22 พ.ย. 2019 เวลา 10:00 • ประวัติศาสตร์
หลุมศพบอกทาง บนเทือกเขา Everest
ท่านผู้อ่านคงคุ้นเคยกับป้ายบอกทางตามท้องถนนเวลาเราเดินทางไปที่ต่างๆกันเป็นปกติ ซึ่งทุกวันนี้ก็เริ่มมีความสำคัญน้อยลงจากการมาถึงของเทคโนโลยีอย่าง Google Map
แต่ถ้าเป็นยอดเขาแห่งความตายสูง 8,848 เมตรจากน้ำทะเล เข้าถึงยากที่สุดในโลก และมีคนเอาชีวิตไปทิ้งอยู่บนนั้นทุกปีล่ะ เราจะใช้อะไรบอกทาง?
ก็บรรดาศพของนักปีนเขาบนนั้นไงครับ
11:30 น. 29 พฤษภาคม 1953 Edmund Hillary และเชอร์ปา Tenzing Norgay ยืนน้ำตาไหลอยู่ในพื้นที่ราบเล็กๆบนยอดเขาขนาดเท่าโต๊ะสนุ้กเกอร์ ด้วยสภาพที่ต้องบอกว่าปางตายแต่ก็เต็มไปด้วยความภูมิใจ
พวกเขาคือคนกลุ่มแรกที่พิชิต Everest ยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกได้สำเร็จ
ข่าวการปีนท้าความตายนี้แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วตามหน้าหนังสือพิมพ์ต่างๆ ดึงดูดผู้รักความตื่นเต้นจำนวนมากให้เข้ามาพิสูจน์ขีดจำกัดของร่างกายตัวเอง
1,800 คนในยุค 80, 2,600 ในยุค 90, 4,000 คนในช่วงปี 2000, 5,000 คนในปัจจุบัน คือตัวเลขจำนวนนักปีนเขาที่มาเยือน Everest ในแต่ละปี
ไม่ใช่ว่าทุกคนจะประสบความสำเร็จเสมอไป หลายคนต้องล้มเลิกและลงจากเขากลางทาง แต่ก็มีอีกหลายคนที่ดึงดันจะไปต่อและพบกับจุดจบอันน่าเศร้า
หลังจากเดินออกจาก Base Camp ที่อยู่ตรงตีนเขาขึ้นไปสู่ยอด คุณผู้อ่านจะต้องเจอกับความโหดร้ายนานาชนิด สาเหตุการตายส่วนใหญ่แบ่งได้เป็นสองประเภทคือ ปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน
ภายนอกก็จะเป็นพวกแผ่นดินถล่ม หรือการพลัดตกเหวซึ่งเกิดขึ้นบ่อยมากระหว่างทางเดินขึ้นยอดเขา ภายในก็คือโรคต่างๆ เช่น เห็นภาพหลอน สมองตาย น้ำท่วมปอด หิมะกัด หรือหมดแรงเดินจนต้องนั่งพักและแข็งตายไปในที่สุด
Everest สำหรับผมมันคือภูเขาแห่งความจริง ผู้คนจะแสดงสันดานแท้ออกมาที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นการเอาตัวรอด ความเห็นแก่ตัว และการเอารัดเอาเปรียบเพื่อให้ตนบรรลุเป้าหมาย
นั่นทำให้หากมีคนใดป่วยและล้มลงระหว่างทาง ก็ไม่ต้องหวังเลยว่าใครจะใจดีมาช่วยดูแล พยุงพาเดิน หรือแม้กระทั่งแบ่งออกซิเจนของตนให้สูด เพราะลำพังตัวเองยังไม่รอด ทุกคนจึงอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง อะไรช่วยไม่ได้หรือเกินกำลังก็ตัดทิ้งไปให้หมด
สาเหตุนี้เองทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากที่ศพยังคงตกค้างอยู่บนภูเขา เพราะแบกลงมากันไม่ไหว การเอาเฮลิคอปเตอร์ขึ้นไปรับก็เสี่ยงเกินไป
และกลายเป็นแลนด์มาร์ก หรือจุดบอกตำแหน่งของนักปีนเขารุ่นหลังไปในที่สุด...
แลนด์มาร์กแรกเป็นศพของนักปีนเขาสองคน George Mallory และ Andrew Irvine ครับ ในปี 1924 เพื่อนซี้นักปีนเขาเดินทางไป Everest ด้วยความฝันว่าจะเป็นคนแรกที่พิชิตยอดเขานี้ได้เมื่อเมื่อเกือบร้อยปีก่อน ตอนที่เทคโนโลยียังไม่พัฒนามากนัก
เพื่อให้เห็นภาพคร่าวๆ การจะไปถึงยอดได้มีเชคพอยท์ทั้งหมด 7 จุดตามนี้
1. Base Camp (5,300 เมตรจากน้ำทะเล)
2. Advanced Base Camp (6,400 เมตร)
3. Camp 1 (7,000 เมตร)
4. Camp 2 (7,500 เมตร)
5. Camp 3 ( 7,900 เมตร)
6. Camp 4 (8,300 เมตร)
จากนี้ ทางไปถึงยอดจะต้องผ่านซอกหินที่สลับซับซ้อน และเสี่ยงต่อการพลัดตกสามชั้นที่เรียกว่า สเต็ป 1, สเต็ป 2 และ สเต็ป 3
7. ยอดเขา (8,848 เมตร)
วันที่ 6 มิถุนายน 1924 เวลา 08:40 น. Mallory และ Irvine ออกเดินทางจากแคมป์ 3 เพื่อพิชิตยอดเขา โดย Mallory นั้นมีออกซิเจนเหลืออยู่ประมาณ 3/4 ของกระป๋อง
พวกเขาใช้เวลาสองวันฝ่าฝันไปจนผ่านแคมป์สี่ และถูกพบเห็นโดยนักปีนเขา ชื่อ Noel Odell ที่ปีนตามมาเป็นหน่วยสนับสนุน
"ตอนเวลาประมาณ 13:30 ปกติแล้วยอดเขาจะมีเมฆปกคลุมอยู่ตลอดเวลา แต่ตอนนั้นเมฆถูกลมพัดหายไปในช่วงเวลาสั้นๆประมาณ 10 นาที ทำให้ผมมองเห็น Mallory และ Irvine กำลังปีนอยู่ที่ สเต็ป 2 ซึ่งหากจากยอดเขาเพียง 300 เมตร ก่อนที่เมฆจะเคลื่อนเข้ามาอีกครั้ง และทั้งสองก็หายลับตาไป"
ไม่มีใครได้เห็นทั้งคู่อีกรวมถึงไม่มีใครรู้ว่าพวกเขาพิชิตจุดยอดได้หรือไม่ จนกระทั่ง 75 ปีต่อมา ในปี 1999 คณะถ่ายทำสารคดีเพื่อค้นหาศพของทั้งคู่จาก BBC ก็ประสบความสำเร็จ ทางคณะพบศพที่ยังอยู่ในสภาพดีเนื่องจากความเย็นของ Mallory ที่ความสูง 8,157 เมตร
ก่อนจะลงจากเขา คณะสำรวจได้สร้างหลุมศพอย่างง่ายๆให้กับ Mallory โดยการนำหินมาวางเรียงซ้อนกัน ณ จุดที่พบศพ
โดยหลุมศพนี้ ได้ถูกใช้เป็นจุดบอกทางและคำเตือนแก่นักปีนเขารุ่นหลังๆ ให้เริ่มระมัดระวังมากขึ้นในการเข้าสู่โซนหิน สเต็ป 1-2-3
แลนด์มาร์กต่อมา เป็นศพที่มีชื่อเสียงมากบนภูเขา Everest ชื่อว่า Green Boot (ศพรองเท้าเขียว)
ในปี 1996 ชาวอินเดียนาม Tsewang Paljor ออกเดินทางจาก Camp 4 (8,300 เมตร) เพื่อขึ้นสู่ยอดเขาพร้อมคณะอีก 8 คน ด้วยสภาพร่างกายที่สมบูรณ์ ไม่มีอาการเจ็บป่วย และสวมรองเท้าปีนเขาสีเขียว
พวกเขาออกเดินในช่วงเช้าที่อากาศแจ่มใส แต่หลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมงประมาณตอนเที่ยง สภาพอากาศก็แปรปรวนอย่างหนักจนเกิดพายุหิมะ ทางคณะปีนเขาตัดสินใจจะฝ่าพายุไปให้ถึงยอด เพราะหากถอยตอนนี้คงไม่ได้กลับขึ้นมาอีกแล้ว
อย่างไรก็ตาม ร่างกายของ Paljor ในตอนนั้นไม่ค่อยสู้ดีนักและไปต่อไม่ไหว เขาจึงเลือกที่จะพักอยู่ในถ้ำเล็กๆ ตรง สเต็ป 1 คนเดียว โดยไม่มีใครทราบเรื่องนี้
คณะปีนเขากลับลงมาจากยอดถึง Camp 3 ได้อย่างปลอดภัย แต่มารู้ทีหลังว่า Paljor นั้นหายตัวไป จึงตัดสินใจจะกลับขึ้นไปตามหา แต่เชอร์ปาห้ามไว้ เนื่องจากสภาพอากาศไม่ดีเอาเสียเลย
สุดท้าย Paljor จึงจากไปอย่างทรมานด้วยอาการแข็งตายในถ้ำนั้น ศพของเขากลายเป็นจุดบอกระยะทางว่าเหลืออีก 300 เมตรจะถึงยอดเขา
แลนด์มาร์กสุดท้าย Francys Arsentiev หญิงชาวอเมริกันคนแรกที่ปีนขึ้นสู่ยอดเขาได้สำเร็จโดยไม่ได้ใช้ออกซิเจนช่วยหายใจ
Francys และสามีของเธอออกเดินทางจาก Camp 4 เพื่อพิชิตยอดเขา และด้วยความที่ปีนโดยไม่มีออกซิเจนช่วย ทำให้ทั้งสองคนเดินทางได้ช้ามากๆ และกว่าจะไปถึงยอดก็ปาเข้าไปช่วงเย็นเกือบค่ำ
ทั้งสองไม่มีทางเลือก ต้องนอนค้างคืนบนยอดเขาอันหนาวเหน็บและออกซิเจนเบาบาง โดยปกติแล้ว นักปีนเขาจะเลือกเดินทางจาก Camp 4 ในช่วงเช้ามืด เพื่อไปถึงยอด Everest ให้ได้ในตอนเที่ยง และลงจากเขาในช่วงบ่าย เพราะการต้องค้างคืนในความสูงมากกว่า 8,000 เมตร ถือเป็นการทำร้ายร่างกายภายในอย่างรุนแรง
Francys และสามีของเธอพลัดหลงกันในคืนนั้นเอง โดยฝ่ายชายลงจากเขาได้สำเร็จในช่วงเช้าของวันถัดมา แต่เป็น Francys ที่ยังตกค้างอยู่ ทำให้สามีของเธอตัดสินใจกลับขึ้นไปใหม่พร้อมด้วยออกซิเจน และยา
ระหว่างทางขึ้นไป สามีเธอพบกับนักปีนเขาจากอุซเบกิสถาน โดยพวกเขาบอกว่าเจอ Francys อยู่สักแห่งไม่ไกลจาก สเต็ป 2 ในสภาพครึ่งหลับครึ่งตื่นเนื่องจากขาดออกซิเจน ถูกหิมะกัดจนขยับไม่ได้ จึงตัดสินใจให้ออกซิเจนและอุ้มเธอลงมา
ในที่สุด พวกเขาก็หมดแรงและจำเป็นต้องทิ้งเธอไว้เพื่อเอาชีวิตรอด โดย Francys ได้ร้องขอ "โปรดอย่าทิ้งฉันไปเลย พาฉันลงไปด้วย ฉันยังไม่อยากตาย" เมื่อสามีได้ยินดังนั้น จึงรีบรุดขึ้นไปหาเธอทันที
ศพของ Francys ถูกพบในอีกสองวันต่อมา ในที่ๆเธอถูกทิ้งไว้ ด้วยสภาพหน้าตายังสะสวย ทำให้นักปีนเขาต่างเรียกแลนด์มาร์กนี้ว่า
"The Sleeping Beauty"
ทุกวันนี้ยังมีศพอีกเป็นจำนวนมากตกค้างอยู่บนยอดเขา Everest นักปีนเขาต่างพบเจอกันเป็นเรื่องปกติ
นอกจากจะใช้เป็นจุดกันหลงทางแล้ว ศพเหล่านี้ยังเป็นเสมือนเครื่องเตือนใจให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ ความอ้างว้าง และสัญชาติญาณการเอาตัวรอดของมนุษย์
เมื่อเราเข้าไปอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ไม่ว่าจะเป็นการปีนเขา เดินป่า หรือกิจกรรมเสี่ยงอันตราย เราก็ควรตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท และพร้อมรับทุกสถานการณ์ที่จะเข้ามา
เกร็ดเล็ก: มีศพที่ยังตกค้างอยู่มากกว่า 200 ศพบนยอดเขา Everest ส่วนมากจะอยู่ในโซนที่เรียกว่า "Death Zone" หรือช่วงความสูงตั้งแต่ 8,000 เมตร เป็นต้นไป
เกร็ดน้อย: หากท่านผู้อ่านต้องการไปพิชิตหลังคาโลกบ้าง มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ราวๆ 2 ล้านบาทครับ
- Xyclopz
โฆษณา