวงที่เกิดขึ้นกับทุกภาคส่วน ตั้งแต่ภาคเศรษฐกิจ เกษตรกรรม บริการ และอุตสาหกรรม ล้วนหันเข้า -พึ่งพา – ผสมผสาน เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบดิจิทัล เพื่อปรับแก้ประสิทธิภาพสิ่งเก่า สร้างประสิทธิภาพใหม่ๆ และเพิ่มโอกาสการอยู่รอดในขณะเดียวกัน ซึ่งไม่เพียงแต่กลุ่มเศรษฐกิจและการค้าเท่านั้นที่ต้องพึ่งพาระบบดิจิทัล แต่โครงข่ายความก้าวหน้ายังช่วยเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพให้แก่ทุกกลุ่มได้ อาทิ เศรษฐกิจ สังคม สาธารณสุข และการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของชีวิตมนุษย์
โลกในศตวรรษที่ 21 มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับโลกในยุคที่ผ่านมา ทั้งหมดที่เกิดขึ้นจึงเป็นความท้าทายที่ต้องทำความเข้าใจโลกยุคใหม่ ด้วย ‘ความรู้’ และ ‘ทัศนคติเชิงบวก’
หากประมวลความเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาสร้างความท้าทายให้แก่ผู้คนและสังคมในกระแสอุตสาหกรรม 4.0 สามารถสรุปกว้างๆ ได้ 6 ข้อ ดังนี้
1) ต้องเข้าใจก่อนว่า การเปลี่ยนแปลงของโลกศตวรรษที่ 21 กับคลื่นความเปลี่ยนแปลงของ อุตสาหกรรม 4.0 เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกผัน! แต่ในความพลิกผันนั้น สามารถสร้างสองทิศทางที่มีผลต่อกิจกรรมต่าง ๆ ที่ดำเนินอยู่คือ ‘โอกาสใหม่’ กับการถูก ‘disruption’
2) ต้องเข้าใจพื้นฐานสำคัญของศตวรรษที่ 21 ที่เปลี่ยนไป คือการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ จาก ‘เศรษฐกิจฐานทรัพยากรและแรงงาน’ มาสู่ ‘เศรษฐกิจฐานความรู้นวัตกรรม’ ที่เทคโนโลยีมีบทบาทสูงยิ่ง ทำให้ทรัพยากรและแรงงานลดความสำคัญลง ขณะที่นวัตกรรมความรู้ เทคโนโลยี มีความหมายขึ้นมาอย่างเหลือเชื่อ ซึ่งความเคลื่อนไหวในด้านการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม 4.0 โดยรวมถือเป็น ‘ความหวังและประสบการณ์ที่สำคัญ’ ซึ่งส่งผลให้ชีวิตผู้คนเป็นล้านๆ ดีขึ้นมากมาย และยังช่วยให้ผู้คนก้าวข้ามขีดจำกัดทางกายภาพ ด้วยการประสาน ‘กายภาพ-ชีวภาพ-ดิจิทัล’ เข้าด้วยกัน
3) ต้องสร้างความเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลง โดยอาศัยความร่วมมือของผู้มีส่วนร่วมหรือกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียจากหลากหลายกลุ่ม เพื่อเอาชนะความท้าทายสำคัญ 3 ประการ คือ
ประการแรก การจัดสรรประโยชน์จากการพลิกผันของเทคโนโลยีให้เกิดขึ้นอย่างยุติธรรม
ประการที่สอง การเข้ามามีส่วนช่วยกันควบคุมผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ประการที่สาม คือ ช่วยผลักดันให้เทคโนโลยีเหล่านี้มาช่วยเสริมพลัง เสริมการทำงาน มากกว่าจะมากำหนดชะตากรรมผู้คนในฐานะมนุษย์ที่อยู่ในสังคม
4) ต้องช่วยกันปกป้องไม่ให้เกิดสิทธิพิเศษและการกระจุกตัวของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจากการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีในกระแสอุตสาหกรรม 4.0 เนื่องจากเทคโนโลยีในกระแสอุตสาหกรรม 4.0 มีศักยภาพที่สามารถเชื่อมโยงกันหลายทาง ตั้งแต่การขยายขีดความสามารถทางดิจิทัลไปจนถึงการฝังตัวในร่างกายของเรา ทุกคนจึงต้องช่วยกันปกป้อง สอดส่อง ติดตาม และให้ฝ่ายที่กำกับดูแล ดูแลอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้นำไปสู่การผูกขาดหรือเกิดอภิสิทธิ์ชน
5) ต้องช่วยกันดูแลประโยชน์ของการเปลี่ยนแปลงยุค 4.0 คือ ต้องไม่มองว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเป็นแค่ ‘เครื่องมือ’ ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของเราอย่างสิ้นเชิง ขณะเดียวกันก็ต้องไม่มองว่า มันเป็นพลังภายนอกที่เราไม่อาจทำอะไรได้เช่นกัน และต้องทำความเข้าใจด้วยว่า การฝังคุณค่ามนุษย์ลงไปในเทคโนโลยีใหม่ๆ นั้น เป็นการปรับจูนเพื่อให้เทคโนโลยีสร้างประโยชน์แก่ส่วนรวม สิ่งแวดล้อม และเสริมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้
6) ต้องไม่ลืมว่า ศักยภาพของอุตสาหกรรมยุค 4.0 มีการสร้างหุ่นยนต์มาแทนแรงงานมนุษย์ คล้ายมนุษย์ ขณะเดียวกันก็ทำให้มนุษย์เหมือนหุ่นยนต์ไปด้วย กิจกรรมที่เกิดขึ้นจึงส่งผลต่อภาคการผลิต ภาคบริการ โดยทำให้สินค้าและบริการมีประสิทธิภาพและศักยภาพสูงกว่ายุคที่ผ่านมามากมาย
นี่คือภาพสะท้อนของโลกยุคใหม่และความท้าทายที่จะต้องไปต่อร่วมกันของ ‘คนทั้งโลก’ ซึ่งจะช่วยต่อยอดความก้าวหน้ามาถึง ‘ศตวรรษที่ 21’ อย่างมีความหมายต่ออนาคตและเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง
ที่...salika

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา