23 พ.ย. 2019 เวลา 03:03 • ประวัติศาสตร์
เบอร์ลินคูณสอง: หลัง 30 ปีที่ไม่มีกำแพง
.
.
+ วันที่ 13 สิงหาคม 1961 ถือเป็นวันเริ่มก่อสร้างกำแพงเบอร์ลิน มีการปิดกั้นเส้นทางจราจรที่เชื่อมระหว่างเบอร์ลินตะวันตกและตะวันออกทั้งหมด กำแพงเบอร์ลินมีความยาวทั้งสิ้น 156.4 กิโลเมตร เป็นกำแพงผ่ากลางเมือง 43.7 กิโลเมตร ความสูง 3.6 เมตร กำแพงแต่ละบล็อกมีน้ำหนัก 2.75 ตัน มีหอคอยสังเกตการณ์ 186 จุด
.
+ รายงานการค้นคว้าของสถาบันวิจัยประวัติศาสตร์พอตสดัม ระบุว่า ระหว่างปี 1961-1989 มีผู้เสียชีวิตบริเวณกำแพงเบอร์ลินอย่างน้อย 138 คน ส่วนใหญ่เสียชีวิตในช่วงห้าปีแรกของการสร้างกำแพง
.
+ การรื้อถอนกำแพงเขตในเมือง เพื่อเปิดเป็นเส้นทางสัญจรข้ามฝั่งตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 1989 นั้น การรื้อถอนแล้วเสร็จอย่างเป็นทางการในวันที่ 30 พฤศจิกายน 1990 กำแพงบางส่วนถูกเก็บรักษาไว้ที่บ้านประวัติศาสตร์ (Haus der Geschichte) ในกรุงบอนน์ ซึ่งเปิดให้สาธารณชนเข้าชม
.
+ ทุกวันนี้ ชิ้นส่วนของกำแพงที่ถูกรื้อถอนมีอยู่ตามที่ต่างๆ ของโลก แม้แต่หน่วยงานของซีไอเอก็เก็บไว้ เพื่อไปสร้างกำแพงจำลองขึ้นใหม่ในแลงก์ลีย์ รัฐเวอร์จิเนีย
.
.
1
แม้เวลาจะล่วงเลยมาใกล้หมดปี 2019 แล้วก็ตาม แต่ในกรุงเบอร์ลินยังหลงเหลือร่องรอยการถูกแบ่งเป็นสองฟากของเยอรมนี ที่เคยกำหนดชีวิตของผู้คนทางฝั่งตะวันออกและตะวันตกมาจนกระทั่งกำแพงล่มสลายไปในปี 1989 ไม่เพียงแต่ชิ้นส่วนของกำแพงที่หลงเหลืออยู่เท่านั้น ที่ชวนให้นึกถึงห้วงเวลาของสงครามเย็น แต่ยังมีสถานที่อันเป็นสัญลักษณ์อื่นๆ ที่บอกเล่าเกี่ยวกับการชิงดีชิงเด่นระหว่างตะวันออกและตะวันตก
.
และเมื่อปราศจากกำแพงแบ่งกั้น ก็เท่ากับว่ากรุงเบอร์ลินมีทุกอย่างที่โดดเด่นคูณสอง
.
ไม่ว่าสัญลักษณ์ของเมือง โรงละคร สนามกีฬา สวนสัตว์ หรือแม้กระทั่งสนามบิน เบอร์ลิน เทเกล-ฝั่งตะวันตกในอดีต และเบอร์ลิน เชินเนเฟลด์-ฝั่งตะวันออกในอดีต ทั้งสองสนามบินนำพาคนเดินทางเข้าสู่เมืองปีละประมาณ 35 ล้านคน (ข้อมูลปี 2018)
.
สัญลักษณ์ของเมือง ฟากตะวันออกมีหอคอยทีวีที่ลานจัตุรัสอเล็กซานเดอร์ ซึ่งสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้เมื่อปี 1969 เป็นสัญลักษณ์ที่อ้ำอึ้งก้ำกึ่งระหว่างระบอบสังคมนิยมแบบตะวันออก และระบอบทุนนิยมแบบตะวันตก ความสูงของหอคอย 368 เมตร นับเป็นอาคารสูงที่สุดของเยอรมนี และเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวของเมือง
.
ส่วนหอคอยทีวีในฟากตะวันตกนั้น ความสูงเพียง 147 เมตร ต่ำเตี้ยกว่าชัดเจน และดึงดูดนักท่องเที่ยวน้อยกว่ามาก มันถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ปี 1926 และเริ่มมีการทดลองส่งสัญญาณทีวีครั้งแรกที่นี่เมื่อปี 1929
.
ปี 1945 หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง กรุงเบอร์ลินถูกแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน เบอร์ลินตะวันตกอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส เบอร์ลินตะวันออกเป็นของโซเวียตรัสเซีย ทุกวันนี้ เขตเมืองที่ติดอันดับยอดนิยมของนักท่องเที่ยวในปัจจุบัน ได้แก่ มิตเต, เพรนซ์เลาแอร์ แบร์ก และฟรีดริชส์ไฮน์ ในส่วนของตะวันออก ขณะที่ฝั่งตะวันตกมี ชาร์ลอตเทนบวร์ก, เทียร์การ์เทน และครอยซ์แบร์ก
.
ถนนสายหลักใจกลางเมือง หรือที่เรียกว่า City East และ City West นั้นไม่ได้แตกต่างกันมาก บูเลอวาร์ดสายเก่าแก่ที่สุดของกรุงเบอร์ลินคือ อุนแทร์ เดน ลินเดน เป็นทำเลที่ตั้งของอาคารสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ อย่าง เบอร์ลิน โดม และชทาตส์โอแปร์ (โรงละครแห่งชาติ) บูเลอวาร์ดสายเดียวในฝั่งตะวันออกร่มรื่นด้วยต้นไม้สองฟากทอดยาวไปจนถึงประตูบรันเดนบวร์ก นับตั้งแต่เยอรมนีรวมชาติอีกครั้ง พื้นที่บริเวณนี้ปรับเปลี่ยนไปจนผิดตา อาคารที่อดีตเคยเป็นทำเนียบรัฐบาลของสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมัน และสถานทูตของสหภาพโซเวียตรัสเซีย ทุกวันนี้ถูกดัดแปลงเป็นภัตตาคารและร้านค้า ไว้ล่อเงินในกระเป๋าของนักท่องเที่ยวแทน
.
ถนนคัวร์เฟือร์สเทนดัมม์ หรือ ‘คูดัมม์’ เป็นบูเลอวาร์ดของฟากตะวันตก มันเคยเป็นดีสเพลย์แสดงความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจในยุคสงครามเย็น ที่ยั่วยวนใจพลเมืองเยอรมันตะวันออก ให้หลั่งไหลเข้าไปเยือนจุดแรก ในคืนที่กำแพงเบอร์ลินล่มสลาย หลังจากรวมชาติเยอรมนีแล้วใครๆ พากันลืมถนนสายนี้ แต่ปัจจุบันก็ยังคงเป็นถนนช้อปปิ้งสายหรู มีบูติกเรียงรายตั้งแต่แบรนด์ซาราไปจนถึงชาเนล รวมทั้งคาเฟ่เก๋ๆ และห้างสรรพสินค้าที่กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว
.
กรุงเบอร์มีโรงละครขนาดใหญ่สองแห่ง ที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายของอดีต – ชทาตส์โอแปร์ และดอยต์เช โอแปร์ แห่งแรกตั้งอยู่บนถนนอุนแทร์ เดน ลินเดน ฝั่งตะวันออก เป็นอาคารโอเปราเก่าแก่ สร้างมาตั้งแต่ปี 1742 ในยุคสมัยปรัสเซียของกษัตริย์ฟรีดริชที่ 2 (Frederick the Great) ในขณะที่ดอยต์เช โอแปร์ โรงละครในฝั่งตะวันตก สร้างโดยภาคเอกชนในปี 1912
.
นับแต่ปี 1961 กำแพงเบอร์ลินยังแบ่งศิลปะของเมืองออกเป็นสอง ตั้งแต่ปี 1742 ชทาตส์โอแปร์เคยเป็นศูนย์กลางของศิลปะดนตรีและระบำประจำเมืองหลวงของเยอรมนี หลังจากสร้างกำแพงแล้วเสร็จ ศิลปินจากตะวันตกไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดการแสดงที่นี่ได้อีก แต่ระหว่างที่เบอร์ลินตะวันออกขาดแคลนศิลปินไปส่วนหนึ่ง เบอร์ลินตะวันตกก็ไม่มีโรงโอเปราเป็นของตัวเองหลังจากสิ้นสงคราม กระทั่งถึงปีที่กำแพงเริ่มสร้าง ดอยต์เช โอแปร์สร้างใหม่ในเขตชาร์ลอตเทนบวร์กก็เริ่มเปิดใช้ ในตำแหน่งใกล้เคียงกันกับหลังเก่าที่เคยถูกระเบิดถล่มไปเมื่อปี 1943
.
สวนสัตว์ในกรุงเบอร์ลินก็ยังคงมี 2 แห่ง ที่น่าตื่นตาและกว้างใหญ่สูสีกัน สวนสัตว์เบอร์ลินในเขตฟรีดริชสเฟลเดของฝั่งตะวันออก เริ่มเปิดตั้งแต่ปี 1955 มีพื้นที่ 1,000 ไร่ นับเป็นสวนสัตว์ขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรป ใครที่ต้องการชมสัตว์ให้ครบ 790 ชนิดในสวนกว้างแห่งนี้ จะต้องเดินเท้าอย่างอดทน
.
โซโลกิเชน การ์เทน-สวนสัตว์ในเบอร์ลินตะวันตก แข่งขันด้วยความเก่าแก่ ที่นี่เปิดมาตั้งแต่ปี 1844 และนับเป็นสวนสัตว์ที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังเปิดอยู่ในเยอรมนี แม้จะมีพื้นที่เพียง 206.25 ไร่ แต่ก็มีสัตว์กว่า 1,300 ชนิด และมีผู้เข้าเยี่ยมชมถึงปีละ 3 ล้านคน จนได้ชื่อว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวติดอันดับต้นของกรุงเบอร์ลิน
.
ด้านกีฬา เบอร์ลินก็ยังมีชื่อเสียง อย่างสนามกีฬาโอลิมปิก ซึ่งเป็นสนามที่ใหญ่ที่สุดและมีชื่อเสียงมากที่สุด จุผู้ชมได้เกือบ 75,000 คน ก่อสร้างขึ้นเพื่อรองรับกีฬาโอลิมปิกปี 1936 หลังจากฝ่ายสัมพันธมิตรแบ่งสรรปันเขตแดนกันแล้ว สนามกีฬาโอลิมปิกตกมาอยู่ทางฝั่งตะวันตก
.
ส่วนฝั่งตะวันออกมีสนามฟุตบอลขนาดใหญ่ ใช้เป็นสนามรับรองของทีมฟุตบอลเอฟซี ยูเนียน และสโมสรในอดีตมาตั้งแต่ปี 1920 จุผู้ชมได้เพียง 22,000 คนเท่านั้น
.
แม้ว่าสิ่งน่าสนใจของเบอร์ลินทั้งสองฝั่งจะมีอายุเก่าแก่กว่าตอนแบ่งชาติ แต่ทั้งหมดนั้นก็ถูกบ่มเพาะด้วยสงครามเย็น และนักท่องเที่ยวยังสามารถสัมผัสเห็นถึงความแตกต่างได้.
.
.
เรื่อง:บุญโชค พานิชศิลป์
.
.
ภาพประกอบ:เพ็ญนภา บุปผาเจริญสุข
.
.
อ้างอิง
โฆษณา