11 พ.ย. 2019 เวลา 00:34 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
กะเพรา กะเพราควาย โหระพา แมงลัก
วันนี้มารู้จักพืชที่เรากินเป็นอาหารกันแทบทุกวันดีกว่า ว่ามีที่มาเป็นอย่างไร?
ถึงแม้ว่ากลิ่นและการใช้ประโยชน์ในการทำอาหารของพืชทั้งสี่ชนิดนี้จะแตกต่างกันมากเลยก็ตาม แต่กะเพรา กะเพราควาย โหระพา แมงลักพืชทั้ง 4 ชนิดจัดเป็นพืชที่อยู่ในสกุลเดียวกัน คือ สกุล [Ocimum] ซึ่งลักษณะเด่นของพืชสกุลนี้คือ เป็นไม้พุ่มหรือไม้ล้มลุกที่มีกลิ่นหอมของน้ำมันหอมระเหย พบในเขตร้อนและมีการแพร่กระจายอย่างกว้างขวางในโลก
นักวิทยาศาสตร์พบว่า พืชสกุล Ocimum นี้มีต้นกำเนิดในเอเชีย แล้วแพร่กระจายไปยังทวีปแอฟริกา และอเมริกาผ่านทางทวีปเอเชียในภายหลัง
ถ้าคริสโตเฟอร์ โคลัมบัสไม่ได้ค้นพบทวีปอเมริกา เราก็ยังมีผัดกะเพรากิน แต่ไม่มีพริกให้ใส่นะ เพราะพริกมีต้นกำเนิดในทวีปอเมริกา [สามารถไปอ่านตอนพริกได้ครับ
โหระพา [Ocimum basilicum]
ดอกและใบของโหระพ
ในประเทศไทย โหระพาถูกใช้ประกอบอาหารทั้งแกงและผัด ชื่อภาษาอังกฤษของโหระพาคือ Basil ซึ่งพบกระจายอยู่กว้างขวางในเขตร้อนตั้งแต่ในแอฟริกากลางจนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Basil มีการแยกออกเป็นหลายสายพันธุ์ และมีการผสมเป็นสายพันธุ์ใหม่ๆ อย่างน้อย 60 สายพันธุ์ เช่น Sweet basil [Ocimum basilicum cv. Sweet Basil] หรือ Genovese basil [Ocimum basilicum 'Genovese Gigante'] ที่นำมาทำเป็นซอสของพาสต้า
โหระพาที่เรานำมาทำอาหารกันก็เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ของ Basil ที่มีชื่อว่า [Ocimum basilicum var. thyrsiflorum] ซึ่งมีกลิ่นต่างจากสายพันธุ์อื่นๆ ตรงที่มีกลิ่นคล้ายชะเอมเทศ (licorice) ซึ่งเกิดจากสาร Estragole ที่อยู่ในใบของโหระพา
O. basilicum 'Genovese Gigante' สายพันธุ์ที่นิยมนำมาทำอาหารในต่างประเทศ [ที่มา Goldlocki - https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=3107062]
แมงลัก [Ocimum × africanum]
ใบแมงลัก (ที่มา By Kembangraps - https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=2753348)
แมงลักถูกใช้ประโยชน์ทั้งเมล็ดที่สามารถกินได้ และใบที่ให้กลิ่นคล้ายมะนาว เนื่องจากมีสาร Citral ที่พบในมะนาวอยู่ในใบ ใบแมงลักถูกใส่มาในอาหาร โดยเฉพาะอาหารอีสาน (ภาษาอีสานเรียกใบแมงลักว่าผักอีตู่) ที่ใส่ทั้งในแกง และหมก
จากการศึกษาพบว่า ต้นแมงลักจริงๆ แล้วเป็นพืชที่เป็นลูกผสมระหว่างพืช 2 ชนิด (โดยสัญลักษณ์ x ในชื่อวิทยาศาสตร์ [Ocimum × africanum] แสดงว่าเป็นลูกผสม) โดยเป็นการผสมกันระหว่าง โหระพา หรือ Basil [Ocimum basilicum] และ Lemon basil [Ocimum americanum] ซึ่งต้น [Ocimum americanum] เป็นพืชที่ให้กลิ่นมะนาวเหมือนใบแมงลัก แต่ยังไม่มีข้อมูลว่าพืชลูกผสมนี้มีจุดกำเนิดมาจากไหนกันแน่
ชื่อวิทยาศาสตร์ของ Lemon basil ที่ว่า [Ocimum americanum] ทำให้เราคิดว่าพืชชนิดนี้น่าจะมาจากอเมริกา แต่จริงๆ แล้วพืชชนิดนี้พบได้ในแอฟริกา อินเดีย จีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นพืชที่นิยมนำมาใช้ทำอาหารในประเทศอินโดนีเชีย
กะเพรา [Ocimum tenuiflorum]
กะเพราทั้งกะเพราขาวและกะเพราแดงเป็นพืชชนิดเดียวกันที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า [Ocimum tenuiflorum] ถึงแม้ว่าจะมีกลิ่นรสคล้ายกับ Basil หลายสายพันธุ์ (บางครั้งคนไทยในต่างประเทศเอา Basil บางสายพันธุ์มาทำผัดกะเพราบ้างก็มี เพราะกะเพราในเขตหนาวเป็นของหายาก ปลูกยาก) แต่ว่ากะเพราและโหระพาเป็นพืช 2 ชนิดที่แยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง
เพราะฉะนั้นขอร้องคนขายอาหารตามสั่งนะครับ เวลาไม่มีใบโหระพาใส่ในแกงก็อย่าใส่ใบกะเพราแทนเลย
ในอินเดียกะเพราถือว่าเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์ เรียกว่า Tulsi โดยใช้ทั้งเป็นยามานับพันปี รวมถึงนำมาใช้ในการบูชาเทพเจ้า โดยเฉพาะพระวิษณุ
เมื่อนำตัวอย่างของกะเพราในอินเดียมาศึกษาพบว่า กะเพราน่าจะมีถิ่นกำเนิดจากตอนกลางถึงตอนเหนือของอินเดีย แล้วแพร่กระจายมาทางใต้และทางตะวันออกของอินเดียภายหลัง แต่ในการศึกษาครั้งนั้นยังไม่มีการรวมตัวอย่างจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถ้ามีการรวมเข้าไปอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงก็ได้
กะเพราควาย หรือใบยี่หร่า [Ocimum gratissimum]
กะเพราควายเป็นหนึ่งในพืชที่มีความใกล้ชิดเชิงเครือญาติกันกับกะเพรา โดยพบแพร่กระจายอยู่ในแอฟริกา มาดากาสก้า เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่น่าจะมีแหล่งกำเนิดในเอเชียใต้หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยไม่ค่อยนิยมปลูกมากนักเมื่อเทียบกับกะเพราและโหระพา แต่จะนิยมใช้ทำอาหารในภาคใต้ของไทย และในเขตแอฟริกาตะวันตก รวมไปถึงหมู่เกาะแคริบเบียน ที่กะเพราควายไม่ใช่พืชท้องถิ่น แต่ถูกนำเข้าไปปลูก
กะเพราควาย (ที่มา By Forest & Kim Starr, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=6123697)
เอกสารอ้างอิง
2. Paton, A.J. et al. Phylogeny and evolution of basils and allies (Ocimeae, Labiatae) based on three plastid DNA regions. Mol Phylogenet Evol. 2004 Apr;31(1):277-99.
4. Carović-Stanko, K., Liber, Z., Besendorfer, V. et al. Plant Syst Evol (2010) 285: 13. https://doi.org/10.1007/s00606-009-0251-z
5. Felix Bast, Pooja Rani, and Devendra Meena, “Chloroplast DNA Phylogeography of Holy Basil (Ocimum tenuiflorum) in Indian Subcontinent,” The Scientific World Journal, vol. 2014, Article ID 847482, 6 pages, 2014. https://doi.org/10.1155/2014/847482.
โฆษณา