12 พ.ย. 2019 เวลา 00:50 • ปรัชญา
เพราะโลกไม่ได้มีมุมเดียว...บทหนังจึงมีหลายมุม
มาทำความรู้จักกับ " มุมมองพระเจ้าในภาพยนตร์ "
ภาพยนตร์คือหนึ่งในศิลปะการเล่าเรื่อง
กว่าจะผลิตหนังออกมาสักเรื่อง...ต้องอาศัยทีมงานหลายส่วนช่วยกัน
แต่ส่วนสำคัญลำดับแรกๆของการทำหนังคือบท
การเขียนบทภาพยนตร์นั้นไม่ง่าย...
ต้องอาศัยทักษะการเล่าเรื่องผูกเรื่องและลำดับเหตุการณ์ที่ดี
หากอยากรู้ว่ายากแค่ไหน...ก็ต้องลองเขียนนิยายให้จบสักเรื่องแล้วจะพบสัจธรรมข้อนี้
การเขียนนิยายและบทภาพยนตร์มีความคล้ายกันในส่วนนี้เพราะต่างก็เป็นการเล่าเรื่อง โดยนิยายเป็นการเล่าเรื่องผ่านตัวอักษรในสำนวนของผู้เขียน ส่วนบทภาพยนตร์เป็นแบบร่างของภาพยนตร์ เป็นการเล่าเรื่องเพื่อนำไปขยายต่อให้เกิดภาพ
ซึ่งกลวิธีการเล่าเรื่องนั้นมีอยู่มากมายหลายวิธีสุดแล้วแต่ผู้เขียนจะออกแบบ
แต่โดยพื้นฐานแล้วเรามีวิธีการเล่าเรื่องผ่านมุมมองต่างๆได้ 3 แบบ
ภาษานักเขียนเรียกมุมมองเหล่านี้ว่า " point of view "
โดย point of view แต่ละแบบมีดังนี้
- มุมมองบุรุษที่หนึ่ง เป็นมุมมองที่เกิดจากตัวละครตัวใดตัวหนึ่งทำหน้าที่ในการเล่าเรื่อง
การรับรู้เรืองราวของบุรุษที่หนึ่งนั้น เราจะเข้าใจตัวละครอื่นๆผ่านการบอกเล่าในสายตาของตัวละครผู้เล่าเป็นหลัก
ตัวอย่างของหนังที่มีการเล่าเรื่องในมุมมองบุรุษที่หนึ่ง คือ "จัน ดารา"
โดยเรื่องราวที่เกิดขึ้นในหนังนั้น เรารับรู้ผ่านการเล่าของจัน ซึ่งเป็นตัวละครหลัก
“จันดารา…นั่นแหละชื่อผม ขอแนะนำตัวเองในฐานะที่เป็นเจ้าของเรื่องพิกลนี้ และเราคงจะได้มักคุ้นกันต่อไปอีกพักใหญ่
ถ้าผมไม่มีอันเป็นไปอย่างใดอย่างหนึ่งเสียก่อน...คือไม่เป็นบ้าก็ตาย...
ชีวิตผมมันมากด้วยมุมหักเหตั้งแต่เกิด พูดก็พูดเถอะ ผมเกิดเมื่อแม่ผมตาย ฟังดูบ้าดีไหมล่ะ”
นี่คือบทเปิดเรื่อง " จันดารา (ปฐมบท) " ฉบับหม่อมน้อย
หลังจากนั้นก็เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตของจัน...ตั้งแต่เกิดจนแก่
(มุมมองของผู้เขียน : ความสนุกของหนังเรื่องจัน ดารา นั้น ต้องยกความดีงามให้กับนวนิยายต้นฉบับที่เขียนโดยคุณอุษณา เพลิงธรรม
มีการใส่ปมอิดิปุสเข้าไปในตัวละคร(จัน) บวกกับการผูกเรื่องที่น่าติดตาม ทำให้เมื่อนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์จึงมีความน่าสนใจว่าผู้กำกับได้ตีความบทประพันธ์ออกมาเป็นแบบไหน แม้ว่าเวอร์ชั่นของหม่อมน้อยจะเน้นอีโรติคไปสักหน่อย แต่โดยส่วนตัวผมก็ชอบไม่แพ้ฉบับคุณอุ๋ย นนทรีย์ นิมิบุตร)
จันดารา
-มุมมองบุรุษที่สอง เป็นมุมมองที่ใครสักคนกำลังเล่าเรื่องในมุมมองของคุณ (อย่า งง .... มันคือมุมมองของคุณ คนที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่นั่นแหล่ะ)
การเล่าเรื่องแบบนี้เน้นให้ผู้ชมรู้สึกมีส่วนร่วมในภาพยนตร์ ซึ่งเป็นการยากอยู่เหมือนกันในการเล่าผ่านมุมมองนี้จึงไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก แต่ก็มีแทรกอยู่ในภาพยนตร์บ้าง เช่น การที่ตัวละครในหนังหันมาพุดคุยกับผู้ชม
( แบบที่ Deadpool ทำ) หรือ ในฉากจบของหนังเรื่อง Wanted(ขออนุญาตสปอยด์นิดหน่อย) ที่พระเอกกำลังจะบอกว่าเขานั้นคือผู้กำหนดชะตาชีวิตของตนเอง...
กล้องซูมหาเขาใกล้เข้าไปเรื่อยๆ ก่อนที่เขาจะหันมาหาผู้ชมแล้วพูดว่า
" พวกคุณล่ะ ... ทำห่าอะไรมั่ง ? " เป็นการจบที่เท่มาก
wanted (2008)
ตัวอย่างด้านบนเป็นเพียงตัวอย่างที่ใกล้เคียง เพราะเท่าที่ผมดูมายังไม่มีหนังเรื่องไหนที่จะยกมาเป็นตัวอย่างของมุมมองแบบนี้ได้อย่างสมบูรณ์
ผมจึงขออธิบายมุมมองนี้เพิ่มเติมในรูปแบบงานเขียน เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้น
ตัวอย่างการบรรยายในมุมมองบุรุษที่สอง
" ลมหนาวยามเช้าของเดือนธันวาคมได้มาถึงแล้ว และตอนนี้คุณกำลังยืนท้าทายแสงแรกอยู่บนยอดเขาที่ขึ้นชื่อว่าสูงที่สุดของประเทศไทย
ดอกไม้ยามเช้าชูช่อล้อเล่นกับแม่คะนิ้งพร้อมด้วยรอยยิ้มแห่งความสุขที่ผลิบานอยู่บนหน้าคุณ
เป็นความสุขอันเกิดจากการสังเคราะห์กันของสองสิ่ง คือ สายลมที่โอบกอดเราผ่านกายสัมผัส กับ แสงแรกของวันที่ร้องขอให้คุณเสพสมกับความงามของมันผ่านดวงตา
ภาพเบื้องหน้าในเช้าวันนี้คงเปรียบได้กับของขวัญล้ำค่าที่ธรรมชาติส่งมากำนัลแก่เรา "
- มุมมองแบบสุดท้ายคือ มุมมองบุรุษที่สาม เปรียบได้กับมุมมองของพระเจ้า ซึ่งแบ่งย่อยออกไปได้อีกสองแบบคือ มุมมองอย่างกว้างและมุมมองอย่างแคบ
มุมมองอย่างกว้างคือ ผู้ชมจะสามารถรับรู้เหตุการณ์ได้ทุกเรื่อง รวมถึงความรู้สึกนึกคิดของตัวละครแต่ละตัว (ราวกับพระเจ้าในโลกภาพยนตร์)
ตัวอย่างของหนังที่มีการเล่าเรื่องในมุมมองแบบนี้คือ เดธโน้ต ( เราสามารถรู้ความคิดของตัวละครหลักๆรวมถึงเรื่องราวที่ถูกปิดบังในเรื่อง)
ส่วนมุมมองอย่างแคบคือ ผู้ชมเป็นผู้สังเกตตัวละคร (ตัวใดตัวหนึ่ง)ซึ่งไม่ได้รู้ไปหมดทุกเรื่อง และการรับรู้นี้ข้ามไปยังตัวละครตัวอื่นในเรื่องได้อีกด้วย
เช่นเรื่อง wonder หรือ 11:14
wonder และ 11:14
บ่อยครั้งที่ผู้ชมอย่างเราได้รับมุมมองพระเจ้า ทำให้เราสามารถเข้าใจความคิดของตัวละครรวมถึงที่มาของเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในเรื่อง
และเราก็มักจะพลาดไปตัดสินตัวละครบางตัวด้วยสายตาที่คับแคบ ...
เพราะเราลืมนึกไปว่าตัวละครนั้นๆเขาไม่ได้รู้เหมือนเรา
เขาถูกจำกัดให้รับรู้แบบปุถุชนธรรมดา รู้เพียงส่วนหนึ่ง
สิ่งเหล่านี้เป็นแรงผลักดันให้เกิดพฤติกรรมต่างๆ ให้เรื่องดำเนินต่อไปและมีจุดหักเหเกิดขึ้น
จงจำเอาไว้ว่า....เมื่อใดก็ตามที่เราตกหลุมพรางของมุมมองพระเจ้าเราอาจเผลอไปตัดสินใคร
บ่อยครั้งคนทำหนังก็หลอกเราด้วยมุมมองนี้
( Wonder คือ ตัวอย่างที่ดีของการหลอกให้เราตัดสินตัวละครไปก่อนที่จะเฉลยภายหลังว่าเราคิดผิด )สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับการดูหนัง
ในชีวิตจริงเราต่างก็มีประสบการณ์ของการตัดสินใครก่อนที่จะรู้จักตัวตนจริงๆของเขา นั่นเพราะเรามีมุมมองแบบบุรุษที่หนึ่ง...
ทางเดียวที่เราจะไม่เผลอไปตัดสินใคร เราต้องเปิดมุมมองของเราให้กว้างขึ้น ขยายขอบเขตมุมมองแบบพระเจ้าให้เกิดขึ้นในชีวิตจริง หมายรวมถึงความเมตตาในแบบที่พระเจ้ามอบให้กับมนุษย์
หากเรามองผู้อื่นด้วยความเมตตา เราคงพยายามเข้าใจเขา
และพยายามมองให้รอบด้านก่อนจะตัดสินใคร
เมือเห็นได้รอบด้าน คิดในมุมเรา มองในมุมเขา มนุษย์คงมีความเข้าใจกันมากขึ้น เพราะโลกนี้มีมากมายหลายมุมเกินกว่าจะมองเพียงด้านเดียว
เช่นเดียวกัน...เมื่อมีใครตัดสินคุณในเรื่องที่คุณไม่ได้เป็นแบบนั้น
อย่าคิดมาก...เขาอาจเพียงแค่ยังไม่รู้จักคุณดีพอ
นี่ล่ะบทภาพยนตร์ในชีวิตจริงที่มีคุณเป็นผู้แสดงนำ
เป็นตัวละครหลัก...เป็นผู้กำกับ และผู้เขียนบทชีวิตตนเอง
สามารถติดตามบทความเของหนังหลายมิติเพิ่มเติมได้ที่ :
Website : www.movie8d.com
ภาพประกอบจาก :
โฆษณา