10 พ.ย. 2019 เวลา 01:15
“น้ำดื่มสปริงเคิล” เมื่อดีไซน์กลายเป็นอาวุธ
ย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ถ้าเราอยากเริ่มทำธุรกิจน้ำดื่มสักยี่ห้อ จุดขายที่หลายๆ คนนึกออก คงหนีไม่พ้นเรื่องคุณภาพน้ำ หรือชื่อแบรนด์
แต่ใครจะไปคิดว่า การใช้ดีไซน์ของขวดน้ำเป็นจุดขาย จะทำให้บริษัทผลิตน้ำเปล่าโนเนม ที่ถูกขายเปลี่ยนมือเจ้าของมาถึง 6 คน กลายมาเป็นแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จได้
ความลับของความสำเร็จนี้ อาจไม่ได้ซับซ้อนมากมายอย่างที่หลายๆ คนคิด
แต่แน่นอนว่า มันก็คงไม่ง่ายเหมือนกับการปอกกล้วยเข้าปากเช่นกัน..
เดิมทีนั้นสปริงเคิลทำตลาดเฉพาะน้ำดื่มถังแบบส่งตามบ้าน โดยใช้ชื่อว่า บริษัท เอ็ม วอเตอร์ จำกัด
เอ็ม วอเตอร์ เป็นบริษัทผลิตน้ำบรรจุถังเจ้าแรก ที่ทำถังน้ำดื่มให้เป็นแบบใสแทนถังแบบขุ่น และวางตัวเป็นแบรนด์ระดับบน แข่งกับแบรนด์ท้องถิ่นมาตลอด
ซึ่งหลังจาก Polaris น้ำดื่มยี่ห้อแรกของไทยปิดกิจการลง ก็ทำให้ลูกค้าเดิมต้องย้ายมาพึ่งพาน้ำถังจากสปริงเคิล ส่งผลให้บริษัทเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ
แต่มีอยู่ช่วงหนึ่ง ที่มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาในตลาดน้ำถัง ทั้งสิงห์ เนสเล่ และช้าง ซึ่งต่างก็เป็นผู้เล่นรายใหญ่ทั้งสิ้น ทำให้สปริงเคิลต้องเริ่มขยับตัว และคิดหาวิธีรับมือกับคู่แข่งในอนาคต
ในเวลานั้น คุณกฤตวิทย์ เลาหธนาพร เจ้าของบริษัท จึงได้ตัดสินใจก้าวเข้าสู่ตลาดน้ำดื่มแบบบรรจุขวด
แต่แน่นอนว่า ถ้าไม่สร้างจุดขาย เดินเข้าไปแบบสุ่มสี่สุ่มห้า ก็อาจเจ็บตัวกลับมาได้
ด้วยเหตุนี้ คุณกฤตวิทย์ จึงเลือกใช้การดีไซน์ขวด มาเป็นจุดขายให้กับแบรนด์ เพื่อเป็นการยกภาพลักษณ์ขึ้นไปอีกขั้น ทำให้ผู้บริโภคจดจำแบรนด์สปริงเคิลในมุมมองที่ต่างออกไปจากน้ำดื่มปกติ
โดยปกติแล้ว ขวดน้ำดื่มที่วางขายกันทั่วไป จะใช้พลาสติกที่มีชื่อว่า polyethylene terephthalate (พอลิเอทิลีน เทเรฟทาเลต) หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า “ขวด PET”
ซึ่งในการออกแบบที่นิยมทำกันนั้น จะพยายามออกแบบให้มีโครงสร้างรับแรงจากการใช้งาน เรียกว่า “กระดูกขวด” มีลักษณะเป็นปล้องๆ วงแหวนหุ้มรอบขวดไว้ ทำให้ตัวขวดแข็งแรงขึ้น และทนแรงกระแทกระหว่างขนส่งได้
แต่ความแข็งแรงก็ต้องแลกมาด้วยการใช้ปริมาณวัสดุที่เพิ่มขึ้น ผู้ที่ออกแบบ จึงต้องหาจุดสมดุลระหว่างกันให้ได้ ทำให้ขวดที่ออกมา มีรูปทรงที่ไม่แตกต่างกันมากนัก
ในบางครั้งที่ผู้ผลิตต้องการประหยัดต้นทุนมากๆ ก็อาจจะเลือกทิ้งความแข็งแรง โดยการใช้วัสดุให้บางที่สุด แล้วอัดแก๊สเข้าไปเพื่อให้ขวดแข็งพอที่จะรับน้ำหนักตอนขนส่งได้
แต่ข้อเสียคือ หลังจากที่เปิดขวด อาจทำให้ขวดน้ำยวบยาบได้ง่าย ส่งผลต่อท่าทางการถือ ดังเช่นขวดน้ำทิพย์ เป็นต้น
ซึ่งความท้าทายของขวดน้ำสปริงเคิล คือความยากในการออกแบบ ที่ต้องออกแบบขวดให้เป็นรูปผลึกน้ำแข็ง สื่อถึงความรู้สึกสดชื่น ความสะอาด และความพรีเมียม
ทีมงานจาก Cerebrum Design จึงต้องทำงานกันอย่างหนัก ต้องหาข้อมูลทั้งวิธีการจับ การบีบ การเปิดขวด และโครงสร้างขวด ที่ต้องคำนวณองศาของผลึกกันใหม่ทั้งหมด เนื่องจากขวดแบบใหม่นั้นไม่มีกระดูกขวดมารองรับน้ำหนักแล้ว
โดยคุณกฤตวิทย์ ต้องใช้เวลาหาโรงงานผลิตขวดถึง 1 ปี เพราะโรงงานแบบเดิมๆ ต่างมองว่าดีไซน์แบบนี้ไม่สามารถทำได้จริง
แต่ในที่สุด ขวดน้ำดื่มสปริงเคิลก็ได้ออกวางจำหน่ายครั้งแรกในปี 2014 ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค ส่งผลให้ยอดขายเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี และทำให้สปริงเคิลอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาโปรโมชั่นมากนัก เพราะดีไซน์ที่ดี จะขายตัวมันเองได้
และในปีนี้ จากการที่สปริงเคิลดึงเอาตัวละครจากหนังเรื่อง Star War เข้ามาเป็นลูกเล่นใหม่ พร้อมทั้งเปลี่ยนสีขวดให้เป็นสีทึบ ทำให้สามารถสร้างกระแสบนโลกออนไลน์ได้ดีในระดับหนึ่งเลยทีเดียว
เรื่องนี้ทำให้เราเห็นแล้วว่า แม้ขวดน้ำดื่มที่หลายๆ คนมองว่าเป็นธุรกิจที่น่าเบื่อ เพียงแค่เราเปลี่ยนวิธีคิด ก็สามารถสร้างความแตกต่างให้กับแบรนด์ได้
ซึ่งถ้าเกิดลองคิดกลับกันว่า
ถ้าในตอนนั้น คุณกฤตวิทย์ เลือกที่จะป้องกันตลาดน้ำถัง ไม่กล้าฉีกแนวออกแบบเดิมๆ ออกไป
ในตอนนี้ เราหลายๆ คน ก็อาจจะไม่มีใครที่เคยได้ยินชื่อ “สปริงเคิล” เลยก็ได้..
รู้หรือไม่
ขวดพลาสติกต่างๆ นั้นทำมาจากน้ำมันดิบ การรีไซเคิลขวดพลาสติก 1 ตัน สามารถช่วยประหยัดน้ำมันได้มากถึง 3.8 บาร์เรล หรือกว่า 159 ลิตร
โฆษณา