10 พ.ย. 2019 เวลา 02:31 • ประวัติศาสตร์
'ฟัวกราส์'
จากเมนูจานหรูสู่กระแสต่อต้านทารุณสัตว์
.
.
หลังเป็นประเด็นถกเถียงมาหลายปี สมาชิกสภานิวยอร์คต่างมีมติสนับสนุนกฎหมายแบนการซื้อขายเมนูยอดนิยม 'ฟัวกราส์' ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในปี 2022 เป็นต้นไป เพื่อให้เกษตรกรมีเวลาปรับตัวก่อนการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ผู้ฝ่าฝืนจะถูกปรับเป็นเงินถึง 2,000 เหรียญสหรัฐฯ
.
สำหรับเมนูจานหรูทำจากตับห่านนี้เคยเป็นที่หมายปองของนักชิมทั่วโลก ในปัจจุบัน กรรมวิธีขุนห่านเพื่อฟัวกราส์ถูกมองเป็นการทารุณกรรมสัตว์ อาหารจะถูกสอดผ่านท่อลงไปในคอของห่านแม้มันจะอิ่มแล้วก็ตาม อาหารที่นิยมใช้ขุนเป็นอาหารจำพวกแป้งอย่างข้าวโพดผสมกับไขมัน การบังคับป้อนอาหารกินเวลาถึง 20 วัน เจ้าห่านอาจมีน้ำหนักมากจนเดินและหายใจได้ไม่สะดวก ก่อนจะจบชีวิตลงในโรงเชือด
.
ต้นกำเนิดของฟัวกราส์ (Foie gras) เริ่มขึ้นในสมัยอียิปต์โบราณ ชาวอียิปต์ขุนห่านให้อ้วนด้วยการจับคอห่านชูขึ้นแล้วยัดอาหารลงคอของมัน จากนั้นนำตับที่พองโตมาเสิร์ฟในจานร้อน
.
เมนูตับห่านแพร่หลายไปถึงชาวกรีกและโรมัน ชาวโรมันนิยมป้อนผลมะเดื่อแห้งให้ห่านหลายวันจนอ้วนพีได้ที่ แล้วป้อนไวน์ผสมน้ำผึ้งให้ตับขยายตัวและมีรสกลมกล่อมตามความเชื่อของสมัยนั้น จากนั้นนำไปขึ้นเขียง
.
ชาวฝรั่งเศสรับช่วงต่อและพัฒนาจนตับห่านกลายเป็นอาหารจานแพงของชนชั้นสูง เหล่าชนชั้นกลางในสมัยหลุยส์ที่ 14 พยายามจะเลียนแบบวิถีชีวิตของขุนนาง จึงทำให้เมนูนี้เป็นที่แพร่หลายกันในปารีส
.
2
ในศตวรรษที่ 19 ชาวอเมริกันได้ไปชิมฟัวกราส์ในฝรั่งเศสและนำกลับมาเผยแพร่ในประเทศตัวเอง จนเกิดธุรกิจฟัวกราส์ขนานใหญ่ในสหรัฐอเมริกา
.
ในรอบหลายปีที่ผ่านมา เกิดเสียงเรียกร้องให้เลิกทารุณกรรมสัตว์มากขึ้นเรื่อยๆ ธุรกิจตับห่านจึงหดตัวลงในบางรัฐ นครชิคาโกในรัฐอิลลินอยส์เป็นผู้ริเริ่มออกกฎหมายแบนการซื้อขายฟัวกราส์ในปี 2006 แต่ยกเลิกไป ต่อมาปี 2008 รัฐแคลิฟอร์เนียเริ่มออกกฎหมายตั้งแต่ปี 2004 แต่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2012 จนถึงทุกวันนี้ ส่วนนิวยอร์คถือเป็นรัฐอันดับ 3 ที่ริเริ่มการแบนฟัวกราส์
.
.
///////////
โฆษณา