18 พ.ย. 2019 เวลา 12:31 • การศึกษา
“จะกู้เงินทั้งที ก็ควรมีความเข้าใจเรื่องจำนองกับขายฝากไว้บ้าง”
การกู้ยืมเงินนั้น ถ้าจะไปขอกู้ยืมกับคนที่ไม่สนิทหรือไม่รู้จักคุ้นเคยกันมาก่อน หากอยู่ดี ๆ ไปขอกู้ก็คงถูกปฏิเสธกลับมาอย่างแน่นอน (ไม่รวมถึงการกู้นอกระบบ)
ดังนั้น หลักประกันจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ให้กู้จะนำมาพิจารณาว่าสมควรจะให้กู้หรือไม่ และวงเงินกู้ควรจะเป็นเท่าไหร่
pixabay
ซึ่งหลักประกันการกู้เงินนั้น หลัก ๆ ก็คงหนีไม่พ้นการค้ำประกันด้วยบุคคล หรือที่เราเรียกว่า "การค้ำประกัน"
ซึ่งคนที่จะค้ำประกันได้นั้น นอกจากจะต้องมีหน้าที่การงานมั่นคงในระดับหนึ่งแล้วยังต้องมีความสนิทสนมกับผู้กู้พอสมควร
ไม่อย่างนั้นคงไม่มีผู้ให้กู้คนไหนยินยอมให้มาค้ำประกัน
ส่วนหลักประกันอีกชนิดหนึ่งที่ผู้ให้กู้นิยมให้ผู้กู้นำมาวางเพื่อประกันการชำระหนี้นั่นก็คือ "ทรัพย์สิน"
ซึ่งทรัพย์สินตามกฎหมายได้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- สังหาริมทรัพย์ เช่น รถยนต์ เครื่องประดับ ทองคำ หรือสิ่งมีค่าต่าง ๆ ซึ่งภาษากฎหมายเรียกว่าการ “จำนำ” และ
- อสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน บ้าน อาคารพาณิชย์ ซึ่งภาษากฎหมายเรียกกันว่าการ “จำนอง” หรือ “ขายฝาก”
3
ซึ่งเรื่องที่ผมจะเขียนถึงในบทความนี้ก็คือ การจำนอง และการขายฝาก เนื่องจากยังมีอีกหลายคนที่ยังไม่เข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างการทำสัญญาทั้ง 2 ประเภทนี้
ดูเผิน ๆ อาจคิดว่าสัญญาทั้ง 2 ประเภทนี้ เป็นการนำอสังหาริมทรัพย์มาเป็นหลักประกันการขอกู้ยืมเงินเหมือนกัน แต่จริง ๆ แล้วมีความแตกต่างกันอยู่พอสมควร
การจำนองนั้น ผู้กู้หรือบุคคลอื่นที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินจะนำทรัพย์นั้น (ขอยกตัวอย่างจากที่ดิน) ไปจดทะเบียนจำนองที่สำนักงานที่ดินโดยกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นยังคงเป็นของผู้จำนองอยู่
โดยเจ้าหน้าที่จะทำการสลักหลังไว้ในโฉนดที่ดินว่าที่ดินดังกล่าวได้นำมาจำนองไว้กับ
ผู้ให้กู้ (ผู้รับจำนอง) แล้ว
ส่วนผู้กู้มีหน้าที่ชำระเงินที่ยืมพร้อมดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ภายในระยะเวลาที่ตกลงกัน
หากผู้กู้คืนเงินพร้อมดอกเบี้ยครบถ้วนภายในกำหนด ผู้กู้และผู้ให้กู้ต้องไปไถ่ถอนจำนอง ณ สำนักงานที่ดินเพื่อให้การจำนองระงับไป
แต่ถ้าผู้กู้ไม่สามารถคืนเงินที่ยืมได้ภายในกำหนด ผู้ให้กู้จะต้องฟ้องศาลเพื่อขอให้พิพากษาสั่งให้บังคับจำนอง โดยการยึดทรัพย์ที่จำนองออกขายทอดตลาด
ส่วนการขายฝากนั้นมีวิธีการและขั้นตอนตามกฎหมายดังนี้ครับ
การขายฝากนั้น จริง ๆ แล้วก็คือการซื้อขายประเภทหนึ่ง ซึ่งกรรมสิทธิ์ตกเป็นของผู้ซื้อฝากแล้วตั้งแต่เวลาที่ทำสัญญาซื้อขายกัน
เพียงแต่เพิ่มเติมเงื่อนไขเข้าไปว่า ผู้ขายฝากมีสิทธิขอไถ่ทรัพย์ที่ขายฝากคืนได้ภายในระยะเวลาที่ตกลงกัน
การไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากนั้น สำหรับอสังหาริมทรัพย์ห้ามไถ่ถอนเมื่อพ้น 10 ปีนับแต่เวลาซื้อขาย ส่วนสังหาริมทรัพย์ห้ามไถ่ถอนเมื่อพ้น 3 ปีนับแต่เวลาซื้อขาย
หากคู่สัญญากำหนดเวลาไถ่ถอนน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดก็สามารถทำได้ แต่ถ้ากำหนดเวลาไว้เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จะต้องลดลงเหลือ 10 ปีหรือ 3 ปีตามประเภทของทรัพย์ที่ขายฝาก
นี่คือหลักเกณฑ์คร่าว ๆ ของการจำนองและการขายฝาก
มาถึงตรงนี้ผู้อ่านอาจสังเกตได้ถึงความแตกต่างที่สำคัญของสัญญาทั้ง 2 ประเภทนี้
ซึ่งก็คือ...
- การจำนองนั้น “กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ยังคงเป็นของผู้จำนอง” จนกว่าจะถูกฟ้องบังคับจำนองเพื่อชำระหนี้และทรัพย์นั้นได้ถูก
ขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้
- ส่วนการขายฝาก “กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินได้ตกเป็นของผู้ซื้อฝากไปแล้วตั้งแต่ทำสัญญา” เพียงแต่มีเงื่อนไขให้ผู้ขายฝากสามารถไถ่ทรัพย์นั้นต่อผู้รับซื้อฝากภายในเวลาที่กำหนดเท่านั้น
หากไม่ใช้สิทธิภายในกำหนดก็ถือว่าผู้ขายฝากหมดสิทธิที่จะไถ่ทรัพย์นั้นคืนอีกต่อไป
ในเรื่องการจำนองและการขายฝากนั้น ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอื่น ๆ ที่ผู้ทำสัญญาจะต้องตัดสินใจนอกเหนือจากวัตถุประสงค์หลักดังที่ได้บอกไป
เช่น วงเงินกู้ ดอกเบี้ย และระยะเวลาไถ่ถอน ซึ่งอาจจะแตกต่างกันตามประเภทของหลักทรัพย์และวงเงินที่กู้ยืม
1
ดังนั้น หากใครมีความจำเป็นต้องกู้ยืมเงินไม่ว่าจากนายทุนหรือธนาคารก็ตาม ผมหวังว่าข้อมูลนี้จะช่วยให้คุณตัดสินใจได้อย่างรอบคอบ เห็นถึงผลดี ผลเสียที่จะเกิดขึ้นและเกิดประโยชน์มากที่สุดครับ
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา