17 พ.ย. 2019 เวลา 02:27 • การศึกษา
14 ตุลาคม 2516: รัฐบาลทหารใช้กำลังสลายผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย แต่สุดท้ายสิ้นอำนาจ
การชุมนุมครั้งใหญ่ในเดือนตุลาคม 2516 เกิดขึ้นด้วยความไม่พอใจต่อรัฐบาลเผด็จการจากเหตุสะสมต่างๆ หลายประการ อันสืบเนื่องจากการใช้อำนาจโดยมิชอบ โดยเฉพาะการควบคุมตัวกลุ่มบุคคล 13 คน (หรือที่รู้จักกันในชื่อ “13 ขบฏรัฐธรรมนูญ”) ที่บางส่วนออกมาแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม
การจับกุมตัวบุคคลกลุ่มดังกล่าวทำให้เกิดการประท้วงเริ่มต้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วขยายสู่ถนนราชดำเนินซึ่งคาดกันว่ามีผู้เข้าร่วมชุมนุมกว่าครึ่งล้าน โดยในคืนวันที่ 13 รัฐบาลได้ให้สัญญาว่าจะทำตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม และยอมปล่อย 13 ขบถรัฐธรรมนูญ รวมทั้งจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งปี แต่หลังจากเจรจากลุ่มนักศึกษายังคงชุมนุมต่อไปอีกหนึ่งคืน และบางส่วนได้เข้ายึดกรมประชาสัมพันธ์เพื่อใช้ระบบวิทยุกระจายเสียงของรัฐ4
1
วันที่ 14 ตุลาคม ก่อนเวลาเที่ยงไม่นาน รัฐบาลที่เคยรับปากจะทำตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมได้ตัดสินใจใช้กำลังสลายฝูงชนจนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 77 ราย และบาดเจ็บอีกหลายร้อยคน อ้างว่า เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย และอธิปไตยของชาติ หลังผู้ชุมนุมพยายามบุกยึดสถานที่ราชการด้วยอาวุธปืนที่บุก “ปล้น” มาก่อนหน้านั้น
หลังเกิดเหตุรุนแรง จอมพลถนอม กิตติขจร ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และอดีตประธานศาลฎีกา ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระราชดำรัสทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ทรงขอให้ประชาชนชาวไทยร่วมมือกันแก้ไขปัญหาบ้านเมืองเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยโดยเร็ว
หลังการออกอากาศของโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจได้ราวหนึ่งชั่วโมง ทหารได้เปิดฉากยิงขึ้นอีกครั้งหลังนักศึกษาพยายามใช้รถโดยสารเข้าพุ่งชนกองบัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งพยานผู้เห็นเหตุการณ์ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ 1 ราย จากนั้นจึงมีการประกาศกฎอัยการศึก เริ่มต้นในเวลา 22 นาฬิกา แต่ทั้งทหาร และตำรวจก็มิได้ใช้ความพยายามในการสลายการชุมนุมของประชาชนแต่อย่างใด
หนึ่งในเหตุการณ์บนถนนราชดำเนินเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2516
2
นักศึกษาหลายรายกล่าวว่า พวกเขาได้ยินพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ แล้ว แต่ไม่เชื่อว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในรัฐบาล พวกเขาจึงยังคงชุมนุมต่อไป จนกว่าจะแน่ใจว่า จอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร (รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น) จะพ้นจากอำนาจจริงๆ จนกระทั่งวันที่ 15 ตุลาคม จึงได้มีการประกาศว่า “3 ทรราช” (ถนอม, ประภาส และณรงค์ กิตติขจร บุตรชายถนอม) จากรัฐบาลชุดเดิมได้เดินทางออกนอกประเทศไปแล้ว เหตุการณ์จึงคลี่คลายลง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา