12 พ.ย. 2019 เวลา 03:45 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
อะไรทำให้มนุษย์เราต่างจากลิง ?
4
หนึ่งในคำถามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดทางวิทยาศาสตร์คือ อะไรทำให้มนุษย์เราเป็นมนุษย์อย่างทุกวันนี้
นี่ไม่ใช่คำถามทางปรัชญา หรือ คำถามแบบหยิ่งผยองที่พยายามยึดโยงความเป็นศูนย์กลางไว้กับเผ่าพันธุ์ของเรา
แต่เป็นคำถามทางวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง
2
ที่ผ่านมาการศึกษาอย่างละเอียดทำให้นักวิทยาศาสตร์พบว่า ดีเอนเอของมนุษย์เรามีความคล้ายคลึงกับลิงชิมแปนซีกว่า 99 % แต่ปัญหาทำไมมนุษย์จึงแตกต่างจากพวกมันมากมายมหาศาล
นักวิทยาศาสตร์พบว่า ยีน (gene) ซึ่งเป็นรหัสที่ควบคุมการสร้างโปรตีนซึ่งส่งผลต่อลักษณะทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต นั้นเป็นเหมือนพื้นฐานที่น่าจะช่วยอธิบายความเป็นมนุษย์ได้ แต่มันซับซ้อนกว่าที่คิด
ยีน FOXP2 นั้นส่งผลต่อพัฒนาการทางภาษาและการออกเสียง ซึ่งมนุษย์และลิงชิมแปนซี ล้วนมียีนดังกล่าว แต่แตกต่างกันเพียงเล็กน้อย แต่กลับส่งผลมากมาย
ทุกวันนี้ นักวิทยาศาสตร์พยายามศึกษาว่ามียีนอื่นๆอีกไหมที่ส่งผลต่อลักษณะสำคัญของมนุษย์เรา ซึ่งหนึ่งในลักษณะทางร่างกายที่มนุษย์แตกต่างจากสัตว์อื่นก็คือ สมอง
สมองของมนุษย์นอกจากมีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับร่างกายแล้ว ยังมีเซลล์ประสาทและการเชื่อมต่อจำนวนมากด้วย
1
ล่าสุด นักวิจัยจากสองสถาบันดังได้แก่ Max Planck Institute แห่งประเทศเยอรมันนี และ ETH Zurich แห่ง ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทำการทดลองเพื่อหาคำตอบว่าอะไรทำให้สมองของมนุษย์เรามีพัฒนาการแตกต่างจากลิงต่างๆ แล้วตีพิมพ์ผลงานวิจัยลงในวารสาร Nature เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
ทีมวิจัยสร้างสมองก้อนเล็กๆที่เรียกว่า Cerebral organoids จากเสต็มเซลล์ เพื่อศึกษาการทำงานของยีน โดยสมองจำลองนั้นมีทั้งสมองมนุษย์ ลิงชิมแปนซี และ ลิงประเภทลิงวอก (macaque)
พวกเขาพบว่าเซลล์ประสาทในสมองมนุษย์เราพัฒนาช้ากว่าลิงทั้งสอง พร้อมกันนั้นยังสามารถระบุการแสดงออกของยีนจำนวนหนึ่งที่ควบคุมการสร้างเซลล์ประสาทในสมองมนุษย์ได้ด้วย
งานวิจัยนี้เป็นการเข้าใกล้พัฒนาการของสมองในเชิงวิวัฒนาการซึ่งเชื่อมโยงกับความเป็นมนุษย์อย่างยิ่ง และในขั้นต่อไป พวกเขาต้องการระบุถึงยีนที่ส่งผลต่อการรับรู้ตัวตนของมนุษย์ ซึ่งทำให้เราเป็นเราอย่างทุกวันนี้
2
ในเวลาไล่เลี่ยกัน ทีมนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยแห่งรัฐนิวยอร์ค เมืองบัฟฟาโล (University at Buffalo) ต่อยอดงานวิจัยจากสมมติฐานที่ว่า สมองมนุษย์มีขนาดใหญ่ขึ้นเพราะการปรุงอาหาร!
สมองมนุษย์ เป็นอวัยวะที่ต้องการสารอาหารและพลังงานไปหล่อเลี้ยงในสัดส่วนที่สูง เมื่อเทียบกับทั้งร่างกาย แต่ร่างกายมนุษย์เราไม่สามารถย่อยเนื้อดิบๆได้ดี ทำให้นำสารอาหารมาใช้ในร่างกายได้น้อย แต่การรู้จักใช้ไฟทำเนื้อให้สุกนั้น นอกจากช่วยลดเชื้อปรสิตในอาหารแล้ว ยังช่วยให้ร่างกายของเราย่อยได้ดีและนำสารอาหารมาใช้งานได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น จนสมองมนุษย์มีขนาดใหญ่ขึ้นด้วย
1
พวกเขาจึงมุ่งไปศึกษาน้ำลายของมนุษย์ กล่าวคือ ลิงมักจะกินอาหารที่มีเส้นใยปริมาณมากจึงเคี้ยวอาหารนานกว่ามนุษย์
กล่าวได้ว่า มนุษย์เรานั้นเคี้ยวอาหารแล้วกลืนเร็วกว่าพวกลิง
น้ำลายจึงช่วยในการย่อยและทำให้เรากลืนอาหารได้ง่ายขึ้น และอาจช่วยให้เราออกเสียงเพื่อสื่อสารได้ดีกว่าปากแห้งๆ
1
ผลการศึกษาพบว่า น้ำลายของมนุษย์มีส่วนของน้ำมากกว่ากอริลลาและชิมแปนซีจริง
ที่น่าสนใจคือโปรตีน secretory immunoglobulin ในน้ำลายของมนุษย์เราและชิมแปนซีมีมากกว่าในน้ำลายลิงอย่างกอริลลา นอกจากนี้ ในน้ำลายของลิงไร้หางทั้งหลายยังมีโปรตีนประเภท parotid secretory protein มากกว่าในมนุษย์ ซึ่งโปรตีนทั้งสองนี้ส่งผลต่อการจัดการกับเชื้อโรค
1
งานวิจัยนี้นำเสมอสมมติฐานว่า เชื้อโรคที่มาทางอาหารอาจเป็นกลไกสำคัญที่ส่งผลต่อวิวัฒนาการของช่องปากและน้ำลาย ซึ่งอาจส่งผลต่ออาหารการกิน รวมทั้งสมองของพวกเราอีกที
มนุษย์เราเป็นเพียงหนึ่งในชนิดพันธุ์ที่อาศัยอยู่ร่วมโลกกับเผ่าพันธุ์อื่นๆมากมาย แต่พวกเราเป็นสายพันธุ์ที่วิวัฒนาการสมองที่มีความซับซ้อนจนตอนนี้พวกเราเริ่มแกะรอยเพื่อทำความเข้าใจรากเหง้าที่แท้จริงของตัวเรา ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่ลึกลับไม่แพ้ห้วงอวกาศอันกว้างใหญ่ทีเดียว
โฆษณา